5.4K
3 มิถุนายน 2556
ทุนไทยหวังผล3เด้งเฮโลบุกลาวรอบใหม่


 
ทัพธุรกิจไทยรายใหม่ชักแถวลงทุนสปป.ลาว หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ 3 เด้ง เจาะตลาดในประเทศที่กำลังขยายตัว ใช้เป็นฐานลุยเออีซี  ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไป 3 ตลาดใหญ่ กลุ่มเครื่องปรุงรส  ธุรกิจความงาม ขายตรง แฟรนไชส์ แบงก์ ศูนย์การค้าสบช่องลุย

ชี้ตลาดคนรุ่นใหม่ลาว มาแรงสุดๆ หลัง โซเชียลเน็ตเวิร์ก บูมสนั่น ทูตพาณิชย์เผยยอดลงทุนไทยเริ่มแรงแซงจีนขึ้นเป็นเบอร์ 2 หายใจรดต้นคอเวียดนามอีกครั้ง

จากการที่ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนจะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกัน ส่งผลให้เวลานี้มีนักลงทุนไทยในกลุ่มใหม่ๆ ในหลากหลายธุรกิจได้เริ่มเข้าไปศึกษารวมถึงได้เข้าไปขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้ให้ความสนใจการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)ที่กำลังเพิ่มความคึกคักขึ้นทุกขณะ

กลุ่มทุนใหม่ไทยชักแถวลุย

นางพิมล   ปงกองแก้ว    อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มทุนใหม่ๆ จากประเทศไทยได้ขยายตัวเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก อาทิ

ล่าสุดกลุ่มบริษัท โรงงานน้ำปลาฉั่วฮะเส็ง(ตราหอยหลอด) จำกัด มีแผนเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำปลา และเครื่องปรุงรส ทั้งในแบรนด์ตัวเอง และในแบรนด์ลูกค้าจับกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร หรืออย่างกลุ่มของนายณรงค์  ตนานุวัฒน์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เข้าไปลงทุนศูนย์การค้า View Mall ในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจการเกษตรปลูกปอป่าน (ไทยเรียกใยกันชง) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของ นายสยาม  รามสูต เจ้าของบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล อินโด-ไชน่า จำกัด ที่ได้ซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจความงามของ "วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก" ไปเปิด 4 สาขาในสปป.ลาวประกอบด้วยที่เวียงจันทน์ จำปาสัก สะหวันนะเขต และหลวงพระบาง

โดยขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้วทุกสาขา ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่นเปิดคอมมิวนิตี มอลล์ในบริเวณใกล้กับประตูชัยของนครหลวงเวียงจันทน์ คาดจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ ขณะที่กลุ่มศิริพัฒนาได้เข้าไปลงทุนใช้สสป.ลาวเป็นฐานการเข้าเล่มหนังสือลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยมีคนงานกว่า 1.4 พันคน เพื่อส่งให้กับลูกค้าทั้งในอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นๆ


 
ยอดลงทุนไทยแซงจีน

"จากสถิติการลงทุนสะสมของต่างชาติในสปป.ลาวนับแต่ปี 2531 ถึงปี 2555 ล่าสุด ไทยอยู่อันดับ 2 รองจากเวียดนาม โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสม อยู่ที่ 4,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเวียดนาม มีอยู่ 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนอยู่อันดับ 3 ที่ประมาณ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วไทยอยู่อันดับ1 แต่ตอนหลังเวียดนามและจีนแซงหน้า และไทยเพิ่งแซงจีนกลับขึ้นมาเป็นที่ 2 ได้ในปีที่แล้ว"
 
สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนไทยสนใจลงทุนในสปป.ลาว ที่สำคัญคือ สื่อสารกันเข้าใจง่าย วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน สินค้าอุปโภคบริโภคไม่ต้องเปลี่ยนแปลงมาก และสปป.ลาวยังมีความต้องการสินค้าไทยอีกมาก เพราะยังไม่มีโรงงานผลิตมาก สินค้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการต้องนำเข้า แต่จากนี้ไปสปป.ลาวพยายามลดการนำเข้าโดยการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนผลิตสินค้า ขณะที่สปป.ลาวเอง ขณะนี้ได้เป็นสมาชิกของ WTO (องค์การการค้าโลก)แล้ว กฎระเบียบต่างๆ เขาได้พัฒนาให้เป็นสากล ทำให้การค้าการลงทุนเปิดกว้างขึ้น
 
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไปลงทุนในสปป.ลาวส่วนใหญ่ไม่ได้มองเพียงแค่ตลาดสปป.ลาวที่มีประชากรไม่มาก(7 ล้านคน) แต่ยังมองเพื่อใช้เป็นฐานเพื่อทำการค้ากับอาเซียนอื่นๆ และกับทั่วโลก ที่เวลานี้มีประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)แก่สินค้าที่ผลิตจากสปป.ลาวในอัตราภาษีนำเข้าต่ำ หรือไม่เสียภาษีเลย อาทิ ตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(อียู)  ญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้จากการที่สปป.ลาวเป็นตลาดที่กำลังเติบโต  และให้ความนิยมสินค้าและบริการจากประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ของสปป.ลาวที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์และได้ชมละครและหนังโฆษณาของไทย รวมถึงได้รับอิทธิพลจาก Social Network จะเป็นลูกค้าในอนาคต

เผยสินค้า-บริการรุ่ง

โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพในสปป.ลาวอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,เครื่องดื่ม,คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบที่เป็นสินค้าสำหรับคนรุ่นใหม่ ปูนซีเมนต์/เหล็กและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่เวลานี้ในลาวกำลังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเขื่อน ถนน โรงงานและที่พักอาศัยอีกมาก ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีศักยภาพได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง/เนื้อสัตว์และชิ้นส่วนต่างๆ
 
ส่วนในธุรกิจบริการที่มีอนาคตได้แก่ ร้านอาหาร และแฟรนไชส์ ,การออกแบบก่อสร้างและการวางระบบไอที,การศึกษาและสถานพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า,สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง,อู่ซ่อมรถ ล้างรถ และประดับรถยนต์ รวมถึงธุรกิจบำรุงรักษา/ซ่อมแซมอาคาร เขื่อน ระบบไอที คอมพิวเตอร์  การเงิน ประกันภัย ประกันชีวิตที่ลาวอยู่ในช่วงเริ่มต้น


 
กลุ่มทุนเก่าเร่งขยาย

นางพิมล กล่าวอีกว่านอกจากกลุ่มทุนใหม่ข้างต้นแล้ว ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนรายใหญ่จากไทยได้เข้าไปลงทุนในสปป.ลาวแล้วหลายรายและอยู่ระหว่างขยายกิจการเพิ่ม เช่นกลุ่มไทยเบฟของนายเจริญ  สิริวัฒนภักดีได้ลงทุนสนามกอล์ฟ สวนกาแฟ ปลูกอ้อย และมีแผนตั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง, กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และมีแผนตั้งโรงงานแปรรูปอาหาร, กลุ่มเบทาโกรในธุรกิจอาหารสัตว์ และมีแผนตั้งโรงงานแปรรูปอาหาร กลุ่มมิตรผล(มิตรลาว)ในธุรกิจอ้อยครบวงจร, กลุ่มซิโน-ลาวของนายเปรมชัย  กรรณสูต ตั้งโรงงานผลิตอะลูมิเนียม, กลุ่มช.การช่าง ในธุรกิจสร้างเขื่อน และกลุ่มไทยฮั้วยางพาราธุรกิจปลูกและแปรรูปยางพารา เป็นต้น
 
ส่วนในธุรกิจบริการขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ของไทย 5 ราย ประกอบด้วย แบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ทหารไทย ศรีอยุธยา ได้เข้าไปตั้งสาขาในสปป.ลาว(ส่วนใหญ่อยู่ในเวียงจันทน์) เพื่อให้บริการรับฝาก หรือโอนเงินแก่ทั้งชาวลาวและชาวต่างชาติ และกำลังเริ่มมองที่จะขยายสาขาไปตามแขวงต่างๆ ของสปป.ลาวที่เศรษฐกิจกำลังโต

ค่ายขายตรงชักแถวบุก

ท.ญ.ลพา วัชรศรีโรจน์ ประธาน ผู้ก่อตั้ง บริษัท เอมสตาร์ เน็ทเวิร์ค จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจเครือข่าย เอมสตาร์  กล่าวว่า   ในปีนี้บริษัทขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  4 ประเทศ ได้แก่   เมียนมาร์, มาเลเซีย, สิงคโปร์  และเวียดนาม   ส่วนประเทศลาวบริษัทได้ขยายลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี  ทำให้ในปีนี้บริษัทยังได้ขยายสาขา ในประเทศลาวเพิ่มอีก 1 แห่ง จากนโยบายเดิมที่จะขยายสาขาเพียงประเทศละ 1 แห่งเท่านั้น 
 
พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ยูนิตี้ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครือข่ายกิฟฟารีน  กล่าวว่า  บริษัทได้ขยายการลงทุนในประเทศอาเซียน  ได้แก่ เมียนมาร์, กัมพูชา, มาเลเซีย และลาว  ซึ่งในส่วนของสปป.ลาวนั้นบริษัทได้ลงทุน 25 ล้านบาท หรือกว่า  6.25 พันล้านกีบ เป็นสาขาแห่งที่ 4  โดยมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 3 พันคน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าไปจำหน่าย ได้ผ่านการจดทะเบียนการค้าและได้รับการรับรอง อย. จากกระทรวงสาธารณสุขของสปป.ลาว แล้วจำนวน 150 รายการ

ความงามรอไม่ได้

นางปุญญาพร ธนัชชวลัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด   กล่าวว่า  บริษัทได้ยายสาขาไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน  ซึ่งครอบคลุม เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขาต่างประเทศทั้งสิ้น 10 สาขา และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเฉพาะในต่างประเทศเพิ่มอีกจำนวน 15 สาขาในปีนี้  

โดยผลการดำเนินงานในประเทศลาวถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก  ซึ่งนโยบายต่อไปของบริษัทจะลุยเปิดสาขาในกลุ่มประเทศเอเชียตอนบน และจะไม่เปิดเพียงสาขาเดียว เพราะนโยบายการทำตลาดของวุฒิศักดิ์ ถ้าไปเปิดตลาดแล้วจะต้องเป็นผู้นำตลาด  อย่างประเทศลาวมี 4 สาขา กัมพูชา 2 สาขา เวียดนามจะเพิ่มอีก 10 กว่าสาขา

เครื่องปรุง-น้ำดื่มรอวันบูม

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท โรงงานน้ำปลาฉั่วฮะเส็ง(ตราหอยหลอด) จำกัด เผยถึงความคืบหน้าการตั้งโรงงานผลิตน้ำปลา และเครื่องปรุงรสของบริษัทว่า ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ VITA PARK ห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ 21 กิโลเมตร ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างหาผู้ออกแบบโรงงาน คาดว่าเมื่อออกแบบแล้วเสร็จจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงจะสามารถเปิดดำเนินการได้

การลงทุนครั้งนี้นอกจากเพื่อทำตลาดในสปป.ลาวแล้ว ยังมีแผนใช้เป็นฐานการส่งออกไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน จีน รวมถึงส่งกลับมาจำหน่ายในภาคตะวันตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่อยู่ติดกับลาว บริษัทยังมีแผนที่จะผลิตสินค้าในแบรนด์ของลูกค้าในกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และอื่นๆ ในลาวด้วย และในอนาคตยังมีแผนผลิตน้ำดื่มตามที่ได้ขออนุญาตไว้กับทางการลาวด้วย 

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,493
PLAY Q by CST bright u..
1,067
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
783
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
755
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด