3.7K
16 มิถุนายน 2560
ปั๊มน้ำมันพีทีจับมือสามมิตร ผุดธุรกิจศูนย์ซ่อมรถบรรทุก

 
ภาพจาก goo.gl/tf1Ec3

ปั๊มน้ำมันพีทีปรับกลยุทธ์ธุรกิจมุ่งสู่ธุรกิจ Nonoil ตั้งเป้าอีก 5 ปี ธุรกิจเสริม "กาแฟพันธุ์ไทย-ร้านสะดวกซื้อ Max Mart" ทำรายได้แซงหน้าน้ำมัน 60% จับมือ "สามมิตรมอเตอร์" ลงทุน 100 ล้าน ผุดศูนย์บริการรถบรรทุก "Pro-truck" ปั๊มสีคิ้วแห่งแรก ส่วนปาล์มคอมเพล็กซ์พร้อมผลิต B100 ไตรมาส 3 ปีนี้
 
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานครบวงจร หรือที่รู้จักกันดีในนามสถานีบริการน้ำมันพีที (PT) กล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ว่า ต้องการลดความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน ประกอบกับ "ค่าการตลาด" ที่ลดต่ำลง

ดังนั้นบริษัทพีทีจีฯจึงหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีก หรือ Nonoil มากขึ้นด้วยการวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2565 กำไรจากธุรกิจเสริม (Nonoil) จะอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 60 ขณะที่กำไรจากการจำหน่ายน้ำมันจะอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 40 และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว บริษัทพีทีจีฯจึงได้เตรียม "แผนธุรกิจ"

เริ่มจากการขยายจำนวนสถานีน้ำมันพีทีทั่วประเทศจากปัจจุบันที่ 1,436 แห่ง เป็น 1,800 แห่งภายในสิ้นปี 2560 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 4,000 แห่งให้ได้ภายในปี 2565 (ปัจจุบันบริษัท ปตท.มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 1,692 แห่ง) นอกจากนี้บริษัทจะทำการขยายธุรกิจเสริมคู่ขนานกันไปกับการขยายจำนวนสถานีบริการพีที ประกอบไปด้วย
 
มุ่งสู่ธุรกิจเสริม Nonoil
 
1) การขยายร้านกาแฟแบรนด์ "พันธุ์ไทย" คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะขยายได้รวม 200 สาขา และจะขยายเพิ่มเป็น 500 สาขาภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมา กาแฟพันธุ์ไทย เริ่มเป็นที่รู้จัก ขณะนี้มียอดขายเฉลี่ยสาขาละ 100 แก้ว/วัน และเชื่อมั่นว่าภายใน 2 ปีนี้ ยอดขายกาแฟจะเพิ่มเป็น 250 แก้ว/วัน
 
โดยรูปแบบการขยายร้านกาแฟพันธุ์ไทย บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเองร้อยละ 50 ที่เหลือขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจ นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะนำธุรกิจร้านกาแฟในนาม บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2563 ด้วย
 
2) การขยายร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ "แมกซ์ มาร์ท หรือ Max Mart" จากปัจจุบันที่ขยายไปแล้วรวม 70 แห่ง มียอดขายขยายตัวถึงร้อยละ 20 ดังนั้นบริษัทจึงเตรียมขยายร้าน Max Mart 
 
ในปีนี้อีก 70 แห่ง หรือจะมีสาขารวม 140 แห่งภายในสิ้นปี 2560 นอกเหนือจากการขยายจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ Max Mart แล้ว ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา "อาจจะ" ร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกและมีจุดแข็งในเรื่องของเครือข่ายเข้ามาบริหารร้านสะดวกซื้อด้วย"แต่ถ้ายอดขายของร้านMax Mart ของเราสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 22-23 ต่อปีแล้ว เราจะตัดสินใจบริหาร Max Mart เองต่อไป"
 
3) ธุรกิจศูนย์บริการและซ่อมบำรุงรถบรรทุก (Truck Service Center) ในนาม "Protruck" โดยร่วมทุนกับบริษัท สามมิตรมอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (SAMNITR) ตั้งบริษัทโปรทรัค โซลูชั่น เซ็นเตอร์ ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท บริษัทพีทีจีฯถือหุ้นร้อยละ 40 ให้บริการซ่อมบำรุงรถบรรทุกตั้งแต่เปลี่ยนยาง ลูกปืน เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซ่อมแซมช่วงล่าง โดยศูนย์ Protruck จะตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน PT เบื้องต้นสาขาแรกจะอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน PT สีคิ้ว นครราชสีมา ต่อจากนั้นจะขยายไปอีก 4-5 แห่ง แต่ละแห่งจะมีเนื้อที่อย่างน้อย 6-7 ไร่ขึ้นไป เพื่อรองรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้บริการ
 
"เราจะไม่หยุดอยู่ที่ศูนย์บริการรถบรรทุก การให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์ทั่วไปก็เป็นอีกธุรกิจที่พีทีจีจะขยายต่อไปแน่นอน ขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือกับบริษัทต่างชาติที่สนใจร่วมลงทุน และคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ด้วยโมเดลธุรกิจของเรา PT จะกลายเป็นผู้ค้าน้ำมันที่ลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเองเป็นรายแรกของประเทศ" นายพิทักษ์กล่าว
 
 
ภาพจาก goo.gl/JIOWHs
 
อย่างไรก็ตาม "คีย์เวิร์ด" ของความสำเร็จของสถานีบริการน้ำมัน PT ที่บริษัทพีทีจีฯมีเป้าหมายจะขยายให้ครบ 4,000 แห่งภายในปี 2565 อยู่ที่ "บัตร PT Max Card" ที่ให้ยอดการสะสมแต้มผ่านบัตรสมาชิก จากปัจจุบันที่มีสมาชิกอยู่ถึง 6.1 ล้านรายทั่วประเทศ โดยบัตร PT Max Card จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน PT และยังใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการกำหนดแคมเปญส่งเสริมการขายได้ตรงเป้าหมายด้วย 
 
"ผมมีสมาชิกบัตร Max Card อยู่ 6.1 ล้านใบ ที่ให้ผู้ถือบัตรนี้สามารถสะสมแต้มได้ทุกครั้งที่เติมน้ำมัน PT เติมก๊าซ LPG ซื้อกาแฟจากร้านพันธุ์ไทย หรือซื้อสินค้าในร้าน Max Mart เท่ากับเรามีฐานลูกค้าอยู่ในมือแล้ว 
 
และในอนาคตก็จะขยายการสะสมแต้มไปถึงศูนย์ Protruck ด้วย โดยความยากของธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ไม่สามารถควบคุมค่าการตลาดได้ อย่างต้นปีที่ผ่านมาค่าการตลาดลดลง 20 สตางค์ จากที่บริษัทคาดว่าจะมีกำไรประมาณ 360 ล้านบาท ก็ได้กำไรเพียง 186 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาว่า ทำไมวันนี้เราถึงต้อง Diversify มาสู่ธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ผมเชื่อมั่นว่ารายได้ของธุรกิจค้าปลีกจะเข้ามาอุ้มการสะวิงของราคาน้ำมันได้ ดังนั้นในทุก ๆ ปีถ้าธุรกิจเสริมค่อย ๆเติบโตตามการขยายจำนวนปั๊มน้ำมัน PT สัก 6-8% ก็จะสามารถพัฒนาไปถึงเป้าหมายรายได้รวมจากธุรกิจค้าปลีกที่วางเอาไว้ร้อยละ 60 ได้" นายพิทักษ์กล่าว 
 
ผลิต B100-เอทานอล
 
สำหรับโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ (Palm Complex หรือ PPP) มูลค่า 4,800 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบไปด้วย โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และโรงงานผลิต B100 จะเริ่มผลิตน้ำมันปาล์ม (Biodiesel 450 K/วัน-Olein 200 K/วัน) ได้ในช่วงไตรมาส 3/2560 โดยกำลังการผลิตทั้งหมดจะรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่บริษัทพีทีจีฯขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมัน PT อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ 
 
ดังนั้นบริษัทคาดว่า ในปี 2564 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล (ที่มีส่วนผสมของ B100) จะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปัจจุบัน ซึ่งโรงงานดังกล่าวสามารถขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 โรง
 
ได้ในอนาคต รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นจะอยู่ที่ประมาณ 900,000 ลิตร/วัน "การตั้ง Palm Complex ทำให้เราเหนือกว่าคู่แข่งในเรื่องของต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า 50% เพราะพีทีจีขนน้ำมันจากโรงกลั่นที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไปยังอำเภอบางสะพานน้อย รถขนส่งในเที่ยวกลับยังขนน้ำมันดีเซลกลับมาด้วย เมื่อคำนวณต้นทุนการขนส่งจะอยู่ที่ 80 สตางค์เท่านั้น" นายพิทักษ์กล่าว 
 
ล่าสุดบริษัทพีทีจีฯในนาม บริษัท พีทีจี (กรีน) ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เอี่ยมบูรพา ตั้งบริษัท อินโนเทค กรีน เงินลงทุน 100 ล้านบาท (พีทีจีถือหุ้นร้อยละ 60 เอี่ยมบูรพาร้อยละ 40) สร้างโรงงานผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง เป็นโรงแรกของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีของ "บริษัทซับโปโร ญี่ปุ่น" โรงงานแห่งนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท

โดยเอทานอลที่ผลิตได้จะมีต้นทุน "ต่ำกว่า" เอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลัง ประมาณ 3-5 บาท/ลิตร "โรงงานจะต้องพัฒนาอีก 2 ปี จึงจะทำการผลิตได้ในปี 2563 เอทานอลที่ได้จะนำมาใช้กับการจำหน่ายน้ำมันของพีที และเมื่อคาดการณ์ถึงความต้องการใช้เอทานอลในอนาคตแล้ว จะต้องสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 3 โรงจึงจะเพียงพอ ตอนนี้เรากำลังเจรจากับกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (โมลาส) ในพื้นที่ภาคอีสานเพิ่มเติมด้วย"นายพิทักษ์กล่าว
 

อ้างอิงจาก  ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,096
PLAY Q by CST bright u..
1,313
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
941
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
790
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด