654
12 กรกฎาคม 2564
10 ปี ไทยก้าวสู่ประเทศนวัตกรรมแถวหน้าของโลก ปั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รองรับ!
 
 
จากผลการจัดอันดับ ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมจากดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 ประเทศไทยกระโดดจากอันดับที่ 40 มาเป็นอันดับที่ 36 จาก 60 ประเทศทั่วโลก โดยมาจากมิติสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ขยับขึ้นจากเดิม 8 อันดับ และติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
 
อว.ตั้งเป้าสร้างไทยเป็นประเทศนวัตกรรมแนวหน้าของโลก ใน 10 ปี
 
โดย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม อว. ตั้งเป้าสร้างไทยเป็นประเทศนวัตกรรมระดับแนวหน้าของโลกภายใน 10 ปี และให้ไทยติดท็อป 5 ประเทศนวัตกรรมในระดับเอเชีย
 
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวบรรยายในงานอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรม สำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน (PPCIL) รุ่นที่ 3 (Public and Private Chief Innovation Leadership #3 The Next Change Maker) หัวข้อ "ไทยสู่ความเป็นประเทศพัฒนา ใน 10 ปี ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและศิลปวิทยาการ" จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ในการพัฒนานโยบายเชิงนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล ช่วยแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้ด้วยนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชนกว่า 70 รายเข้าร่วมการอบรมระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564
 
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.
 
ดร.เอนก กล่าวในช่วงระหว่างการบรรยาย ว่า ในตอนนี้สถานะของประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ยากจน และเราไม่ใช่ประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างคนจน ซึ่งทั่วโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ถ้ามาดูจากขนาดของ GDP ประเทศไทย จะอยู่ที่อันดับ 20-23 แต่ถ้าวัดที่กำลังซื้อจริงๆก่อนจะมีสถานการณ์โควิดประเทศไทยเราอยู่ที่อันดับ 19 หรือ 20 ของโลก
 
“สำหรับประเทศทั่วโลกที่ต้องการจะเป็นประเทศนวัตกรรม มีอยู่จำนวน 200 กว่าประเทศ โดยประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ จีน ดังนั้น ถ้าวัดจากกำลังซื้อ GDP ของประเทศไทยเราอยู่อันดับที่ 19-20 ถ้าวัดจากจำนวนเงินเราอยู่อันดับที่ 20-23 ถ้าวัดจากกำลังซื้อที่เป็นจริงวัดจากจำนวนเงินสกุล ดอลล่าร์สหรัฐ ประเทศไทยเราจะอยู่ในอันดับที่ 19-20 ในขณะที่หากวัดจากความสามารถทางนวัตกรรมเราอยู่เป็นอันดับที่ 44ในขณะนี้ " ดร.เอนก กล่าว
 
จากแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่ออกมากำหนดให้ภายในระยะเวลา 20 ปี ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้าน “ดร.เอนก” ย้ำ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการฯ กล้าที่จะเดิมพันไว้ว่า ไม่ถึง 20 ปี แต่ภายใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จากการจัดอันดับ ความสามารถถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
 
 
มั่นใจ วิจัย นวัตกรรม ช่วยนำประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
 
ดร.เอนก กล่าวว่า การที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เราต้องใช้ฐานความรู้ ฐานวิจัย นวัตกรรมและฐานศิลปะวิทยาการทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเศรษฐกิจของเราจะไม่อยู่บนฐานที่แรงงานราคาต่ำ ไม่ใช่อยู่บนฐานที่ว่านำวัตถุดิบไปขาย ไม่ใช่อยู่บนฐานที่นำพืชผลการเกษตรไปขาย แต่ต้องอยู่ที่นำวิชาความรู้ และวิทยาการทั้งปวง มาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตผลและบริการ ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งต้องสูงกว่าเดิมเป็นสิบๆเป็นร้อยเท่า พันเท่า หรือ หมื่นเท่า ซึ่งมันคือ หัวใจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องไปให้ถึงภายในระยะเวลา 10 ปี เป็นข้อเท็จจริง ที่จะทำให้เราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้
 
ทั้งนี้ อีก20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของภาคี 20 ประเทศที่ทดลองเรื่องฟิวชั่น โดยเราจะนำความรู้ที่ได้จากการทดลอง วิจัย ไปเปลี่ยนให้เป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้ จนเป็นพลังงานสะอาด บริสุทธิ์ไม่มีกัมมันตรังสี ที่จะใช้ได้นานแสนนาน เป็นหมุดหมายของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งไม่ค่อยมีใครทราบว่าประเทศไทยทำได้
 
ในส่วนของ การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ประเทศไทย เป็นไทยแลนด์ 4.0 มี 3 เรื่องหลัก คือ การพัฒนาด้าน A.I. Robotic Industry และ AOT เราไม่แพ้ใครในอาเซียน และเรากำลังก้าวกระโดดไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างในตอนนี้ คือ การสร้างพันธมิตรกับประเทศ อื่น เช่น เกาหลี หรือ จีน และประเทศอื่น ฯลฯ เพื่อผลักดัน AI ประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายภายใน 10 ปี
 
“นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำ 1 ใน 3 อย่าง ที่จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยให้เราก้าวข้ามไปแบบก้าวกระโดด ในการสร้างพันธมิตร นั่น คือ การเข้าไปทำงานวิจัยร่วมกับ ประเทศจีน เกาหลี ทำไมต้องเป็น 2 ชาตินี้ เพราะทั้งสองประเทศ ทำ 5G ได้ และถ้าเขาทำ 5.5 G หรือ 6G ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีเพื่อขอเข้าไปร่วมทำด้วย โดยเราจะต้องไม่ทำวิจัย หรือ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ จากฐานประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหลายปัจจัยความพร้อมที่เรายังมีไม่เพียงพอ เราจำเป็นจะต้องระดมสรรพกำลังมิตรประเทศแนวร่วม ภาคีต่างๆ เพื่อทำให้เกิดพลังคูณ 2 หรือ คูณ3 " ดร.เอนก กล่าว
 
ดร.พันธ์อาจ ชัยรัตน์
 
ผู้นำส่วนสำคัญนำพาไปสู่ประเทศแถวหน้าด้านนวัตกรรม
 
ทั้งนี้ รมว.อว. ยังกล่าวกับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 3 ที่เข้าอบรมอีกว่า ใน 5 ข้างหน้าตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นประเทศชาตินวัตกรรมระดับแนวหน้าของเอเชีย และภายใน 10 ปี ไทยจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศนวัตกรรมแนวหน้าของโลก
 
“โดยในตอนนี้เราเป็นชาติที่ 44 ผมก็ตั้งโจทย์ให้ผู้นำที่เข้าอบรม ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เป็นเหมือนคำบัญชาว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทย ต้องติด 1 ใน 30 ของโลก หรือ 5 ปีข้างหน้า ต้องเป็นประเทศนวัตกรรมระดับแนวหน้าของเอเชีย และเป็นชาตินวัตตกรรมแนวหน้าของโลก

ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องไม่ทำงานด้วย Indicator ที่เยอะไปหมด เสร็จแล้ว Modify ไม่ได้สักเรื่อง ต้องทำงานแบบน้อยเรื่องที่สุด หรือ เรียกว่าต้องมี Super indicator นวัตกรรมจึงไม่ใช่มีเพียงแค่ความรู้ ประสบการณ์เท่านั้น แต่ต้องมี Mindset และ Commitment ทุกคนก็เหมือนกัน ถ้าMindset ยังไม่ถูกต้องก็ต้องเปลี่ยน Mindset แล้วใช้ Perspective และต้องมีCommitment อย่าทำอะไรไปเรื่อยๆ" รมว. อว. กล่าวในที่สุด
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
 
NIA พัฒนาหลักสูตร PPCIL เพื่อผู้นำการเปลี่ยนแปลง
 
ด้าน ดร.พันธ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA พัฒนาหลักสูตร PPCIL ขึ้นสำหรับผู้นำในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน การเมือง ความมั่นคง ตลอดจนภาคการศึกษา ให้พร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรม และจากความสำเร็จในการดำเนินหลักสูตร PPCIL ทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการเป็น change maker ไม่สามารถทำนวัตกรรมเชิงกระบวนทัศน์ความคิดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถทำให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงจากหน่วยงานหนึ่งหรือกลุ่มคนหนึ่ง ไปอีกกลุ่มคนหนึ่ง

ซึ่งไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ถือเป็นการตอกย้ำประเด็นที่ว่า “นวัตกรรมทำคนเดียวไม่ได้” ผู้นำรุ่นใหม่จึงต้องเป็นสะพานเชื่อมที่จะสร้างโอกาสทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และท้ายที่สุด ทั้งสองเรื่องนี้จะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือป้องกันสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมา นั่นคือการสร้างนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่เราเรียกว่าพันธะสัญญาทางสังคมในรูปแบบใหม่ขึ้นมา”
 
ขณะที่ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หลักสูตร Public and Private Chief Innovation Leadership หรือ PPCIL เป็นหลักสูตรที่มีระบบการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่การบรรยายแบบหลักสูตรทั่วไป แต่จะเป็นการรับฟังความคิดเห็น การวิพากษ์ หรือวิจารณ์ จากวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นมุมมองของการแก้ไขปัญหา ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวของชีวิตจริง

โดยวิทยากรแต่ละท่านนั้นเป็นสุดยอดกูรูด้านนโยบายนวัตกรรมแท้จริง ผู้เข้าร่วมอบรบจะสามารถนำแนวคิดด้านนวัตกรรมมาแก้ปัญหาของประเทศ โดยการใช้มุมมองที่แตกต่างและการร่วมกันสร้างนโยบายที่สร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้ได้จริง
 
โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อสารมวลชน ภาคการเมือง ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากองค์ความรู้ที่ได้รับแล้วสิ่งสำคัญคือ เครือข่ายของคนที่มีหัวใจในการขับเคลื่อนนโยบายนวัตกรรมเหมือนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในมิติเทคโนโลยีมากขึ้น

โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของผู้เข้าร่วม และความปลอดภัยที่มีมาตรฐานของภาครัฐ เพื่อทำให้ทุกคนที่แม้อยู่ไกลทางออนไลน์แต่รู้สึกเสมือนอยู่ใกล้กันและสามารถทำโครงการด้วยกันได้ราบรื่น สำหรับในปีนี้ PPCIL รุ่นที่ 3 มีผู้เข้าอบรมที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ จำนวน 75 คน จากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ โดยจะมีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ มากกว่า 40 ท่าน ร่วมกระบวนการเรียนรู้ตลอด 10 สัปดาห์ ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2564
 
อ้างอิงจาก : MGROnline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,259
PLAY Q by CST bright u..
1,334
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
951
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
798
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด