2.1K
1 กุมภาพันธ์ 2558
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเอสเอ็มอีแย่ เหตุขาดแคลนแหล่งทุน-กำลังซื้อชะลอตัว


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ชี้ความเชื่อมั่น SME ยังอ่อนแอ เหตุกำลังซื้อของผู้บริโภคแผ่ว ขาดแคลนเงินทุนและแรงงาน ผู้ประกอบการเหนือ-ใต้หนักสุด หวัง 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ช่วยธุรกิจกระเตื้อง

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/2557 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME กว่า 1,100 กิจการ ครอบคลุม 72 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการล่าสุดไตรมาส 4 อยู่ที่ 37.1 ปรับลงเล็กน้อยจากระดับ 38.0 จากไตรมาสก่อนหน้านี้

โดยผู้ประกอบการมองรายได้ของธุรกิจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับปัจจัยกังวลที่กว่า 55% ของผู้ประกอบการเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในพื้นที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

“4 ปัจจัยบวก ได้แก่ การค้าชายแดน การเดินทางและท่องเที่ยวช่วงเทศกาล การจัดตั้งโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม ราคาน้ำมันในประเทศที่ลดลง ส่วน 4 ปัจจัยลบ ที่มีผลกระทบต่อ SME ในวงกว้าง ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตร กำลังซื้อของผู้บริโภค การส่งออกที่ไม่ฟื้นตัวและการขาดแคลนและต้นทุนแรงงานสูงขึ้น จึงทำให้ภาพรวมความเชื่อมั่นของ SME ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50” นายเบญจรงค์ กล่าว

เมื่อสำรวจมุมมองของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 60.2 ซึ่งถือว่าทรงตัวจากระดับ 59.6 จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า แม้ความเชื่อมั่นในอนาคตดังกล่าวจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากไตรมาสก่อนแต่อย่างใด แสดงถึงปัจจัยและการคาดการณ์ทางธุรกิจที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา หรือจากกันยายน 2557 ถึงมีนาคม 2558



เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่าผู้ประกอบการในภาคใต้และภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวมากที่สุด เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและมีปัญหาเฉพาะด้านการผลิตในบางอุตสาหกรรม โดยภาคใต้ยังได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง และผลกระทบของโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งขณะที่ภาวะธุรกิจภาคเหนือได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาข้าวนาปีที่ลดลงโดยเฉลี่ย 19% จากปีก่อนหน้า รวมทั้งหลายพื้นต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ตามปกติ

ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวนาปีที่ลดลงเช่นเดียวกับภาคเหนือ แต่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนในช่วงเทศกาลเป็นปัจจัย หนุนให้ผู้ประกอบการมีมุมมองใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกให้น้ำหนักประเด็นการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็นปัญหาต่อการประกอบธุรกิจ

ภาคกลาง เราพบว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในบางจังหวัดที่มีแรงสนับสนุนเฉพาะ เช่น จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล หรือการลงทุนในอุตสาหกรรม แต่ในภาพรวมแล้ว ยังเห็นความท้าทายในแนวโน้มธุรกิจ SME ต่อเนื่องในปี 2558 นี้ จากกำลังซื้อของประชาชนและเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจยังมีอยู่อย่างจำกัดซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการ


 
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SME ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีมุมมองเชิงบวกด้านต้นทุนจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เริ่มทยอยลดลงช่วงปลายปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงสูงที่สุดของประเทศ โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลคิดเป็น 40% และ 37% ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ แต่ผลจากการลดลงของราคาพลังงานยังไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นมุมมองเชิงบวกในภาคอื่นๆ ในไตรมาสที่ 4 มากนัก

“ปัจจัยบวกส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ส่งผลในระยะสั้นหรือเฉพาะพื้นที่ขณะที่ปัจจัยลบเป็นผลกระทบระยะยาวและกระทบในวงกว้าง จึงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ส่วนราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่เราติดตามดูผลกระทบในระยะต่อไป” นายเบญจรงค์กล่าว

อ้างอิงจาก แนวหน้า
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
992
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
672
“เติมพลังความรู้” กับ ..
599
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
573
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
561
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
523
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด