27K
13 ตุลาคม 2552

"เบอร์เกอร์ คิง" ยกเครื่องธุรกิจ ปรับสู่ "Fast Casual" เน้นนั่งกินในร้าน


ภาพจาก www.facebook.com/burgerking
 

ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ เชนฟาสต์ฟู้ดต้องหาทางปรับตัว เพื่อดึงเงินจากกระเป๋าลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การหั่นราคา การออกเมนูสุดคุ้ม รวมทั้งการหาจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง

"เบอร์เกอร์ คิง" เชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่จากสหรัฐ เป็นตัวอย่างล่าสุดของการดิ้นรนจากภาวะเศรษฐกิจขาลง โดยยกเครื่องร้านใหม่ เพื่อลดโทนจากการเป็นเชนฟาสต์ฟู้ดที่เน้นกินด่วน มาเป็นร้านสไตล์ fast casual ที่ให้บรรยากาศของร้านอาหาร แต่ยังคงความรวดเร็วไว้ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนยอดขายในร้าน มากกว่ายอดขายแบบไดรฟ์ทรู

เอพี รายงานว่า เบอร์เกอร์ คิง เพิ่งเปิดตัวร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดที่จะยกเครื่องแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขา 12,000 แห่ง ทั่วโลก ให้ดูดีและทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายในที่เน้นใช้อิฐและโลหะ รวมถึงเมนูไฮเทคที่ใช้จอแอลซีดี

"จอห์น ชิดเซย์" ซีอีโอของเบอร์เกอร์ คิง กล่าวว่า นี่จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นร้านอาหารระดับบนมากขึ้น

โดยร้านสไตล์ใหม่ที่เรียกว่า "20/20" จะใช้ทำให้บรรดาผู้ซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งคิดเป็น 90% ของสาขาทั้งหมดของเบอร์เกอร์ คิง เสียค่าใช้จ่ายราว ๆ 300,000-600,000 ดอลลาร์ ซึ่งในช่วงแรกนี้จะมีร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ 60 แห่งทั่วโลก และคาดว่าจะปรับดีไซน์ร้านภายในสิ้นปีหน้าอีก 75 แห่ง ก่อนจะขยายไปทุกสาขา ขณะที่สาขาใหม่ ๆ ที่จะเปิดเพิ่มก็จะเป็นแบบใหม่ทั้งหมด
 


ภาพจาก www.facebook.com/burgerking

"ชิดเซย์" กล่าวว่า การปรับโมเดลร้านใหม่ช่วยทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 12-15% ในขณะที่ร้านอาหารพากันล้มหายตายจากไป แต่ร้านที่สร้างขึ้นใหม่บนทำเลเดิมจะมี ยอดขายเพิ่มขึ้นมากถึง 30%

ผู้คนในแวดวงฟาสต์ฟู้ดมองว่า การปรับดีไซน์ร้านให้ดูล้ำและใช้วัสดุที่ทำให้รู้สึกแข็งขรึม อาจจะโดนใจลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์เบอร์เกอร์ คิง อย่างบรรดาหนุ่ม ๆ ที่ ชื่นชอบเมนู "วอปเปอร์ส" และเบอร์เกอร์ สเต๊ก แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางรายที่ยังกังขาว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยปั๊มยอดขายได้จริงหรือไม่ และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะยอมควักเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ท่ามกลางเศรษฐกิจง่อนแง่นเช่นนี้

"อาร์. เจ. ฮอตโตวี" นักวิเคราะห์จาก มอร์นิ่งสตาร์ เห็นว่า การปรับรูปแบบร้านอาจจะทำให้ลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้น แต่คงจะไม่ได้ทำให้พวกเขายอมจ่ายเพิ่มขึ้น

น่าสนใจว่า โดยทั่วไปร้านฟาสต์ฟู้ดจะมีรายได้เกือบ 2 ใน 3 จากธุรกิจไดรฟ์ทรู หรือซื้อไปกินนอกร้าน แต่การตกแต่งภายในร้านให้ดึงดูดก็อาจช่วยให้เบอร์เกอร์ คิง สามารถแข่งกับเชนคู่แข่งที่เน้นนั่งกินในร้าน ซึ่งผู้บริโภคมักจะคิดว่าร้านประเภทนี้เสิร์ฟอาหารที่มีคุณภาพมากกว่า และบรรยากาศดีกว่าร้านฟาสต์ฟู้ด
 

"รอน พอล" ประธานบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาหาร "เทคโทมิก อิงก์" ระบุว่า การปรับดีไซน์ร้านครั้งนี้สะท้อนว่า เบอร์เกอร์ คิง ต้องการจะแข่งขันกับเชนร้านอาหารแบบ fast casual อาทิ ชิโปเล สตาร์บัคส์ และ พาเนรา ซึ่งลูกค้ามักจะนึกถึงเมื่อไม่อยากกินอาหารฟาสต์ฟู้ด

"คนในแวดวงธุรกิจฟาสต์ฟู้ดคงจะตระหนักอยู่แล้วว่าได้สูญเสียลูกค้าไปให้กับผู้เล่นในตลาด fast casual อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยับของเบอร์เกอร์ คิง ดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งกินในร้าน โดยใช้การตกแต่งบรรยากาศให้น่าดึงดูดใจ"

ความพยายามข้างต้นอาจจะช่วยให้ เบอร์เกอร์ คิง เชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ แตกต่างจากคู่แข่งหมายเลข 1 "แมคโดนัลด์" และคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่หันมาเน้นเบอร์เกอร์ขนาดยักษ์และคุณภาพดี เพราะอยากคว้าส่วนแบ่งในตลาดเบอร์เกอร์ที่กำลังเติบโตในยามยาก โดยมีมูลค่าราว 100 พันล้านดอลลาร์ในตลาดสหรัฐ

ซีอีโอของเบอร์เกอร์ คิงเองก็ยอมรับว่า ทั้งหลายนี้เป็นความจำเป็นที่จะเพิ่มขีด แข่งขันเพื่อต่อกรกับคู่แข่งให้ได้

นอกเหนือจากการปรับดีไซน์แล้ว เบอร์เกอร์ คิง ยังไม่ลืมที่จะทุ่มเทกับเมนูสุดคุ้ม อาทิ ดับเบิลชีสเบอร์เกอร์ ราคา 1 ดอลลาร์ รวมทั้งการใช้เตาอบแบบใหม่ที่ช่วยประหยัดพลังงาน และเอื้อต่อการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต


อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ

 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,072
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
763
“เติมพลังความรู้” กับ ..
613
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
587
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
574
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
526
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด