1.1K
17 กันยายน 2564
“ดีป้า” เผยผลสำรวจ 3 อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ปี 2563 ซอฟต์แวร์–ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ-บริการด้านดิจิทัล ชี้อานิสงส์นิวนอร์มอลดันบริการดิจิทัลขยายตัว สวนทางฮาร์ดแวร์ฯ ดิ่งหนัก
 
 
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผย ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ประจำปี 2563 เผยมูลค่ารวมขยายตัว 7.76% จากปี 2562 โดยเฉพาะตลาดบริการดิจิทัลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวสู่นิวนอร์มอล ด้านตลาดฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะหดตัวหนัก

แม้มูลค่าตลาดยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด ชี้ให้เห็นทิศทางอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยที่หันไปสู่เศรษฐกิจฐานบริการมากขึ้น ส่วนมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ปรับลดเล็กน้อย ขณะที่บุคลากรดิจิทัลเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบุคลากรดิจิทัลขั้นสูงอย่างโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนา
 
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี ดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2563 โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) และ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน

โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 6.5 แสนล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 7.76% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท

 
อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลเติบโตก้าวกระโดดรับนิวนอร์มอล
 
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 44.42% จากปี 2562 ที่มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาด Online-media, e-Logistics และ e-Retail พร้อมประเมินว่า การเติบโตจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้บริการดิจิทัลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

เริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล ทั้งการจับจ่ายสินค้า การรับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์ รวมถึงนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ เราชนะ ฯลฯ นโยบายเรียนออนไลน์ และ Work from Home 
 
ด้านบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนราว 8 หมื่นคน เพิ่มจากปี 2562 เพียง 17.9% โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจ e-Logistics ซึ่งเป็นกลุ่มไรเดอร์ที่ถูกรวมเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2562 แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านดิจิทัลสะท้อนว่า ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มโปรแกรมเมอร์
 
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์หดตัวเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจ
 
ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า มูลค่าอุตสาหกรรมตลาดซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท หดตัวเฉลี่ย 2.61% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 1.34 แสนล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 แม้ผู้ประกอบการจะพยายามปรับรูปแบบธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับ Digital Transformation มากขึ้น แต่ยังมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ชะลอการลงทุน จึงไม่สามารถกระตุ้นให้ตลาดซอฟต์แวร์เติบโตตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม ปี 2563 เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมชัดเจนขึ้น

โดยตลาดซอฟต์แวร์มีแนวโน้มหดตัว แต่ไปขยายตัวที่ตลาดบริการซอฟต์แวร์ และมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะซื้อบริการตรงจากแพลตฟอร์มต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น และส่งผลให้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดบริการซอฟต์แวร์จะดำเนินการได้ยากขึ้นในอนาคต 
 
ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีประมาณ 1 แสนคน แบ่งเป็นบุคลากรสายดิจิทัลราว 50,000 คน คิดเป็น 53.88% และพนักงานด้านอื่น ๆ เฉลี่ย 50,000 คน พร้อมกันนี้ยังพบว่ามีกำลังคนเพิ่มขึ้นในทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ โดยตำแหน่ง Software/IT Project Manager เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเฉลี่ย 15% แต่ยังคงมีเสียงสะท้อนถึงปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในสายอาชีพ


อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะหดตัวต่อเนื่อง
 
ในส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าราว 2.74 แสนล้านบาท ลดลง 8.34% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 2.99 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้ในตลาดฮาร์ดแวร์เฉลี่ย 10.65% ขณะที่รายได้ตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะลดลงเพียง 2.23% เหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย

แต่ในขณะเดียวกัน การ Work from Home และการเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความต้องการสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น และดันราคาสินค้าให้สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า กล่าวคือ ยอดขายในส่วนของจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ปี 2563 ลดลง 5.63% เมื่อเทียบกับ 2562 แต่ในทางกลับกัน มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์กลับขยายตัว 4.81%
 
ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีจำนวนกว่า 3 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 53.24% โดยบุคลากรสายดิจิทัลมีจำนวนกว่า 60,000 คน และกว่า 70% เป็นพนักงานการตลาดและการขาย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังคนในสายงานนักพัฒนา (Developer) ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 10,000 คน
 
ผศ.ดร.ณัฐพล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีภาษี e-Service ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดบริการซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม แต่ที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงยังมีมูลค่าส่วนหนึ่งที่ยังไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการสำรวจ แต่ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติจะต้องเสียภาษี e-Service ทำให้มีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแล้วกว่า 50 ราย ดังนั้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจึงน่าจับตาทิศทางตลาดอย่างมากว่าจะเติบโตก้าวกระโดดกว่าปี 2563 เพียงใด และเชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานบริการอย่างแน่นอน

 
นอกจากนี้ ภาวะการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลที่เกิดจากการแย่งชิงกำลังคนระหว่างอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ประยุกต์ใช้ดิจิทัลในธุรกิจมากขึ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ค่าตัว โดยเฉพาะบุคลากรในสายโปรแกรมเมอร์พุ่งถึงหลักแสน ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพล มองว่า ปัญหาขาดกำลังคนดิจิทัล ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนับเป็นปัญหาเรื้อรังที่ ดีป้า มิได้นิ่งนอนใจ

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ดีป้า พร้อมด้วยพันธมิตร ทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา ดำเนินการ Upskill กำลังคนสายดิจิทัล และ Reskill สายวิชาชีพอื่นให้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย
 
“ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับ Post-COVID-19 โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้น เพื่อให้นโยบายเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติคือ การสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1) High Value Software 2) Digital Service 3) Digital Content และ 4) การให้บริการฮาร์ดแวร์ หากการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยจะทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มในเซ็กเตอร์ใหม่ที่เป็นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเราคำนึงถึงเสมอว่าจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นทุนของประเทศได้อย่างไร ส่วนหน้าที่ของเราคือ การทำให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และทำให้เมืองไทยเป็น Digital Hub” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย
 
ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ปี 2563 ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างมาก แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการ Cloud Computing มากขึ้น และบางส่วนหันไปซื้อตรงจากต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง 
 
“สำหรับปี 2564 สถานการณ์อาจเป็นเช่นเดิม โดยมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ในทางกลับกัน มูลค่าการนำเข้าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะขยายตัว อาจเป็นเพราะในปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวลง ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลยังมีอัตราการเติบโตที่สูง เพราะผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และคาดว่า ปี 2565 เป็นต้นไปสถานการณ์อุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกกลุ่มน่าจะมีการกลับมาเติบโตดังเดิม” ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าว
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
937
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
638
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
553
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
516
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด