2.1K
18 กุมภาพันธ์ 2557
ม็อบทุบ"เอสเอ็มอี"น่วม รัฐ-เอกชนระดมช่วยสุดฤทธิ์

 
 
เป็นที่แน่นอนว่าวิกฤตการเมืองที่ยังไม่มีทีท่าจะสงบในระยะเวลาอันใกล้นี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่มีสัดส่วนกว่า 80-90% ของภาคธุรกิจโดยรวมต้องรับวิบากกรรมอย่าหลีกหนีไม่ได้
 
เสียงสะท้อนจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงยืดเยื้อกินเวลากว่า 2 เดือน เริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยนายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากการจัดส่งแบบสอบถามให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 350 รายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 70% ประเมินว่าผลประกอบการปี 2557 จะแย่กว่าปี 2556 ขณะที่ 20% มองว่ากระทบเล็กน้อย และ 10% มองว่าผลประกอบการใกล้เคียงกับปี 2556 แต่ไม่มี ผู้ประกอบการรายใดแจ้งว่าผลประกอบการปีนี้จะดีขึ้น
 
โดยระดับความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอีปี 2557 พบว่า 70% อยู่ในระดับต่ำมาก คือความเชื่อมั่นระดับต่ำกว่า 50 ขณะที่ระดับปานกลางเฉลี่ย 65-70 คิดเป็น 20% และมีเพียง 10% ที่มีความเชื่อมั่นมากกว่าระดับ 80 แต่ไม่มีเอสเอ็มอีรายใดมีความเชื่อมั่นระดับ 100 ขึ้นไปซึ่งเป็นระดับดี
 
สอดคล้องกับ นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่เผยผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง พบว่าเอสเอ็มอีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับผล กระทบจากยอดขายที่ลดลงพอสมควร เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัว ทำให้ขาดสภาพคล่องไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้าได้ ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยหากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะทำให้ปัญหาลุกลามไปยังผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ได้ เนื่องจากเป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และใหญ่
 
 
 
จากการสำรวจ 10 อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีที่สำคัญ พบว่า ในกลุ่มที่ 1 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การค้าภายในประเทศที่กว่าครึ่งจะพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยว และกลุ่มทัวร์ ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
 
ในขณะที่การส่งออกที่ต้องอาศัยกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านการจัดงานแสดงสินค้าบางกอกเจมส์ ที่จะจัดในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ซึ่งล่าสุดมีผู้ซื้อต่างชาติแจ้งยกเลิกการมาร่วมงานแล้วกว่า 10% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว
 
2.กลุ่มสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) โดย ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากยอดขายสินค้าโอท็อป โดยเฉพาะในกลุ่มของใช้ ของที่ระลึก ซึ่งโดยปกติจะมียอดขายในช่วงปลายปีถึง 70% แต่เมื่อตรงกับช่วงการชุมนุม ทำให้บรรยากาศการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
 
3.กลุ่มอาหาร ได้รับผลกระทบทางจิตวิทยามีการจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เริ่มมีรายได้ลดลง เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกอาจส่งผลกระทบได้
 
4.กลุ่มเกษตรแปรรูป ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งจากการปรับตัวของต้นทุนต่างๆ ตามนโยบายภาครัฐ และผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง เพราะระบบโลจิสติกส์ต่างๆ ชะงักงัน
 
5.กลุ่มสิ่งทอ ภาคการผลิตสิ่งทอได้รับผลกระทบน้อย แต่จากการกดดันให้ปิดสถานที่ราชการ ทำให้กระบวนการขั้นตอนการส่งออกล่าช้า
 
6.กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีร้านค้าอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม
 
7.กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อย
 
8.กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงกว่า 30% เพราะผู้บริโภคตัดสินใจซื้อยากขึ้น
 
9.กลุ่มเครื่องหนัง โดยสินค้ารองเท้า และเครื่องหนังในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่ใกล้กับพื้นที่ชุมนุมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
 
และ 10.กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร ยอดการผลิตเครื่องจักรกลยังคงเป็นไปตามแผน เนื่องจากไม่ได้ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ จะส่งผลจากยอดความต้องการสินค้าต่างๆ จะลดลง
 
 
 
สถานการณ์นี้ ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งยวด ภายใต้สุญญากาศทางการเมือง ที่ไม่มีนโยบายใหม่สามารถผลักดันออกมาจากภาครัฐ เพื่อลดแรงกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจในภาคเอสเอ็มอีได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นภาคเอกชนออกมาขับเคลื่อนประคับประคองกันขนานใหญ่ ขณะที่กลไกภาคราชการก็ต้องเร่งเตรียมแผนเพื่อสอดรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ให้ภาคเอสเอ็มอีต้องพากันล้มหายตายจาก
 
ในส่วนของ กสอ. เตรียมมาตรการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษา เพื่อหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตในทุกๆ ด้าน การลดสต๊อกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ฉวยโอกาสช่วงที่คำสั่งซื้อสินค้าลดลงปรับปรุงเครื่องจักร และพัฒนาบุคลากร หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะขายผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น และควรพิจารณาขยายตลาดออกไป สู่ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
 
นอกจากนี้ กสอ.จะเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ โดยจะสำรวจเอสเอ็มอีเป็นระยะๆ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด และตั้งเป้ายกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีเป็น 40% ของจีดีพีรวม ภายใน 10-15 ปี จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 37% ของจีดีพี เพื่อให้ภาคการผลิตไทยมีความเข้มแข็ง
 
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มองว่าในช่วงที่สถานการณ์การเมืองยังไม่ยุติ ภาคเอกชนจะต้องคอยดูแล ช่วยเหลือกันเอง โดยเฉพาะในกลุ่มของเอสเอ็มอี ที่ กกร.จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ
 
เช่น ส.อ.ท.ได้เปิดฮอตไลน์สายด่วน 0-2345-1165 ขึ้นมารับเรื่องร้องเรียนให้คำปรึกษา การให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เน้นดูแลห่วงโซ่ซัพพลายเชนของตัวเอง เพื่อให้มีการปรับตัว เน้นดูแลเรื่องการให้ความรู้ลดรายจ่ายต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพและช่องทางในการผลิต แสวงหาตลาดใหม่ เช่น ตลาดชายแดน เพิ่มเป้าหมายการส่งออก เพื่อชดเชยการบริโภคภายในประเทศ และคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลงในปีนี้
 
 
 
สำหรับปัญหาสภาพคล่องนั้น นายชาติศิริ โสภณพานิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ได้หารือกับสมาชิกถึงแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีแนวทางในการช่วยเหลือลูกค้าแต่ละราย แต่ละกรณี เช่น การให้สภาพคล่องเพิ่มเติม การดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย
 
ขณะเดียวกัน หน่วยงานหลักสำคัญในการเข้ามาช่วย เหลือเอสเอ็มอีอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็อยู่ระหว่างเตรียมการเช่นเดียวกัน โดยนายปฎิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว. ระบุว่า สสว.อยู่ระหว่างการสำรวจผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า แต่ละรายได้รับผลกระทบในระดับใดบ้าง เพื่อจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ตรงจุด
 
เบื้องต้นจะช่วยเหลือใน 2 ด้านเป็นหลัก คือ การดูแลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และการหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.นี้ สสว.จะประกาศมาตรการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานพร้อมที่จะเข้ามาช่วยพยุงกลไกเอสเอ็มอีให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านการเมืองที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร

อ้างอิงจาก ข่าวสด
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
alls BUBBLE TEA แฟรนไช..
1,107
ยู้ฮู หวานเย็นเปิดสาขา..
996
รสเด็ดก๋วยเตี๋ยวกระทุ่..
872
สัมมนาลงทุน แฟรนไชส์คุ..
745
ยินดีต้อนรับ “ครอบครัว..
652
DOCTOR COSMETICS ACADE..
596
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด