597
7 มีนาคม 2567
3 กลุ่มธุรกิจ ผู้เล่นสำคัญในตลาดรถ EV เติบโตพุ่งรองรับโลกอนาคต จากปัจจัยผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม หนีน้ำมันแพง ลดฝุ่นพิษ นโยบายรัฐหนุน
 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) เด้งโตรับตลาดผู้บริโภคขยายก้าวกระโดด 3 กลุ่มธุรกิจรับอานิสงส์เต็มๆ ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ ปัจจัยที่สนับสนุนให้เติบโตมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ EV มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และช่วยลดฝุ่นพิษ รวมถึงรัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมด้านต่างๆ กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์พบว่า สัญชาติของผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลไทยมีญี่ปุ่น และจีนที่มีการลงทุนในไทยเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนศักยภาพที่ดีของประเทศไทยในการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า และสอดรับกับวิสัยทัศน์ลำดับที่ 6 ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ทั้งนี้ มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจรถยนต์ EV ตามพ.ร.บ.ต่างด้าว 4 ปีย้อนหลัง จำนวน 14 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,134.80 ล้านบาท
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ธุรกิจรถยนต์ ไฟฟ้า (EV Industry) เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามอง และมีอัตราการเติบโตสูงทั้งตลาดรถยนต์ในประเทศไทยและตลาดโลก เนื่องจากมีปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนหลายด้าน อาทิ ปัจจัยด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าและไฮบริดมากขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก

พบว่า ช่วงปี 2563-2566 มีอัตราการจดทะเบียนรถประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 116.69% สอดรับกับปัจจัยด้านนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2573 ต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ประกอบกับการส่งเสริมแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตลง ปัจจัยด้านสถานการณ์น้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยด้านฝุ่นพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว
 
อธิบดี กล่าวต่อว่า “จากการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า กลุ่มตัวอย่างธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลไทยที่น่าสนใจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า (Control Charging Plug and Socket) จดทะเบียน นิติบุคคลจำนวน 31 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 14,537.19 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด L จำนวน 22 ราย คิดเป็น 70.97% มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,480.19 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S จำนวน 5 ราย คิดเป็น 16.13% มูลค่าทุนจดทะเบียน 16 ล้านบาท

และธุรกิจขนาด M จำนวน 4 ราย คิดเป็น 12.90% มูลค่าทุนจดทะเบียน 41 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 7,870.19 ล้านบาท รองลงมาคือไทย มูลค่าการลงทุน 3,137 ล้านบาท และอินเดีย มูลค่าการลงทุน 400 ล้านบาท 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Devices) จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 122 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,674.67 ล้านบาท

โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด L จำนวน 85 ราย คิดเป็น 69.67% มูลค่าทุนจดทะเบียน 71,967.55 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S จำนวน 21 ราย คิดเป็น 17.22% มูลค่าทุนจดทะเบียน 3,578.22 ล้านบาท และธุรกิจขนาด M จำนวน 16 ราย คิดเป็น 13.11% มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,128.90 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 53,512.72 ล้านบาท รองลงมาคือไต้หวัน มูลค่าการลงทุน 7,108.25 ล้านบาท และไทย มูลค่าการลงทุน 4,864.84 ล้านบาท”
 
“และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ (EV Charging Station) จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 31,758.46 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด M จำนวน 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 31,328.01 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S จำนวน 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 53.88 ล้านบาท และธุรกิจขนาด L จำนวน 1 ราย คิดเป็น 11.12% มูลค่าทุนจดทะเบียน 376.57 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด”
 
“ไทยมีความพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อมุ่งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) ตามวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand Vision ลำดับที่ 6 ของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ณ ทําเนียบรัฐบาลที่ผ่านมา

จากข้อมูลจะเห็นว่านักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ระดับโลกได้สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ประกอบกับมีนักลงทุนสัญชาติจีนซึ่งเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีแผนขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้ประเทศไทย เกิดการลงทุนและจ้างงานคนไทย

ที่สำคัญเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีการผลิตให้แรงงานไทยเกิดทักษะการทำงานที่สูงขึ้น แม้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) จะดูมีอนาคตที่สดใส แต่ก็ยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าเช่นกัน ทั้งการแข่งขันที่จะสูงขึ้น

การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อย่างสถานีชาร์จที่จะต้องครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ การบริการหลังการขายที่ดี การซ่อมแซมและอุปกรณ์อะไหล่ที่ต้องรองรับให้เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ยังมีโอกาสในการลงทุนอีกมากและผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันต่อความท้าทายดังกล่าวด้วย”
 
“สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) มีจำนวน 14 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 22,134.80 ล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง (รถยนต์ไฟฟ้า/รถจักยานยนต์ไฟฟ้า/EV Battery) จำนวน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 310.80 ล้านบาท ธุรกิจ EV Charging Station จำนวน 3 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 8,893.34 ล้านบาท

ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต จำนวน 2 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 371.68 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) จำนวน 5 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 12,558.99 ล้านบาท เช่น บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า บริการให้เช่าเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) บริการตรวจสอบแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : www.dbd.go.th
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
636
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
552
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
515
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด