2.1K
17 มิถุนายน 2558
มาตรการอุ้ม "เอสเอ็มอี" สะดุด "คลัง-3สภาธุรกิจ" ไปคนละทาง




มาตรการ ช่วย "เอสเอ็มอี" ชะงัก สรรพากรชูแผนดึงผู้ประกอบการเข้าระบบ ยื่นเงื่อนไขจะไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเต็มที่ ฟาก 3 สภาเอกชนมุ่งขอลดภาษี คลังห่วงกระทบฐานภาษี-ช่องโหว่เลี่ยงภาษี มึน พ.ค.ภาษีนิติบุคคลวูบหลายหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่พิจารณาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงิน 15,000 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ไปพิจารณาการเข้าสู่ระบบของเอสเอ็มอีอย่างถูกต้องก่อน



สรรพากรถก 3 สภาธุรกิจไม่ลงตัว

นาย สมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีราว 6 มาตรการที่กำลังพิจารณาดำเนินการ อาทิ การปรับลดภาษีให้เอสเอ็มอีที่มีการทำบัญชีเล่มเดียว และเข้ามาอยู่ในระบบ การให้เงินกู้ การค้ำประกัน การสร้างนวัตกรรมใหม่ การออกโปรโมชั่นพิเศษ รวมถึงเงินกู้เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตร

"มาตรการมีอยู่แล้ว แต่ต้องทยอยทำ ด้านมาตรการภาษีนั้น จะพิจารณาลดภาษีให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเล่มเดียว และเข้ามาอยู่ในระบบ"

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่นายสมหมาย ภาษี มีนโยบายที่จะมีมาตรการดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยกรมสรรพากรได้จัดทำโครงการ "ก้าวเดินไปด้วยกัน" ซึ่งจะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างกรมสรรพากรและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น โดยแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของกรมสรรพากรคือ จะไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุน รวมถึงสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จะต้องตกลงว่าจะทำบัญชีเพียงบัญชีเดียว คือไม่มีบัญชีตกแต่ง


ขอลดภาษีอีก-รัฐกลัวกระทบหนัก

ที่ผ่านมา นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมหารือร่วมกันที่กรมสรรพากรเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล รองประธานและเลขาธิการสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย

แหล่ง ข่าวกล่าวว่า การหารือดังกล่าว ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เนื่องจากข้อเสนอภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐลดภาษีให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็ มอีที่ขึ้นทะเบียนกับ 3 สภานี้เป็นหลัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของกรมสรรพากร เพราะที่ผ่านมารัฐก็เพิ่งลดภาษีให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไร 1-3 ล้านบาทต่อปี เสียภาษีแค่ 15% จากเดิมเสีย 20% ไปแล้ว ดังนั้นถ้า จะให้ลดภาษีเพิ่มสำหรับสมาชิกที่ลงทะเบียนกับ 3 สภา ทางกรมสรรพากรกังวลเรื่องจะเป็นการเลือกปฏิบัติ และหากทำเป็นการทั่วไปจะกระทบฐานภาษีนิติบุคคลเพราะ 93% เป็นเอสเอ็มอี

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากฐานภาษีนิติบุคคลที่จะหายไปจำนวนมากแล้ว ยังจะเป็นการเปิดช่องโหว่ให้นิติบุคคลมีการตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อให้เข้าข่ายเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีและมาขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวกันมากขึ้นด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบรายได้ภาษีไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปีที่จะหายไป

"ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีแนวทางว่า จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการอยากให้ลดภาษีมากกว่า จึงตกลงกันไม่ได้"


ภาษีนิติบุคคลหดหลายหมื่นล.

ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปหลายมาตรการแล้ว ทั้งการลดภาษีนิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอีให้เหลือ 15% ไปแล้ว ส่วนที่ผู้ประกอบการจะขอลดอีกถ้าจะทำก็ต้องหารือกันใหม่ แม้หากรัฐบาลเห็นด้วย ก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งก็ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร

"การจะลดภาษีอีก ต้องดูผลกระทบด้วย เพราะภาษีนิติบุคคลเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ลดลงเป็นหมื่นล้านบาท" นายรังสรรค์กล่าว

ส่วน มาตรการด้านการเงินที่ออกไปแล้วบางมาตรการก็ยังทำไม่เต็มที่ อย่างเช่นการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ยังเหลือวงเงินอีกหลายหมื่นล้านบาท

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ดำเนินการโครงการ "ก้าวเดินไปด้วยกัน" โดย เชิญเอกชน 3 สภามาหารือร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป "การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเดือน พ.ค. ยอมรับว่าจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายไปหลายหมื่นล้านบาท แต่ยังต้องรอผลการจัดเก็บในเดือน มิ.ย.ด้วย เนื่องจากมีการขยายเวลาชำระภาษีวันสุดท้ายเป็นวันที่ 2 มิ.ย. รวมถึงกรณียื่นทางอินเทอร์เน็ตจะได้ถึงวันที่ 8 มิ.ย. เลยทำให้ดูแล้วภาษีหายไปเยอะ" นายประสงค์กล่าว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ง ประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐรับภาระดอกเบี้ยให้ 3% กับมาตรการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะที่ 5 ที่ บสย.ขอให้รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการปีแรกอีก 1 หมื่นล้านบาทนั้น เข้าใจว่ามีการเสนอไปรอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว


มท.-สสว.เร่งขึ้นทะเบียน SMEs

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาศักยภาพและการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือใน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ใน 18 กลุ่มจังหวัด จะมีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาและสร้างเครือข่าย SMEs ให้กับกลุ่มจังหวัด 2.โครงการสุดยอด SMEs จังหวัด ซึ่งทาง สสว.จะมีการประกาศรับสมัครผู้ประกอบการ

และคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ตามหลักเกณฑ์ที่ทาง สสว.กำหนด และ 3.โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะมีการดำเนินการขับเคลื่อนในรูปแบบคณะกรรมการส่งเสริม SMEs กลุ่มจังหวัดเพื่อสร้างเครือข่าย SMEs ในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง สามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ และทำให้ภาครัฐสามารถดูแลกลุ่ม SMEs ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียน SMEs และสร้างเครือข่าย SMEs ให้เข้มแข็ง


อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
alls BUBBLE TEA แฟรนไช..
1,122
ยู้ฮู หวานเย็นเปิดสาขา..
1,034
รสเด็ดก๋วยเตี๋ยวกระทุ่..
936
สัมมนาลงทุน แฟรนไชส์คุ..
755
ยินดีต้อนรับ “ครอบครัว..
674
DOCTOR COSMETICS ACADE..
599
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด