8.0K
29 ธันวาคม 2552

ตรวจชีพจรแฟรนไชส์ไทย ส่องกล้องมองอนาคตปีเสือ 

 
 


 
       ผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงแฟรนไชส์ เคยกล่าวไว้ว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะดีหรือย่ำแย่นั้นให้ดูจากตัวเลขการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะหากตัวเลขการซื้อขายแฟรนไชส์เพิ่มสูงขึ้น หมายถึงสัญญาณบอก สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มสั่นคลอน มีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น หันมาเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งแฟรนไชส์เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่หลายคนใช้เป็นทางลัดในการเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเป็นเจ้าของธุรกิจ
       
       ตลอดปี พ.ศ.2552ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น ตัวเลขการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตขึ้น สวนทางสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จากผลสำรวจของ บริษัทแฟรนไชส์ โฟกัส จำกัด ที่ได้ทำการสำรวจเจ้าของกิจการแฟรนไชส์จำนวน 100 ราย เกี่ยวกับการขยายสาขาที่ยอดขาย ท่ามกลางความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปี 2552 พบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์กลับได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย คิดเป็นอัตราเพียง 14% ในขณะที่ส่วนใหญ่ 72% ยังมียอดขายที่เพิ่มขึ้น และอีก 14% มียอดขายที่คงที่
 


       
ชี้ชุมชนเมืองบูม หนุนแฟรนไชส์โตต่อเนื่อง     
  
       นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร กรรมการผู้จัดการบริษัท แฟรนไชส์โฟกัส จำกัด เปิดเผยว่า การที่ยอดขายในธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการขยายสาขาที่รวดเร็วของผู้ประกอบการเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ รวมถึงการเติบโตของชุมชนเมืองในต่างจังหวัด ที่ความเจริญเข้าไปถึง ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาศัยการเจริญเติบโตดังกล่าวขยายธุรกิจตามไปด้วย
      
       ทั้งนี้ มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ จากสุ่มตัวอย่างกว่า 100 บริษัทแฟรนไชส์ ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก พบว่าในปีพ.ศ. 2549 มูลค่าตลาดรวมในธุรกิจแฟรนไชส์มีมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ พ.ศ. 2550 มีมากกว่า 3 ล้าน ล้านบาท
       
       “จากตัวเลขดังกล่าว ถือว่า เป็นมูลค่าที่สูงมากเนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ มีบริษัทหลายระดับ เช่น กลุ่มบริษัท แฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ที่มียอดขายต่อปี หลักหลายพันล้าน ได้แก่ แฟรนไชส์ ที่อยู่ในเครือ โรงแรม เช่น ฮิลตัน มาริออท , ช้อยส์โฮเต็ล เป็นต้น และมีบริษัทแฟรนไชส์ บางรายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่า การขายต่อปี สูงเป็นหลักพันล้าน ได้แก่ พิชซ่าฮัท ,เดอะพิชซ่าคอมปานี , ซีพีค้าปลีก, สามารถ ไอโมบาย เป็นต้น หรือ เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแมคไทย ,สยามแฟมิลี่ มาร์ท ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าการขายต่อปีเป็นหลักหลายพันล้าน เช่นเดียวกัน ดังนั้นเฉพาะกลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้ ทำให้มูลค่าตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ สูงตามไปด้วย”
      
       “ส่วนกลุ่มบริษัท แฟรนไชส์ ที่มีมูลค่าตลาด ระดับกลาง ที่มีมูลค่าการขายต่อปี อยู่ในระดับ 100 ล้านบาท เช่น เชสเตอร์กริลล์ , แบล็คแคนยอน และ ดีดีมาร์ท ในขณะที่กลุ่มแฟรนไชส์ ขนาดเล็ก มีมูลค่ารายได้ต่อปีที่ไม่ถึง 100 ล้านนั้น มีจำนวนมากกว่า 200 บริษัท ดังนั้น เห็นได้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก” กรรมการผู้จัดการบริษัท แฟรนไชส์ โฟกัส จำกัด กล่าว

 

  

 
 
ฟันธงปี 53โอกาสทองแฟรนไชส์
       
       ด้านนายสิทธิชัย ทรงอธิกมาศ กรรมการกิตติมาศักดิ์สมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย มองสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ในตลอดปี 2552 ว่า แม้ในช่วงต้นปีธุรกิจแฟรนไชส์จะได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจแฟรนไชส์ถึงจุดตกต่ำที่สุด โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูงในระดับหลักแสนและหลักล้านจะได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งในเรื่องยอดขายและการขยายสาขา แต่ต่อมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เร่งฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ส่งผลธุรกิจแฟรนไชส์พลิกฟื้นกลับมาได้
       
       ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กที่ลงทุนในระดับหลักหมื่นได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้พนักงานกินเงินเดือนหลายรายที่บริษัทประสบปัญหา ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจแทน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เงินลงทุนไม่สูงได้รับความนิยม ดังนั้น ในรอบปีที่ผ่าน ธุรกิจแฟรนไชส์จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
      
       ส่วนในปี 2553 ที่จะถึงนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของภาคธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยังเติบโตได้ดี ภายใต้เงื่อนไข สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจยังคงที่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ด้วย โดยปีหน้าถือว่าปีแรกของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งการลงทุนจากต่างชาติอาจไม่ได้ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจพลิกฟื้นทันที แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
      
       ทั้งนี้ สาขาธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าประเภทฟุ่มเฟือย และมีราคาสูง โดยเฉพาะธุรกิจประเภทบริการ เช่น สปา เพราะยิ่งสภาพเศรษฐกิจไม่ดีผู้คนจะลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากนักลง แต่หากเป็นธุรกิจสปาขนาดเล็กที่ใช้เลินลงทุนไม่สูงมากนัก หรือธุรกิจนวดฝ่าเท้าตามท้องถนนจะยังคงดำเนินต่อไปได้ เพราะเมื่อเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็จะสามารถปรับตัวได้เร็วรับสถานการณ์เศรษฐกิจได้ทันท่วงที
       
       ส่วนแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2554 คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ จะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง หลังจากสภาพเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กบ้าง เนื่องจากคนเริ่มหันเข้าสู่วงจรการเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมอีกครั้ง ส่งผลให้การขยายแฟรนไชส์ขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดี

 

  

 
 
เปิดช่องแฟรนไชส์ไทย บุกโกอินเตอร์
       
       “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่เก่าแก่ แต่ยังคงยึดถือและนำมาปรับใช้ได้ดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องอาศัยการขยายสาขาเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ในขณะที่ช่องทางการโกอินเตอร์ ก็ยังเป็นเป้าหมายในอนาคตของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของหลายๆ คน ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือข้อมูลเชิงลึก ในเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับ และสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างถ่องแท้ก่อนบุกถ้ำเสือ ซึ่งตลาดอันดับต้นๆ ที่ผู้ประกอบการไทยเล็งไว้ คือ ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย จากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
       
       เริ่มต้นที่ประเทศจีน ถือว่ากำลังเนื้อหอมในเรื่องของธุรกิจแฟรนไชส์ แม้ว่าระบบแฟรนไชส์จะเพิ่งเข้าสู่ประเทศจีนได้ไม่นานนัก แต่กลับมีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 2,800 ราย และ มีอัตราเติบโตมากกว่า 7% ต่อปี โดยมีร้านสาขาที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์มากกว่า 230,000 แห่ง โดยมีอัตราการเติบโตมากกว่า 15% ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงของจีน จะเป็นร้านอาหาร และร้านอาหารในสไตล์หม้อร้อนของมองโกล รวมถึงแฟรนไชส์ประเภทธุรกิจก่อสร้าง ที่ถึงแม้ว่าแฟรนไชส์ในจีนจะมีการเติบโตสูง แต่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์จีน ยังไม่นิยมขยายตลาดในต่างประเทศมากนัก แต่มุ่งขยายร้านในมณฑลต่างๆ ของจีนมากกว่า เพราะประเทศจีนก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนให้ความสนใจในเรื่องของแฟรนไชส์มาก และก็มีการออกกฎหมายแฟรนไชส์ จุดเด่นในเรื่องกฎหมายนี้ของจีน คือ เรื่องที่ผู้ขายแฟรนไชส์จะต้องมีร้านที่ดำเนินงานเองอย่างน้อย 2 แห่ง ก่อนขายแฟรนไชส์ ซึ่งต้องแสดงหลักฐานในเรื่องนี้ด้วย และแนวโน้มการเติบโตเรื่องแฟรนไชส์ในจีน นี้ยังคงเป็นการเติบโตที่ดีมาก หรืออาจจะนับได้ว่าดีที่สุดในเอเชียก็ว่าได้
 

       
       สำหรับแฟรนไชส์ในอินเดีย ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก คนอินเดียยังไม่ค่อยรู้จักระบบแฟรนไชส์มากนัก แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จของอินเดียคือ กลุ่มของร้านเสื้อผ้า เพราะชาวอินเดียขึ้นชื่อว่ามีฝีมือเรื่องการตัดเย็บ และมีแฟรนไชส์ในกลุ่มของไอที ที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ อย่างเช่นเรื่องของการศึกษาไอที เป็นต้น อินเดียเป็นตลาดที่เปิดสำหรับธุรกิจใหม่ แต่การทำธุรกิจกับอินเดีย จะมีความซับซ้อนในเรื่องของวัฒนธรรม และเรื่องของกฎหมายที่ผู้ลงทุนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
       
       ส่วนแฟรนไชส์ในเวียดนาม กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะจากข้อมูลทางประชากรศาสตร์ในประเทศเวียดนามที่มีประชากรประมาณ 86 ล้านคน ซึ่ง 58% ของประชากรส่วนใหญ่ มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และอีก 80% อายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นคนหนุ่มสาว รวมถึงมี 2-3 เมือง เป็นเมืองที่กำลังพัฒนา อย่างเช่น โฮจิมินห์ เหมือนนิวยอร์กของเวียดนาม ฮานอยเป็นเหมือนวอชิงตัน ถึงแม้จะเคยเหตุการณ์เงินเฟ้อเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็นับได้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังค่อนข้างดี เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีการเติบโต ซึ่งในเรื่องของธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

 

  

 
 
       ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ที่เก่งกาจในเรื่องการค้าในภูมิภาคเอเชียอันดับต้นๆ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ ที่จะมีชาวสิงคโปร์เป็นผู้ได้สิทธิ์ ในระดับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถ้าหากใครต้องการซื้อแฟรนไชส์ในย่านนี้ จะต้องผ่านบริษัทที่สิงคโปร์ โดยปัจจุบันในประเทศสิงคโปร์มีบริษัทแฟรนไชส์อยู่ประมาณ 500 ราย ในจำนวนนี้ มีแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ของสิงคโปร์เองอยู่ประมาณ 250 ราย ซึ่งแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Tung lok แฟรนไชส์ร้านอาหารจีนที่มีสาขาทั้งสิงคโปร์ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย, แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น Waraku และยุโรป ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ทันสมัย, แฟรนไชส์โรงเรียนสำหรับเด็กหลายแบรนด์ , ร้านอาหารไทย Thai Village เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก การขยายตัวทางการค้า โดยส่วนใหญ่ก็จะมุ่งออกสู่ต่างประเทศทั้งสิ้น แนวโน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ในสิงคโปร์ ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
       
       ส่วนประเทศไทย อัตราการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ นั้นต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของผู้ขายแฟรนไชส์ ยังคงอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ เติบโตประมาณ 10 % สำหรับอัตราการเติบโตของ แฟรนไชซี ยังค่อนข้างมีการขยายตัวที่ดี ในอัตราที่สูงกว่า 25% ทั้งนี้เนื่องมาจาก การว่างงานของทุกระดับ ตลอดจนการผลักดันเป้าหมายการเติบโตของแต่ละบริษัท อีกทั้งการเติบโตตามการขยายตัวของแหล่งชุมนุมชน และการส่งเสริมของภาครัฐในเรื่องของแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 
 


อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
950
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
651
“เติมพลังความรู้” กับ ..
592
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
563
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
554
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
517
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด