2.6K
19 พฤษภาคม 2558
CRG ทาบซื้อแบรนด์อาหารจีน-ฝรั่งรับเออีซี




"ซีอาร์จี" วางงบฯ 5 ปี 7 พันล้าน สปีดสาขาครบพัน-เดินหน้าซื้อกิจการแทนขอสิทธิ์แฟรนไชส์ รับสนใจอาหารจีน-ตะวันตก ก่อนให้น้ำหนักออนไลน์มาร์เก็ตติ้งเพิ่มเป็น 30% พร้อมระบุชื่อแบรนด์ภาษาไทยในโลโก้ ตอกย้ำการรับรู้ ด้านโอโตยะเล็งเพิ่มเมนูขยายฐาน ผุดสาขาอาเซียนรับเศรษฐกิจโต คาดภาพรวมสิ้นปีเติบโต 8-9%


นายฐากฤต สนิทประชากร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์เคเอฟซี โอโตยะ มิสเตอร์ โดนัท อานตี้ แอนส์ เปปเปอร์ลันช์ ชาบูตง ฯลฯ

กล่าวว่า แผนการขยายธุรกิจของซีอาร์จี ในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ (2558-2563) ได้เตรียมเม็ดเงินสำหรับลงทุนไว้ประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขา 4 พันล้านบาท รีโนเวตสาขา 2 พันล้านบาท และการซื้อกิจการ หรือร่วมทุนอีก 1 พันล้านบาท โดยภายในปี 2563 มองว่าจะสามารถขยายได้ครบ 1,000 สาขา จากปัจจุบัน 781 สาขา รวมทั้งสิ้น 12 แบรนด์

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับนโยบายการหาแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมทัพ จากเดิมใช้วิธีการซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์มาบริหาร มาเป็นการซื้อแบรนด์ ควบรวมกิจการ หรือร่วมทุน เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหาร และรองรับการขยายตัวในตลาดต่างประเทศที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยแคทิกอรี่ที่สนใจ มีทั้งร้านอาหารตะวันตก หรือร้านอาหารจีน

"ขณะนี้มีการพูดคุยกับหลายเจ้า ซึ่งแต่ละดีลมันไม่สามารถบอกระยะเวลาที่จะเสร็จสมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม เซ็กเมนต์ที่เรามองจะเป็นแคชวล ไดนิ่ง มากกว่า เพราะมีความหลากหลาย มีราคาที่เข้าถึงง่าย ทำให้มีศักยภาพในการทำตลาดสูง"

ในด้านของแบรนด์ที่มีอยู่ ปีนี้จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งผ่านการสื่อสารแบบ 360 องศา และได้โฟกัสมายังการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น โดยใช้สัดส่วน 30% จากงบฯการตลาดทั้งหมด สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ใช้ 15-20% เพราะเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารได้อย่างตรงกลุ่ม และสอดคล้องไปกับเทรนด์การบริโภคข้อมูลข่าวสารของคนยุคใหม่

"ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้เจรจากับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อขอเพิ่มชื่อแบรนด์ภาษาไทยเข้าไปในโลโก้ร้าน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการสื่อสารกับผู้บริโภค และสร้างแบรนด์อะแวร์เนสให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแบรนด์ส่วนใหญ่เมื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ผู้บริโภคเกิดความไม่แน่ใจในการออกเสียง โดยเริ่มจากแบรนด์โอโตยะ และขยายไปยังแบรนด์อื่น ๆ ในเครือด้วยเช่นกัน"

ด้านนายวิชัย เจริญธรรมานนท์ ประธาน บริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่น "โอโตยะ" ระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานไปสู่กลุ่มคนวัยทำงานมากขึ้น ด้วยการส่งเมนูที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ รับกับเทรนด์ของการดูแลตัวเองของผู้บริโภค

รวมทั้งมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก 4-5 สาขา ในห้างสรรพสินค้าของกรุงเทพฯ คาดว่าสิ้นปีจะมีครบ 50 สาขา จากปัจจุบัน 46 สาขา พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายไว้ 16% จากปีที่ผ่านมา

และมีนโยบายจะเริ่มบุกอาเซียนอย่างเต็มตัว ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแม่ได้เข้าไปเปิดสาขาในมาเลเซีย และสิงคโปร์แล้ว ส่วนประเทศอื่นนั้นจะเป็นการเข้าไปจากไทย ซึ่งทั้งเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจและประชากร ซึ่งภาพลักษณ์ด้านสุขภาพ และประโยชน์ของอาหารญี่ปุ่น จะเป็นอาวุธหลักของบริษัทในการทำตลาดอาเซียน

ส่วนภาพรวมของบริษัทในปีนี้ ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 8-9% โดยยอดขายที่มาจากร้านเดิมมองว่าจะเติบโต 2-3% และมีการขยายสาขาของแบรนด์ต่าง ๆ อีกประมาณ 30 สาขา หรือ 4%

ในขณะที่ปี 2557 กลุ่มธุรกิจอาหารมีรายได้ 9,967 ล้านบาท เติบโต 8.5% คิดเป็นรายได้จากแบรนด์เคเอฟซี และโอโตยะ ขณะที่มิสเตอร์ โดนัท และอานตี้ แอนส์ ใน 5 เดือนแรกได้รับผลกระทบจากการเมืองและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,250
PLAY Q by CST bright u..
1,334
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
951
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
797
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด