2.9K
18 กรกฎาคม 2560
‘นุชบา’ คลัสเตอร์ผ้าขาวม้าชุมชนจากดิน…สู่ตลาดออนไลน์ระดับโลก 

 
ความเข้มแข็งของธุรกิจท้องถิ่น นอกจากสินค้าจะดีมีคุณภาพ อันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านที่ช่วยกันพัฒนาสินค้า ยังต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดอย่างแข็งขันร่วมกันในระดับจังหวัด ธุรกิจตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า แบรนด์ ‘นุชบา’ ของ จ.อำนาจเจริญ ที่กำลังเป็น Talk of the town ในเวลานี้ 
 
ส่งต่อถึงภาครัฐ ไม่รอช้ารุดเข้าไปส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่เข้ามาปลุกชีพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก จนทุกวันนี้ชาวบ้านทอผ้าเพื่อขายกันแทบไม่ทัน 
 
 
‘นุชบา’ สร้างคลัสเตอร์ผ้าขาวม้าเงินล้าน 
 
เบื้องหลังความสำเร็จของผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า แบรนด์ ‘นุชบา’ ต้องยกให้กับผู้ที่เพียรสู้สร้างฝันอันยิ่งใหญ่ให้กลายเป็นจริง คุณธนิดา คุณณัฐณิชา ที่ปรึกษา หจก.เคทีพีกรุ๊ป ผู้ที่จุดพลุสร้างชื่อเสียงผ้าขาวม้าพื้นถิ่นให้กลายเป็น ‘ผ้าขาวม้าเงินล้าน’ แปรรูปเป็นกระเป๋าทรงเก๋ให้โลดแล่นอวดความงามแบบไทยแท้บน Lazada.co.th 
 
 
“เรามีต้นขั้วทางความคิดว่า ผ้าขาวม้าคือมรดกตกทอดที่ได้รับจากบรรพบุรุษแดนอีสาน และใช้ได้สารพัดประโยชน์จนกลืนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยก่อน แต่กาลเวลากำลังจะทำให้ผ้าขาวม้าเลือนหาย จึงบอกกับตัวเองว่าต้องลุกขึ้นมาปลุกให้ผ้าขาวม้าคงอยู่ต่อไป แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ มันใหญ่เกินไป ต้องอาศัยชุมชนเป็นแรงหนุน นุชตัดสินใจลงพื้นที่ปลุกระดมทำความเข้าใจกับชุมชน อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนด้วยความจริงใจต่อกัน

ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เราจะทำร่วมกันนั้นจะสร้างมูลค่าให้ผ้าขาวม้ามากมายแค่ไหน เพื่อปลายน้ำนั่นคือรายได้และอาชีพที่ยั่งยืน และนี่จึงเป็นจุดกำเนิดแบรนด์ ‘นุชบา’ แบรนด์ที่ตั้งมั่นสืบทอดผ้าขาวม้ามรดกอีสาน โดยไม่ทิ้งแนวคิดว่าต้องเป็นสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ทุกวันค่ะ”  
 
 
ธุรกิจสานฝันของเอสเอ็มอีรายนี้เริ่มต้นจากการนับศูนย์ ทอและผลิตสินค้าจากผ้าขาวม้าสะสมของตัวเองขาย ทางออนไลน์ ด้วยความที่คนกันเองซื้อ คนกันเองขาย ตลาดจึงไม่โตอย่างที่คิด คุณธนิดาจึงปรับกลยุทธ์ใหม่ หันหน้าเข้าหาหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายท้องถิ่นมากขึ้น โดยเริ่มส่งผลงานเข้าประกวด OTOP และออกบูธโชว์ศักยภาพในงานแสดงสินค้าต่างๆ ด้วยลวดลายผ้าขาวม้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะของแบรนด์ ‘นุชบา’ จึงทำให้มีออเดอร์หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย รายได้ที่เข้ามาถูกกระจายไปยังชาวบ้าน ผ่านการรับซื้อผ้าขาวม้าทอมือ วัตถุดิบหัวใจหลักอันสำคัญ
 
 
“เดิมทีชาวอำนาจเจริญมีกลุ่มทอผ้ากว่า 100 ชุมชน จาก 7 อำเภอ แต่เราเลือกเข้าถึงเฉพาะกลุ่มทอผ้าขาวม้า เพราะเป็นลายผ้าที่เรารักและชื่นชอบเป็นการส่วนตัว สำหรับกลุ่มที่ทอผ้าขาวม้าในพื้นที่มีอยู่ 20-30 กลุ่ม จาก 43 ชุมชน เราพยายามดึงความสามารถในการทอผ้าที่เป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนออกมา อย่างตำบลดงมะยาง อำเภอลืออำนาจ จะทอผ้าสีธรรมชาติได้สวยมาก อำเภอปทุมราชวงศาจะเก่งทอผ้าลายน้ำไหลหรือน้ำหลาก อำเภอชานุมานจะถนัดทอผ้าสีย้อมคราม ลวดลายดั้งเดิม จะเห็นว่าผ้าขาวม้าทอมือเรารับซื้อมาจากหลายที่ เพราะคำนึงความต้องการของตลาดที่แตกต่างกันนั่นเอง
 

ส่วนการออกแบบตัดเย็บเราใส่ใจในความปราณีต ฝีมือต้องไว้ใจได้ 100% เพราะบางออเดอร์เร่งด่วนมาก ถ้าไม่ชำนาญจริงทำไม่ได้ โชคดีที่เราได้เจอกลุ่มชาวบ้านอำเภอหัวตะพาน ที่ชำนาญและมากประสบการณ์ตัดเย็บผ้าเป็นทุน ทุกฝีเข็มมีแต่ความเมตตาที่ชาวบ้านมีให้กับแบรนด์ ‘นุชบา’ ลูกค้าหลายคนชมว่าผ้าสีสวย ตัดเย็บ-คัตติ้งดี ใช้งานได้จริง รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นผ้าขาวม้ามรดกที่ตนทอ ถูกแปรรูปเป็นกระเป๋า เสื้อผ้าที่สวยงาม และตลาดตอบรับเป็นอย่างดี”
 
 
แบรนด์ ‘นุชบา’ ใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี  สามารถสร้างรายได้จากตลาดออนไลน์กว่า  500,000 บาท สายป่านสินค้าชุมชนยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อคุณธนิดาเดินหน้าขยายฐานการผลิตกระเป๋าเต็มที่ ซึ่งในช่วงธุรกิจเติบโตเป็นต้นกล้านี้ เธอได้แรงหนุนช่วยค้ำยันจากเงินทุน SME Development Bank เพื่อขยายไลน์ผลิตสินค้าอื่นๆ อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้าสำเร็จรูป หมอน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าผืน ตุ๊กตา ผ้าพาดเตียง ฯลฯ

โดยราคาเริ่มต้นที่ 20-790 บาท ด้วยสินค้าดีราคาถูกกว่าคุณภาพที่ลูกค้าอ้าแขนรับ แบรนด์ ‘นุชบา’ จึงได้รับคัดเลือกวางจำหน่ายที่ร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop  ปั้มน้ำมัน ปตท. สาขาหน้าศากลาง และสาขา จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้สินค้าชุมชน  
 
 
นอกจากเป็นไม้ค้ำยันช่วยประคองแบรนด์ ‘นุชบา’ แล้ว คุณธนิดายอมรับจากใจเลยว่า SME Development Bank ยังช่วยเป็นป๋าดันจนสินค้าเปรี้ยง แจ้งเกิดชั่วข้ามคืน โดยเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ 12 รายทั่วประเทศ จัดแสดงโชว์สินค้าในนามลูกค้าธนาคาร ณ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนออกร้านจำหน่ายสินค้าจริงในตลาดคลองผดุงกรุงเกษม และแล้วสิ่งที่ไกลเกินจะฝันก็เกิดขึ้นจริง เมื่อได้รับเกียรติจากท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมในคุณภาพสินค้าแปรรูปจากผ้าขาวม้าเมืองอำนาจเจริญ

