3.9K
2 พฤษภาคม 2556
พาณิชย์ดัน OTOP สู่ SME ร่วม ส.ค้าปลีกเปิดตลาดห้างดัง-ขายออนไลน์

 
 
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เผยแผนส่งเสริมโอทอปเดินหน้าสานต่อโครงการยกระดับโอทอปสู่การเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยดึงสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมจับมือดึงห้างดังรองรับการขยายตลาดโอทอปเข้าสู่ห้าง พร้อมอัดงบกว่า 9 ล้านบาท จัดอบรมผลักดันผู้ประกอบการไทยและโอทอปเข้าสู่โลกออนไลน์
 
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพการตลาดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยในการขยายตลาดสู่ช่องทางการค้าปลีกและกำหนดแผนการตลาดพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาดไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพการตลาดเพื่อยกระดับสินค้าโอทอป ให้เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมระดับเอสเอ็มอี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับสมาคมค้าปลีกไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดผลิตภัณฑ์โอทอป เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ช่องทางการตลาดในกลุ่มของดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต รวมถึงการส่งเสริมผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต (อี-คอมเมิร์ซ)
 
“ความร่วมมือกันนี้น่าจะช่วยผลักดันให้สินค้าโอทอปของไทยได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เชื่อว่าน่าจะสร้างรายได้ให้เพิ่มหลายเท่าตัว และ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2555 กว่า 1 แสนล้านบาทเป็นสินค้าโอทอปประมาณ 10-20% แต่ในอีก 5 ปีคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้มากกว่าเท่าตัว”
 
นายบุญทรงกล่าวว่า กระทรวงฯยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่หลายราย ได้แก่ ห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้-โลตัส บิ๊กซีและตั้งฮั่วเส็ง ในการให้ความรู้ในด้านการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและผู้ค้าปลีกในการเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย
 
 
 
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ส่วนของกระทรวงฯได้จัดสรรงบประมาณ 9 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนาและอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอทอป) ให้สามารถทำธุรกิจค้าขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต (อี-คอมเมิรซ์) รวมถึงการสร้างร้านค้าออนไลน์ โดยตั้งเป้าหมายว่า จะมีผู้ประกอบการเข้ามาเปิดเว็บไซต์และขายสินค้าได้จริงประมาณ 240 ราย และมียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่องทางปกติ 20% จากในปี 55 ที่มีผู้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ได้จริง 200 ราย
 
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและมีอัตราการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกนำมาใช้เป็นช่องทางแพร่หลายมากขึ้น และอินเตอร์เน็ตยังเป็นช่องทางที่ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบัน”
 
นอกจากนี้ การทำตลาดบนอินเทอร์เน็ต หรือ อี-คอมเมิรซ์ ยังมีจุดดีสามารถแยกแยะกลุ่มสินค้าชัดเจน ทำให้สามารถขยายตลาดเฉพาะได้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และยังสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนในการเปิดหน้าร้านของตัวเอง รวมถึงไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมในการวางสินค้าห้างสรรพสินค้า ที่สำคัญมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในปัจจุบัน มีมูลค่ามากถึง 6.2 หมื่นล้านบาท ขณะมีผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว 9,993 เว็บไซต์
 
นางวัชรีกล่าวว่า การเปิดตลาดสินค้าโอทอปผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมรอบรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ที่ประเทศทั้ง 10 ชาติสมาชิกอาเซียนจะมีการค้าขายกันมากขึ้น ทั้งจากการลดภาษีสินค้า บริการ และการลงทุน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทั้งจากอาเซียน จนไปถึงการค้าติดต่อสื่อสารกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะทำให้เอสเอ็มอีไทยทำการค้าขายกับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

อ้างอิงจากผู้จัดการออนไลน์
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,196
PLAY Q by CST bright u..
1,325
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
947
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
945
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
794
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด