4.3K
4 กรกฎาคม 2549
" ระดม 40 แฟรนไชส์ชื่อดังกระตุ้นลงทุนหาดใหญ่ ล้างภาพเหตุไม่สงบ " 
 
 
 
กรมการค้าจัดตลาดนัดพบธุรกิจแฟรนไชน์กว่า 40 แฟรนไชส์ เตรียมความพร้อมให้แก่ผู้สนใจประกอบการธุรกิจ เสริมสร้างโอกาสทางด้านการตลาด ซึ่งมีเจ้าของธุรกิจพร้อมให้คำแนะนำ และศึกษาวิเคราะห์ตลาดก่อนขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคต่อไป ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นความสนใจและสร้างบรรยากาศการลงทุน หลังจากที่ได้รับผลกระทบด้านความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 
 
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จัดงาน Franchise B2B Thailand Fair 2006 ณ ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ และผู้ที่สนใจลงทุนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ที่จะประกอบธุรกิจ โดยมีธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 40 ธุรกิจ ทั้งด้านความงาม อาหาร การศึกษา คอมพิวเตอร์ มินิมาร์ท พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรและสถาบันการเงินต่างๆ เช่น SME Bank และธนาคารออมสินมาให้บริการด้านสินเชื่อธุรกิจ 
 
 

นายพิสุทธิ์ จรินทิพย์พิทักษ์ เจ้าของแฟรนไชส์รองเท้า NUALJIRA เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจรองเท้านั้นเกิดจากภรรยาคือคุณนวลจิราเป็นคนเท้าเล็ก หาไซส์รองเท้าได้ยาก จึงหันมาทำธุรกิจด้านรองเท้าเองเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน และใช้ชื่อแบรนด์ “NUALJIRA” ซึ่งเป็นชื่อไทยว่า “นวลจิรา” นั่นเอง แต่ก็สามารถออกเสียงแบบตะวันออกกลางว่า “นูจิร่า” ได้เช่นกัน โดยมีความโดดเด่นด้านการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร และรับสั่งติดรองเท้าไซส์เล็ก-ใหญ่พิเศษ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันมี 7 สาขา ในกรุงเทพฯ พร้อมกับพัฒนาเป็นระบบแฟรนไชส์ 
 
ทั้งนี้ สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีขนส่งสายใต้ ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการซึ่งมาอบรมที่กรุงเทพฯ จะซื้อรองเท้าสวมแบบทำงานมากขึ้น เนื่องจากมีความโดดเด่น ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่ 200 -1,000 บาท ครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งการออกบูธในงานนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการออกตลาดใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แม้จะไม่หวังว่าจะขายแฟรนไชส์ได้ภายระยะเวลาที่จำกัด แต่ถือเป็นการเปิดตัวให้ประชาชนรู้จักมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่ม 3 จังหวัดที่หันมาให้ความเชื่อมั่น และเจ้าของกลุ่มธุรกิจเครื่องแต่งกายอาจจะรับสินค้ามาจำหน่ายในร้าน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็มีโอกาสพัฒนามาซื้อแฟรนไชส์เต็มรูปแบบในที่สุด 
 
นายพิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะสร้างธุรกิจได้ดังทุกวันนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์ การทำงานอย่างจริงจังก่อนจะพัฒนาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจหากมีความตั้งใจจริง และศึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจก็จะลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ 
 
“ สำหรับผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจนั้นก็ต้องศึกษาความเสี่ยงของธุรกิจว่ามีอะไรบ้าง และต้องมีความพยายาม อดทน หากเปรียบเทียบได้กับการทำงานของเอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟฟ้าที่พากเพียรลองผิดลองถูก เมื่อเจอความผิดพลาดจึงแก้ไขนับครั้งไม่ถ้วยจนกระทั่ง เจอกับความสว่างซึ่งอาจจะเป็นครั้งที่ 100 ก็เป็นได้ ” นายพิสุทธิ์ กล่าว 
 
 

ด้านนายชัยรัตน์ ตรงสุวรรณกุล ผู้บริหารการตลาด บริษัทขนมแม่เอย-เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด เปิดเผยว่า ขนมแม่เอยได้เปิดดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.2546 ด้วยผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นคนไทยทั้งสิ้น ซึ่งมีสินค้าเป็นขนมเปี๊ยะหลากไส้ เน้นรสชาติและชื่อความเป็นไทย ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างชาติ ขณะที่ขนมพายมีความน่ารักในรูปแบบการ์ตูนต่างๆ นั้นจับกลุ่มวัยรุ่นและคนไทย โดยรวมมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 3,000 – 20,000 ชิ้นต่อวัน ปัจจุบันมีสาขา 10 แห่ง ใน จ.กรุงเทพฯ จำหน่ายในประเทศ 80% และส่งออกต่างประเทศทั้งยุโรป-เอเชียประมาณ 20% 
 
นายชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า การร่วมงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวขนมแม่เอยใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้รับทราบข้อมูลมาก่อนว่าตลาดอาหารใน จ.สงขลา นั้นได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เน้นการบริโภค พักผ่อน และท่องแสงสี ขณะที่ต้องยอมรับว่าการเจาะตลาดนั้นต้องมีความพยายามและสร้างความแปลกใหม่ เนื่องจากคนหาดใหญ่นั้นมีความภักดีต่อแบรนด์สินค้าสูงกว่าพื้นที่อื่น ดังนั้น จึงต้องอาศัยข้อมูลจากการวิเคราะห์ สัมผัสวิถีชีวิต และสังเกตจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเปิดตัวขนมแม่เอยในจ.สงขลาในครั้งนี้ จึงเป็นการหาข้อมูลของตลาดและพื้นที่เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับวิถีชีวิต ก่อนที่จะมีการบุกเรื่องตลาดแฟรนไชส์มากขึ้น 
 
“ก่อนจะจำหน่ายแฟรนไชส์ขนมแม่เอยนั้น ต้องมีการหาข้อมูลและลงพื้นที่จริงก่อน เพราะทุกขั้นตอนของการทำงานแบบเดียวกันหมด แต่ใช้กันคนละระบบเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีการเตรียมรูปแบบแฟรนไชส์ไว้หลายแบบเพื่อศึกษา มีการจัดเมนูเป็นเซ็ตพร้อมเครื่องดื่มชาจากทั่วโลกเพิ่มอรรถรส โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดสาขาให้ครบ 40 แห่งก่อน เพื่อในอนาคตจะมีร้านเล็กๆ ทุกหัวมุมของโลก เรียกว่าถ้าเห็นหัวมุมถนนเมื่อไหร่ที่ไหนก็จะมีขนมแม่เอยนั่น” ชัยรัตน์กล่าว 
 
กลยุทธ์การอย่างหนึ่งที่สร้างความสนุกและติดตามสินค้าอย่างสร้างสรรค์ นั่นก็คือ หากสะสมกล่องบรรจุขนมเปี๊ยะครบ 4 กล่อง สามารถนำมาประดิษฐ์ภาพวิถีชีวิตไทยรูป 3 มิติ ได้อย่างสวยงาม หรือหากไม่มีฝีมือในการทำก็สามารถสะสมให้ครบ 20 กล่อง เพื่อรับแลกฟรีพร้อมใส่กรอบรูป 
 
สำหรับงาน Franchise B2B Thailand Fair 2006 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2549 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เฟส 3 ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์
 
 
 
ที่มา: นสพ.ผู้จัดการ 
 
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
937
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
638
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
553
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
516
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด