4.2K
5 พฤศจิกายน 2556
โออิชิชี้ลงทุนเมียนมาร์ยังเสี่ยงก.ม.ไม่นิ่ง


 
กลุ่มทุนแบรนด์อาหารไทยโอด กฎหมายลงทุนเมียนมาร์สุดเข้มและไม่นิ่ง กระทบธุรกิจปรับแผนอุตลุดแนะลดความเสี่ยงหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นร่วมทุน "โออิชิ" เผยดีเลย์จากเปิดไตรมาส 4 เป็นต้นปีหน้า พร้อมปรับแผนมาร่วมมือกับนักธุรกิจท้องถิ่นผุดร้านชาบูชิ

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหารในเครือโออิชิ  อาทิ โออิชิ แกรนด์, ชาบูชิ, โออิชิราเมน ฯลฯ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทมีแผนเข้าไปลงทุนทำธุรกิจร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น "ชาบูชิ"  ในประเทศเมียนมาร์ โดยตั้งเป้าที่จะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้  แต่ด้วยข้อกฎหมายของเมียนมาร์ที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และยังไม่นิ่งเท่าที่ควร ทำให้บริษัทต้องปรับรูปแบบการลงทุนใหม่ ด้วยการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นชาวเมียนมาร์  ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปเป็นไตรมาส 1 ในปี 2557
 
นอกจากนี้จากการศึกษาตลาดยังพบว่า เมียนมาร์ยังมีข้อกำหนดในหลายด้าน อาทิ โครงสร้างการจ่ายภาษี , การอนุญาตให้นำเงินออกนอกประเทศ รวมไปถึงการเช่าหรือการลงทุนในเชิงธุรกิจ ฯลฯ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ
 
ทั้งนี้การร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับนักธุรกิจท้องถิ่น ถือเป็นการลงทุนตามเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์ ทำให้สามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนักธุรกิจท้องถิ่นจะมีความเชี่ยวชาญในตลาดมากกว่า
  • ต้องศึกษาก.ม.ให้รอบคอบ
"แม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้างในการเข้าไปทำธุรกิจจากนโยบายที่ทางเมียนมาร์ไม่อนุญาตให้ต่างชาติก่อตั้งบริษัทเพื่อลงทุนในประเทศ  แต่เราปรับรูปแบบเป็นการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญ โดยประเดิมที่แบรนด์ชาบูชิ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว อีกทั้งบวกกับศักยภาพของโออิชิกรุ๊ปเองมั่นใจว่าจะสามารถทำตลาดเมียนมาร์ได้ไม่ยาก แม้จะมีข้อกำหนดต่างๆมากมาย"
 
สำหรับกลุ่มนักธุรกิจร้านอาหารที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาร์ปัจจุบันมองว่า อยากให้ศึกษาตลาด รวมถึงรูปแบบกฎหมายให้ดี แม้ตลาดเมียนมาร์จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตสูงแต่ขณะเดียวกันด้วยข้อกำหนดหลายๆอย่างบวกกับกลุ่มทุนที่ต่างเข้าไปทำตลาด ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเติบโตเช่นกัน จึงควรมีการศึกษารายละเอียดและโครงสร้างตลาดให้ดีเสียก่อน นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องของการหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการช่วยทำตลาด  นายไพศาลกล่าว
 
  • S&P ซุ่มเจรจากว่า 10 ราย
ด้านม.ล. ลือศักดิ์  จักรพันธุ์ ผู้อำนวยการเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหาร "เอส แอนด์ พี"  กล่าวว่า นโยบายของบริษัทมุ่งขยายตลาดในกลุ่มประเทศ "ซีแอลเอ็มวี" ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม รวมถึงประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกภายใต้แบรนด์ เอส แอนด์ พี ในภูมิภาคนี้ ภายใต้แผน 5 ปีนับจากนี้

จากที่ผ่านมาธุรกิจอาหารในเครือเน้นขยายการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้แบรนด์ "ภัทรา" เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการในประเทศกัมพูชา และมีแผนจะขยายไปยังเมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด โดยมีแผนระยะยาวคือการขยายสาขาให้ครบในภูมิภาคอาเซียน
 
เบื้องต้นสำหรับตลาดประเทศเมียนมาร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบตลาด รวมถึงข้อกฎหมายที่แน่ชัด และการหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในการทำตลาดร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากว่า 10 ราย เพื่อดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยขั้นตอนของการทำตลาดในเมียนมาร์ เบื้องต้นจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากกฎหมายยังไม่นิ่งพอสมควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วน ทั้งข้อกำหนดและการบังคับใช้ โดยคาดว่าจะได้เห็นการเปิดบริการของเอส แอนด์ พี ในเมียนมาร์ ได้เร็วสุดช่วงปลายปี 2557-2558
  • ค่าเช่าที่ดินไม่สมเหตุสมผล
ม.ล.ลือศักดิ์ยังระบุอีกว่า ความยากในการทำตลาดธุรกิจร้านอาหารในเมียนมาร์ นอกจากเรื่องของการซื้อขายแล้ว  ปัจจัยที่สำคัญคือต้องศึกษาโครงสร้างตลาดให้ละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของค่าเช่าที่ดิน ในศูนย์การค้า หรืออาคารสำนักงาน ซึ่งมีราคาค่าเช่าสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่เข้ามา ทำให้อาจไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร ซึ่งจะแตกต่างจากตลาดประเทศไทยที่มีรายรับกับค่าเช่าที่สมเหตุสมผลมากกว่า จึงทำให้ต้องมีการศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนที่จะมีการตัดสินใจ
 
"ตลาดเมียนมาร์ยังคงต้องมีการศึกษาให้ดี เนื่องจากข้อกฎหมายข้อบังคับต่างๆค่อนข้างละเอียด ดังนั้นเราจึงต้องมีการคิดให้รอบคอบก่อนจะเข้าไป แม้ในเรื่องของกำลังซื้อจะดีอยู่ ขณะเดียวกันก็อยากเตือนนักธุรกิจชาวไทยว่า หากแบรนด์ยังไม่มีความแข็งแกร่งและศักยภาพเพียงพอ ยังไม่อยากให้กระโจนเข้าทำตลาดในเมียนมาร์ เพราะยังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าไปต้องมีศักยภาพที่ดีและเป็นกลุ่มทุนที่แข็งแกร่งในประเทศไทยให้ได้เสียก่อน" 
 
  • กำลังซื้อเมียนมาร์ทะยานพุ่ง
ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลการตลาดเพื่อการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลเมียนมาร์ ส่งผลให้เมียนมาร์กลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีการเติบโตสูง และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลก

โดยThe Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2555 เป็น 5.5% ในปี 2556 และ 6.2% ในปี 2557 ขณะที่กำลังซื้อของเมียนมาร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ  โดยนักลงทุนไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์และอาศัยประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่
   
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ นักลงทุนไทยควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในเชิงลึก รวมไปถึงกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการลงทุน , สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติ  , ข้อกำหนดในการเช่าที่ดิน และข้อกำหนดเงื่อนไขการจ้างแรงงาน เป็นต้น

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,164
PLAY Q by CST bright u..
1,319
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
943
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
793
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด