2.7K
9 ธันวาคม 2557
ซีอาร์จี เดินเกมร่วมทุน-ซื้อกิจการ หวังโตทางลัดบุกอาเซียน/ปิดสาขา"เบียร์ดปาปาส์"



"ซีอาร์จี" ปรับกลยุทธ์ขยายแบรนด์ใหม่ มุ่งซื้อ-ร่วมทุนขยายธุรกิจในไทยและต่างประเทศหวังโตก้าวกระโดด ตั้งเป้าเบอร์หนึ่งอาเซียน พร้อมปิดสาขา "เบียร์ด ปาปาส์" เหตุโมเดลร้าน-ราคาไม่รับพฤติกรรมตลาด ส่ง 2 แบรนด์ซินเนอร์ยี่สะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล เจรจาพันธมิตรใหม่สายการบินโลว์คอสต์เพิ่มยอดแคทอริ่ง

หลังจากขยายธุรกิจในประเทศจนมีร้านอาหารในมือกว่า 12 แบรนด์ วันนี้ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญเพื่อรองรับการเติบโตทั้งในและนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายหนึ่งคือการก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดร้านอาหารในอาเซียน อีกความท้าทายใหม่ที่จะเริ่มออกตัวสตาร์ตในปีหน้า

ซื้อ-ร่วมทุนเร่งโต

นายสุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางการขยายธุรกิจของซีอาร์จีต่อจากนี้ จะเพิ่มร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ ในเครือด้วยการซื้อกิจการและร่วมทุน ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์หลักทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน จากแผนเดิมที่วางเป้าหมายเพิ่มแบรนด์ใหม่ 1 แบรนด์ต่อปี และส่วนใหญ่เป็นการซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์เข้ามาบริหาร

"การเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุนจะทำให้บริษัทขยายธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ จะปรับทิศทางสู่การเป็นผู้นำเทรนด์อาหารกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งมีโอกาสอาจเป็นอาหารสไตล์ยุโรปหรือเอเชียที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นที่เรามีอยู่แล้ว 6 แบรนด์ โดยจะได้เห็นแบรนด์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 แบรนด์ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ อย่างเร็วที่สุด 1 แบรนด์ในปีหน้าที่อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย"


จัดทัพร้านในเครือ-เน้นคุ้มค่า

นายสุชีพกล่าวต่อว่า ซีอาร์จีได้จัดแบรนด์ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม ได้แก่ แบรนด์หลักหรือแบรนด์เรือธงของกลุ่มอย่าง เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ และโอโตยะ จะเน้นการรักษาความเป็นเจ้าตลาดด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ แบรนด์ใหม่ที่กำลังจะเติบโตอย่างเทนยะ คัทสึยะ ฯลฯ

จะเน้นรุกขยายสาขาก่อนการทำตลาดสื่อสารกับผู้บริโภค และแบรนด์ที่ค่อนข้างเจาะตลาดพรีเมี่ยมอย่างชาบูตง โคลสโตน จะให้ความสำคัญกับทำเลของสาขาที่รับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยได้เริ่มใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่กลางปีที่แล้วและจะเป็นทิศทางการทำตลาดต่อจากนี้ไป

"ในภาพรวมจะเน้นการนำเสนอความคุ้มค่าที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ร้านอาหารส่วนใหญ่ในเครือจะมีลักษณะแคชวลไดนิ่ง นำเสนอความคุ้มค่าซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคจากร้านอาหารบริการด่วนหันมาใช้บริการ ขณะเดียวกันอยากเพิ่มสัดส่วนรายได้ของร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือที่มีอยู่เดิมให้เพิ่มขึ้นเป็น 20-30% ด้วยการเร่งขยายสาขาแบรนด์ที่มีศักยภาพอย่างโยชิโนยะ คัตสึยะ เทนยะ

แต่แบรนด์หลัก ๆ ในการขยายสาขาจะยังคงเป็นมิสเตอร์โดนัทและอานตี้ แอนส์ ที่ขยายได้ไวกว่าแบรนด์อื่น ๆ เพราะใช้พื้นที่น้อย 30-40 ตารางเมตร โดยจะขยายประมาณ 20-30 สาขา จากสาขาเปิดใหม่ทั้งหมด 80-100 สาขาต่อปี"



เพิ่มน้ำหนักเรดี้มีล-แคทอริ่ง

สำหรับเรดี้มีลที่เริ่มนำแบรนด์เดอะ เทอเรส เข้าไปจำหน่ายในแฟมิลี่มาร์ท เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้ ด้วยการเพิ่มอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ โยชิโนยะและคัทสึยะในปีหน้า และจะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย นอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่างในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล ยังเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างการรับรู้แบรนด์ของซีอาร์จีเอง

ซึ่งเป้าหมายระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากเรดี้มีล 5% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท และมีแผนเพิ่มรายได้ในธุรกิจแคทอริ่งบนสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรเพิ่มเติม จากเดิมที่จับมือกับนกแอร์เสิร์ฟอานตี้ แอนส์ในบางเส้นทางการบิน

ปีหน้าลุยต่างประเทศ

นายสุชีพกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ปีหน้าจะเป็นปีที่บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะได้เห็นสาขาแรกปลายปีหน้าในประเทศอาเซียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาใน 3 ประเทศ ตามเป้าหมายเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำตลาดร้านอาหารในอาเซียนในอีก 6 ปีข้างหน้า ด้วยการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างเพื่อนำเสนอแบรนด์อาหารที่เหมาะสมและการหาโลคอลพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพ



"ร้านอาหารในอาเซียนแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก เพราะการแข่งขันจะเน้นที่รสชาติของอาหารมากกว่าการใช้สงครามราคา"

นอกเหนือจากโอกาสของแบรนด์ใหม่ แบรนด์ที่มีอยู่เดิมทั้ง มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ โอโตยะ โยชิโนยะ ริว ชาบู ชาบู และเดอะเทอเรส ล้วนมีศักยภาพในการขยายตลาดต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ร้านอาหารไทย เดอะเทอเรส ที่เป็นแบรนด์ของบริษัทเอง อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อเปิดสาขาที่ญี่ปุ่น ซึ่งสนใจให้สิทธิ์แฟรนไชส์มากกว่าไปร่วมลงทุน

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เป..
5,023
ชีสซี่ฟราย สแน็ค เปิดต..
4,042
เริ่มแล้ว! งานแฟรนไชส์..
2,896
แรงจริง! #แฟรนไชส์ ก๋ว..
1,624
พบบูธ “ก๋วยเตี๋ยวเรือป..
986
ธงไชยผัดไทย ร่วมกับ 7-..
983
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด