2.0K
18 กุมภาพันธ์ 2557
ม.หอการค้า อ้อนแบงก์ช่วยเยียวยา เอสเอ็มอีรายย่อยถังแตก


 
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ สำรวจพบผู้ประกอบการรายเล็กกำลังขาดสภาพคล่องกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากพิษการเมือง-เศรษฐกิจซบเซา ขณะที่อุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ โอดยอดขายในประเทศวูบกว่า 10%
 
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ไทยประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งยังทำให้ขายสินค้าได้ลำบาก
 
พร้อมยอมรับว่าขณะนี้สถาบันการเงินมักให้ความสำคัญในการให้สินเชื่อกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างมาก แต่ก็เป็นกลุ่มลูกค้ารายเดิม หรือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีสินทรัพย์ในการค้ำประกันที่เพียงพอเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะรายเล็กที่เข้าถึงสถาบันการเงินได้ยาก จึงต้องการขอร้องให้สถาบันเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหามาตรการช่วยเหลือรายเล็กด้วย
 
“ศักยภาพความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากในตอนนี้ยังอยู่ในระดับไม่สูง เพราะประสบปัญหาต้นทุนที่สูงจากวัตถุดิบและค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงประสบปัญหาการบริโภคที่ชะลอตัว จนขายสินค้าได้ลำบากและไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนได้ อีกทั้งตอนนี้ลูกค้าหลายรายเริ่มจ่ายหนี้ล่าช้า โดยเฉพาะลูกค้าของโรงงานภาคการผลิต ในการให้สินเชื่อสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็มักให้แก่ลูกค้ากลุ่มเดิม จึงอยากขอให้หามาตการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีด้วย” นายวชิร กล่าว
 
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า  หอการค้าไทยมีแผนในการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีไทยใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันมากขึ้น หลังจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีประมาณ 2.8 ล้านราย เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เพราะหากไม่ปรับแผนดำเนินการก็จะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีได้ โดยเฉพาะในปี 58 ก็จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) และในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีแนวทางที่จะปรับแผนในการช่วยเหลือตนเองมากขึ้นโดยเฉพาะการเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างศักยภาพให้แข็งแกร่งด้วยตนเอง
 
 
 
แหล่งข่าวจากหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีไทยในภาพรวมส่วนใหญ่พบว่าการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก  ทำให้ต้องแข่งขันด้านราคาเป็นไปได้ลำบาก เพราะไม่สามารถตั้งราคาเองได้ ขณะเดียวกันยังพบว่าเอสเอ็มอียังมีปัญหาต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น แต่ยอดขายและกำไรลดลง ทำให้เอสเอ็มอีมีปัญหาสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง จึงเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขด้วยการรวมตัวกันสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยลดต้นทุน พร้อมกับเดินหน้าเปลี่ยนแปลงกระบวนการปฏิบัติงาน และเดินหน้าสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการด้วย
 
นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดชายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศลดลงมากกว่า 10% ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้า โคมไฟฟ้าส่องถนน และสายไฟฟ้า เนื่องจากการปิดหน่วยงานภาครัฐ ทำให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐชะลอตัวลงไปด้วย
 
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ยังไม่ปรับแผนการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องรอดูสถานการณ์ไปอีก 1-2 เดือน จึงจะประเมินว่าจะต้องปรับแผนการผลิตหรือไม่ แต่ในส่วนของภาพรวมแล้วคาดว่าในปีนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯจะขยายตัวประมาณ 3-4% และภายในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการประชุมหารือว่าจะปรับเป้าหมายในปี 2557 หรือไม่ แต่ในความเห็นส่วนตัวคาดว่าอาจจะต้องปรับอัตราการเติบโตลงเล็กน้อย ตามสถานการณ์ตลาดภายในประเทศที่ลดลง
 
"ต้องยอมรับว่าความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ยอดขายในประเทศลดลงบ้าง โดยที่ผ่านมาลดลงไปไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งหากสถานการณ์จบเร็วในช่วงเวลาที่เหลือก็สามารถเพิ่มยอดขายในประเทศขึ้นมาได้ ส่วนการส่งออกยังอยู่ในเกณ์ที่ดีกว่าปีก่อน แต่ถ้าหารเมืองยืดเยื้อ กลุ่มที่รับจ้างผลิตอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งจะต้องติดตามสถานการ์อย่างใกล้ชิดต่อไป" นายกฤษดากล่าว
 
ด้าน นางจินตนา ศิริสันธนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท. กล่าวว่า แม้ในขณะนี้จะมีการปิดสถานการณ์ที่ราชการ แต่ยอดขายเครื่องปรับอากาศในโครงการของรัฐก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่เดินหน้าต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ยอดขายในเดือนปลายปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นสุดเดือนมกราคม  2557 ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบทางการเมืองได้ เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวที่ยอดขายเครื่องปรับอากาศจะลดลงต่ำสุด ซึ่งจะต้องดูยอดขายเดือนมีนาคม-เมษายนก่อน จึงจะสรุปได้ว่าได้รับผลกระทบทางการเมืองหรือไม่

อ้างอิงจาก แนวหน้า
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
937
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
638
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
553
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
516
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด