2.4K
24 พฤษภาคม 2558
แนะร่าง ก.ม.ฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี หนุนรายเล็ก-กลางแกร่งระยะยาว



กรมบังคับคดีเปิดเวทีระดมกึ๋น "ร่างกฎหมายล้มฯระยะ 2 หนุนเอสเอ็มอีฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ " นักกฎหมาย-ผู้พิพากษาชี้ร่างกีดกันผู้ประกอบการไซซ์เอส-เอ็ม พร้อมเสนอคุ้มครองวงเงินใหม่กรณีลูกหนี้ปฏิบัติไม่ได้ตามแผน  "อธิบดี"ยันเปิดกว้างเพื่อครอบคลุมทุกประเด็น

ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่...)พ.ศ. ...(การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) โดยกรมบังคับคดีร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดจะเสนอร่างดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ประมาณเดือนมิถุนายน 2558 นั้น

ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาฯศาลฎีกา กล่าวในเวทีการรับฟังความคิดเห็น(11 พ.ค. 58)ว่า  ร่างกฎหมายล้มละลาย(ฉบับที่...)พ.ศ. ...(การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)นั้น ยังมีหลายประเด็นที่เป็นข้อสังเกตโดยส่วนตัว เช่น การกำหนดประเภทและจำนวนหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องมีมูลหนี้ขั้นต่ำที่ 5 ล้านบาท(เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอน)

ซึ่งเป็นการจำกัดหรือกีดกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง(ไซซ์เอสและเอ็ม) ดังนั้นเมื่อมีการเสนอร่างขึ้นมาใหม่ถ้าจะให้โอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงไม่จำเป็นกำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำ

อย่างกรณีสหรัฐอเมริกาไม่กำหนดจำนวนหนี้สามารถยื่นฟื้นฟูกิจการได้โดยสมัครใจ  หรือประเด็นลดขั้นตอนการตั้งกรรมการเจ้าหนี้ ประชุมเจ้าหนี้และจัดทำแผนโดยให้ผู้ร้องสามารถเสนอแผนที่ผ่านความเห็นชอบของเจ้าหนี้มาแล้วนั้น

"ในภาพรวมเอสเอ็มอีไทยปัจจุบันไม่น่าจะมีความพร้อมอีกทั้งร่างดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องการลดขั้นตอนหรือลดค่าใช้จ่ายให้เอสเอ็มอีกรณีนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระให้มากเกินไปหรือไม่อีกทั้งผู้ร้องจะต้องไปประชุมกับเจ้าหนี้ที่ไหน หรือประเด็นการพิจารณาลงคะแนนเสียงที่ระบุให้แผนฟื้นฟูต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3ใน 4 หรือสัดส่วน 75%ของหนี้ทั้งหมดนั้น

แม้กระทั่งกฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ตามมติพิเศษโดยส่วนตัวจึงเสนอให้ลดคะแนนเสียงหรือมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ 2 ใน 3 หรือสัดส่วน 66%  ขณะเดียวกันได้เสนอให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าใช้จ่ายหรือค่าทำแผนตามไซซ์หรือจำนวนหนี้ด้วย เพราะในร่าง ยังไม่ช่วยจำกัดเรื่องค่าทำแผนหรือค่าใช้จ่ายโดยในส่วนของผู้บริหารกิจการกำหนดให้ศาลหรือที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณา"

ขณะที่ผู้แทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ให้ความเห็นว่า ร่างดังกล่าวไม่ได้นำหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาใช้ซึ่งเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบถ้าเจ้าหนี้รายใดได้รับชำระหนี้ไปภายใน 1ปี แต่เจ้าหนี้ข้างน้อยต้องรอไปอีก 2-3 ปี ซึ่งระหว่างทางยังไม่แน่นอนว่ากิจการลูกหนี้จะอยู่รอดหรือไม่ โดยเฉพาะเงินทุนที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ในระหว่างฟื้นฟูกิจการหรือ New Money

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินที่ให้เพื่อประโยชน์การฟื้นฟูซึ่งถือเป็นหนี้บุริมสิทธิ แต่ถ้าเป็นหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการนั้น ถ้าประเด็นลูกหนี้ใช้เงินดังกล่าวไปแล้วต่อมากิจการไปไม่รอดศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหากลูกหนี้ยังไม่ชำระคืนหนี้เงินก้อนนี้ยังได้รับความคุ้มครองหรือไม่

"ฝากให้เป็นการบ้านของคณะทำงาน เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอียิ่งต้องการเงินหมุนเวียนหรือเงินใหม่มากกว่ารายใหญ่ด้วยซ้ำ พร้อมกันนี้ยังสะท้อนความเห็นในประเด็นกรณีผู้ร้องต้องยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการและจัดทำแผนโดยการเห็นชอบด้วยแผนของศาลเพื่อความรวดเร็วนั้น แม้จะเป็นเรื่องดีแต่กระบวนการยื่นขอรับชำระหนี้อาจยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การวินิจฉัยของศาลจะตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงอย่างไร 



นอกจากนี้ร่างดังกล่าวไม่ได้เขียนถึงกระบวนการแก้ไขแผนฯหรือใครเป็นผู้แก้ไข เพราะในทางปฏิบัติระหว่างเดินตามแผนอาจจะเกิดปัญหาในประเด็นดังกล่าว รวมถึงในแง่ของการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย"

สอดคล้องกับผู้แทนจากบมจ.ธนาคารเอสเอ็มอีที่เสนอให้เพิ่มเติมรายละเอียดในร่างเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกัน กรณีศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการแล้วแต่ลูกหนี้ปฏิบัติไม่ได้ในส่วนของเจ้าหนี้จะดำเนินทางคดีได้หรือไม่อย่างไร

นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ร่างดังกล่าวเป็นการจัดทำภายใต้ความรอบคอบพร้อมยืนยันในหลักการจัดทำร่างเปิดกว้าง โดยเตรียมนำความเห็นที่หลากหลายประเด็นประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาผลกระทบภาพใหญ่ทั้งระบบเศรษฐกิจ เจ้าหนี้ และลูกหนี้  ที่สำคัญการจัดทำร่างให้น้ำหนักในการดูแลผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลปัจจุบันให้น้ำหนัก 

โดยการจัดทำร่างเบื้องต้นได้นำหลักการยกร่างกฎหมายฟื้นฟูกิจการของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ลูกหนี้ขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้วยขนาดและทุน  แต่ต้องการความรัดกุมรวดเร็วเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้นจึงกำหนดให้ลูกหนี้อยู่ในภาวะที่ไม่อยู่ในสถานะชำระหนี้ หรือกิจการไม่สามารถชำระหนี้สินที่ค้างจ่ายได้โดยอยู่ในวิสัยยังพอประกอบกิจการได้ซึ่งเป็นเกณฑ์การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู 

ส่วนการกำหนดเฉพาะหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันจำนวนรวมกันจำนวนแน่นอน ตั้งแต่ 5 ล้านบาท เว้นแต่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท  เพื่อสอดคล้องกระบวนการฟื้นฟูปัจจุบันโดยอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจากงบการเงินปี 2556 พบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก(ไซซ์เอส) จำนวน 59% มีหนี้สินอยู่ในช่วง  0-1 ล้านบาท  รองลงมา จำนวน 17.7 % มีหนี้สินอยู่ในช่วง   1-5 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง(ไซซ์เอ็ม)จำนวน 10.1% มีหนี้สินอยู่ในช่วง 30-50 ล้านบาท, จำนวน 30.2% มีหนี้สิน  50-100 ล้านบาท ,จำนวน 18.1% มีหนี้สิน 100-150ล้านบาท และจำนวน 11.1% มีหนี้สินมากกว่า 300 ล้านบาท  และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (ไซซ์แอล) จำนวน  63.3% มีหนี้สินมากกว่า 300 ล้านบาท

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
635
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
552
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
514
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด