1.5K
3 เมษายน 2563
ITAP-สวทช.จับมือ มจพ.พัฒนาเทคโนโลยีการฉีดพลาสติก รองรับอุตสาหกรรมยุค 4.0
 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน

พร้อมด้วยพันธมิตรภาคเอกชน จัดสัมมนาหัวข้อ “การฉีดพลาสติก 4.0-ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ” แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการฉีดพลาสติก เตรียมความพร้อม SME ไทยกับการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ
 
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.
 
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความรู้เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SME ให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติกของไทย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 ราย เพื่อรับฟังความรู้ที่หลากหลายจากวิทยากรในสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล มจพ. และผู้แทนบริษัทภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่มาบรรยายให้ความรู้ตอบโจทย์ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น แนวทางใช้โปรแกรมจำลองการฉีดเพื่อช่วยในขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก การใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมการฉีดชิ้นงานพลาสติก และการนำเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) มาประยุกต์ใช้ในงานแม่พิมพ์ฉีด เป็นต้น

รวมถึงร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์และนำเสนอแนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสนับสนุนงานด้านแม่พิมพ์ และเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาของแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก โดย Dr. Jen-An Chang (ดร.จาง เฉินอัน) จากสมาคมการใช้โปรแกรมทางวิศวกรรมในงานแม่พิมพ์ (Association of CAE Molding Technology) ประเทศไต้หวัน
 
 

อาจารย์สรศักดิ์ วงศ์มณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
 
“โปรแกรม ITAP สวทช.จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการการฉีดพลาสติก 4.0-ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ ด้วยการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวจาก 2 คณะ

ได้แก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ มจพ. และทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สมาคมแม่พิมพ์ของประเทศไต้หวัน ซึ่งทั้งสองทีมนี้จะทำงานร่วมกับโปรแกรม ITAP สวทช. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการตอบโจทย์จุดอ่อนต่างๆ ของผู้ประกอบการ พร้อมเสริมจุดแข็งสำหรับบริษัทที่ต้องการพัฒนาไปด้วยกัน”
 
 
ด้าน อาจารย์สรศักดิ์ วงศ์มณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทยในยุค 4.0 ทำให้ทุกองค์กรต้องเริ่มพัฒนาและให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต

ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องกระบวนการสร้างแม่พิมพ์ฉีด จริงๆ แล้วสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกกระบวนการของการทำแม่พิมพ์ เพราะหากไม่นำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะตามคนอื่นไม่ทัน หรือถ้าอยากเปลี่ยนแปลงยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความแตกต่างด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในประเทศไทยยังมีการใช้เทคโนโลยีจำนวนไม่มากนัก และยังมักจำกัดอยู่ในเฉพาะบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ประกอบการ SME เองควรจะต้องมีการขยับขยายเพื่อมองหาเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์และปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้

โดยในเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการ ทางมหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมือกับ สวทช. โดยโปรแกรม ITAP ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการที่จะเข้าไปให้คำปรึกษา และแนะนำแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงงานหรือในบริษัทของผู้ประกอบการ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีแหล่งของเทคโนโลยีได้กว้างขวางมากกว่าผู้ประกอบการที่มีอยู่
 
 
ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการฉีดพลาสติก 4.0 เพื่อที่จะยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะของผู้ประกอบการ ประกอบด้วยเทคโนโลยีในหลายส่วน เช่น การใช้โปรแกรมจำลองการฉีดเพื่อช่วยในขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกและการแก้ปัญหาการฉีด การใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมการฉีดชิ้นงานพลาสติก การใช้เทคโนโลยี V-line ของเครื่องฉีดพลาสติก การใช้เครื่อง 3D Printing มาประยุกต์ใช้ในงานแม่พิมพ์ฉีด การใช้การออกแบบอัจฉริยะด้วยการจำลองและเทคโนโลยีเทอร์มัลอินฟราเรด (Thermal infrared) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพของชิ้นงานฉีด ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจสอบอุณหภูมิแม่พิมพ์ฉีดด้วยเทคโนโลยีเทอร์มัลอินฟราเรด ตลอดจน การใช้เทคโนโลยีระบบทางวิ่งร้อนและเทคนิคการทำให้แม่พิมพ์ร้อนเย็นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาการฉีดชิ้นงาน ซึ่งเป็นเรื่องของการควบคุมอัตราการไหลขณะฉีดเพื่อช่วยในการฉีดชิ้นงาน เป็นต้น
 
ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการการฉีดพลาสติก 4.0-ยกระดับการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดสู่กระบวนการผลิตแบบอัจฉริยะ สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โปรแกรม ITAP สวทช. โทร. 0-2564-7000 ต่อ 1301, 06-3915-6656 หรืออีเมล: panita@nstda.or.th
 

 
 ที่มา: https://bit.ly/2y7QAxg
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,001
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
677
“เติมพลังความรู้” กับ ..
600
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
573
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
562
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
524
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด