กกบ.เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนแนวทางปฏิบัติทางบัญชีชั่วคราว ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีมติผ่านความเห็นชอบแนวปฏิบัติทางการบัญชี 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีนำเสนอ เพื่อเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลุกลามทั่วโลก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงินของโลก
รวมถึงการจัดทำรายงานทางการเงินของกิจการต่างๆ โดยหลังจากผ่านความเห็นชอบของ กกบ.แล้ว สภาวิชาชีพบัญชีจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทันต่อการจัดทำงบการเงินไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า กกบ.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบแนวปฏิบัติทางการบัญชี 2 ฉบับ เพื่อเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีทั้ง 2 ฉบับจะช่วยผ่อนปรน และเพิ่มทางเลือกในการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for PAEs)
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทขนาดใหญ่ ที่การดำเนินการของกิจการเหล่านี้มีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อกิจการขนาดเล็ก หรือบุคคลธรรมดาทั่วไปที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่ของการดำเนินกิจการร่วม การให้สินเชื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเป็นพนักงานในกิจการเหล่านี้ โดยสรุปสาระสำคัญของแนวปฏิบัติทางการบัญชี ดังนี้
แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับที่ 1 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว สำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เป็นทางเลือกทางการบัญชี เพื่อผ่อนปรนชั่วคราวให้แก่กิจการทุกประเภทที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ เช่น ผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย เป็นต้น
เพื่อให้กิจการสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2564 หรือจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลง

แนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับที่ 2 เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว สำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นทางเลือกทางการบัญชีเพิ่มเติม เพื่อผ่อนปรนชั่วคราวให้แก่ทุกกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และต้องมีการจัดทำงบการเงินในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิดยังคงอยู่ในความไม่แน่นอนสูง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน อาจเป็นผลให้ฝ่ายบริหารต้องใช้ดุลยพินิจมาก โดยเป็นทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชี
สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน 6 ฉบับ ได้แก่
- มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
- มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 13 (TFRS 13) เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม
- มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFRS 16) เรื่อง สัญญาเช่า
- มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 (TAS 12) เรื่อง ภาษีเงินได้
- มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36 (TAS 36) เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์ และ
- มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 37 (TAS 37) เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
โดยแนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค. 2563 ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีจะนำแนวปฏิบัติทางการบัญชีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะจัดทำตัวอย่างประกอบเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่เลือกใช้แนวปฏิบัติทางการบัญชีดังกล่าว
โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ของสภาวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป กกบ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวปฏิบัติทางการบัญชีดังกล่าวจะมีส่วนช่วยผ่อนคลายความกังวลในการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองกำกับบัญชีธุรกิจ ส่วนเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) โทร. 0-2547-4407 e-Mail : kkb.dbd2013@gmail.com สายด่วน 1570 และ
www.dbd.go.th
อ้างอิงจาก : MGROnline.com