พร้อมถ่ายภาพร่วมกับสินค้าแบรนด์นุชบา รูปคู่ในวันนั้นส่งผลให้กระเป๋าแบรนด์ ‘นุชบา’ ได้รับความสนใจยอดขายทะลุเป้า บางเดือนสูงถึงหลักล้านบาทก็มี พร้อมออเดอร์หลั่งไหลมาจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ กว่า 80% ขณะที่ออเดอร์จากออนไลน์อยู่ที่ 20% ล่าสุดสามารถติดปีกผ้าขาวม้าไทยวางขายใน Lazada.co.th ตลาดออนไลน์ใหญ่ระดับโลกได้สำเร็จ
 
 
“ฝันที่ยิ่งใหญ่จนประสบความสำเร็จทุกวันนี้ เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีชุมชนชาวบ้านช่วยเป็นแขนขา ควงคู่ภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนนำพาไปถึงเป้าหมาย ทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามาต้องขอบคุณจริงๆ ก้าวต่อไปของเราก็ยังคงพึ่งพาภาครัฐเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเนื่อง เราได้รับเลือกเสนอชื่อเข้าโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ดอกเบี้ยเพียง 1% จะได้รับเงินทุนหรือไม่...ไม่รู้ เรารู้แต่ว่าธุรกิจที่ได้เสนอชื่อคือธุรกิจที่มุ่งพัฒนาชุมชน อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ มีคนมองเห็นว่าเราทำอะไรแค่นี้ก็ดีใจมากแล้วค่ะ อนาคตอยากสานฝันพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเหมือน ‘จิม ทอมป์สัน’ คิดถึงผ้าขาวม้าต้องคิดถึงเมืองอำนาจเจริญ จะสร้างเป็นอาณาจักรโชว์การทอผ้า เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งสร้างงาน หวังส่งต่อสู่ลูกหลานเป็นธุรกิจ Social Enterprise จากรุ่นสู่รุ่น” คุณธนิดากล่าวพร้อมรอยยิ้ม น้ำลื่นเอ่อในแววตา          
 
หอการค้าฯ หนุน SME เพิ่มมูลค่าสินค้า
 
นายวินัย มีชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอำนาจเจริญ และกรรมการบริษัทประชารัฐอำนาจเจริญ กล่าวและเสริมว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ตรงกับนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่หันมาพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด และสร้างความคึกคักกระตุ้นให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประจวบกับโครงการประชารัฐอำนาจเจริญต้องการส่งเสริมอาชีพทอผ้าขาวม้า ‘นุชบา’ จึงมีคุณสมบัติที่สอดรับกับเงื่อนไขของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าแบรนด์นี้ต้องได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อเข้าร่วมกองทุน
 
 
“ผมมองว่าผ้าขาวม้าของอำนาจเจริญมีโอกาสที่จะโกอินเตอร์ได้ อย่างการนำผ้าขาวม้าไปเดินแฟชั่นโชว์ที่ญี่ปุ่น หรือเวทีต่างๆ ในประเทศ ร่วมถึงผู้บริหารระดับสูงก็เริ่มหันมาสวมใส่เสื้อที่ทำจากผ้าขาวม้า ในระยะยาวผมต้องการส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวสอนลูกหลานให้เรียนรู้การทอผ้า หรือในสถานศึกษาควรเพิ่มหลักสูตรการทอผ้าเข้าไป เพื่อรองรับงานในชุมชนที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ซึ่งสิ่งที่แบรนด์นุชบาทำอยู่สามารถตอบโจทย์ได้ไม่ยาก” 
 

 

 
สนใจผลิตภัณฑ์ หจก.เคทีพีกรุ๊ป ผ้าขาวม้าแบรนด์ ‘นุชบา’ ติดต่อ โทร. 08 0333 8399 สำหรับผู้ที่สนใจเข้าถึงกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เป..
4,967
ชีสซี่ฟราย สแน็ค เปิดต..
4,007
เริ่มแล้ว! งานแฟรนไชส์..
2,892
แรงจริง! #แฟรนไชส์ ก๋ว..
1,607
พบบูธ “ก๋วยเตี๋ยวเรือป..
985
ธงไชยผัดไทย ร่วมกับ 7-..
974
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด