4.3K
9 กุมภาพันธ์ 2559
ดอยคำ รุกขยายตลาด ปรับแพ็กเกจ-ลุยแฟรนไชส์


การทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจมากในเวลานี้ ซึ่งในความจริงแล้วมีธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำกันอยู่มากมาย แต่สำหรับบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร ทำธุรกิจเพื่อสังคมที่เน้นการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม (Creating Shared Value–CSV) มายาวนาน  


พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ดำเนินธุรกิจตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาชนบท” เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 1,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2557 ส่วนในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายชัดเจนว่า ผลผลิตใดที่ในตลาดมีผู้ประกอบการทำดีอยู่แล้วจะไม่ไปทำแข่ง บริษัทไม่ปฏิบัติกับใครเป็นคู่แข่งในตลาด แต่จะเข้าไปทำในสิ่งที่ตลาดยังไม่ทำ โดยนำผลไม้ที่ผลิตได้ในไทยมาพัฒนาว่าทำเป็นอะไรได้บ้าง สิ่งที่เพิ่งวิจัยพัฒนา เช่น ฟักข้าว มะขามป้อม

ด้านแผนธุรกิจปีนี้ จะปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ (แพ็กเกจจิ้ง) ใหม่ให้รูปผลไม้หน้ากล่องน้ำผลไม้สะท้อนผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกล่องแท้จริง เช่น ถ้าเป็นน้ำมะม่วง รูปหน้ากล่องต้องชัดเจนว่าเป็นมะม่วงพันธุ์ใดที่ใช้ในกล่อง โดยจะทยอยเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งในเดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้คนในประเทศเพื่อนบ้านที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เข้าใจผลิตภัณฑ์จากบรรจุภัณฑ์ได้ทันที

ขณะเดียวกันจะเจาะกลุ่มเป้าหมายอายุน้อยลง ซึ่งได้เริ่มแล้วด้วยการออกม็อกเทล น้ำมะเขือเทศผสมน้ำสตรอเบอร์รี่และน้ำเสาวรส แต่ก็ไม่ทิ้งกลุ่มลูกค้าใหญ่ อายุ 30-39 ปี และอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยได้ออกน้ำมะเขือเทศสูตรโซเดียมต่ำ ให้ผู้สูงอายุดื่มง่ายขึ้น หลังจากนี้ก็จะแตกไลน์น้ำเสาวรส ทำน้ำเสาวรสน้ำตาลต่ำ (โลว์ ชูการ์) รองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาเบาหวาน หรือโรคอื่นที่ต้องระมัดระวังปริมาณน้ำตาลให้ดื่มได้ง่ายขึ้น
เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดร้านดอยคำอีก 3-5 แห่ง เพิ่มจากปัจจุบันมี 32 แห่ง และปรับปรุงร้านเดิม 3-5 แห่งให้มีรูปลักษณ์ใหม่ โดยมีสาขาราชเทวี เป็นสาขาตัวอย่าง ไม่เพียงเท่านี้ยังมีโครงการทำ “ร้านครอบครัวดอยคำ” คล้ายแฟรนไชส์ให้คนทั่วไปลงทุนทำร้านได้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนต่างจังหวัดภาคภูมิใจที่ได้ดูแลธุรกิจของตัวเอง ส่งเสริมธุรกิจในต่างจังหวัดให้แข็งแรงขึ้น ลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง

สำหรับคนที่สนใจเปิดร้านครอบครัวดอยคำจะต้องนำเสนอแผนกับบริษัทก่อน แล้วบริษัทจะศึกษาความเป็นไปได้ว่าพื้นที่นั้นมีศักยภาพหรือไม่ หากมีศักยภาพจึงจะตกลงร่วมให้เปิดได้ โดยคนที่เปิดร้านเป็นผู้ลงทุน บริษัทเป็นห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลาย) ช่วยอบรมระบบการบริหารจัดการ คาดว่าเปิดตัวโครงการร้านครอบครัวดอยคำได้ในงาน Thaifex 2016 ปลาย พ.ค.นี้ ตั้งเป้าเปิดร้านครอบครัวดอยคำ 5 แห่งปีนี้

พิพัฒพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากผลผลิตเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 อ.แม่จัน จ.เชียงราย และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อ.เต่างอย จ.สกลนคร

บริษัทเป็นกิจการเพื่อสังคม 100% มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้คน 4 กลุ่ม คือ
  1. พนักงานบริษัท ให้มีสวัสดิการ รายได้ดีขึ้น เพราะการแบ่งปันทุกอย่างควรเริ่มจากภายในบ้าน หากคนภายในอยู่ดีกินดีก็จะรู้ว่าจะช่วยคนอื่นอย่างไร
  2. เกษตรกร และซัพพลายเออร์ โดยรับซื้อวัตถุดิบในราคาเป็นธรรม ที่ผ่านมาเวลาบริษัทตั้งราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร จะถูกใช้เป็นราคากลางในตลาดที่เกษตรกรใช้ตัดสินใจว่าจะขายผลผลิตราคาเท่าไหร่
  3. ผู้บริโภค ที่มุ่งให้ได้บริโภคสินค้าตรงกับที่บริษัทระบุ เช่น หากระบุว่าเป็นน้ำมะเขือเทศ 100% ก็คือมาจากน้ำมะเขือเทศ 100% จริงๆ หากผสมไลโคปีน 0.02% จะระบุว่าเป็นน้ำมะเขือเทศ 99.98% ไม่เขียนหน้ากล่องว่าเป็นน้ำมะเขือเทศ 100% จากหัวเชื้อน้ำผลไม้เข้มข้น (From concentrate)
  4. คนทั่วโลก คือการให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อม บริษัทจะไม่ทำอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานที่ใช้ ก็ทำเกินกว่ามาตรฐานกำหนด หรือใช้ระบบพลังงานทดแทนในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์กับโรงงาน ขณะที่การปลูกพืชผล จะใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice-GAP)
ทั้งนี้ บริษัทจะไม่ทำเรื่องธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) เพราะมองว่าการทำซีเอสอาร์ คนที่ทำอาจได้ผลดีเรื่องหน้าตาหรือภาพลักษณ์ที่ดี แต่คนอื่นได้ผลดีเพียงเล็กน้อย สิ่งที่บริษัททำคือสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม (Creating Shared Value-CSV) เพราะได้ผลดีกับทุกฝ่าย

ตัวอย่างคือ มีเหตุฝนตกและน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้ อ.แม่จัน เสาวรสในพื้นที่เสียหาย มีการขอความช่วยเหลือมาให้ดอยคำช่วยสร้างสนามเด็กเล่น หรือปรับปรุงโรงเรียน บริษัทไม่เลือกทำเช่นนั้น แต่เลือกเข้าไปช่วยเกษตรกรในแง่การตั้งค้างให้เสาวรสที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ผลคือชาวบ้านก็ได้เงินจากการขายผลผลิตให้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ส่วนโรงงานหลวงสำเร็จรูปได้เสาวรสมีคุณภาพ

นับเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ชัดเจน และสามารถเป็นต้นแบบให้ธุรกิจอื่นเดินตามได้โดยเฉพาะการทำให้เกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น

อ้างอิงจาก  posttoday.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
975
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
667
“เติมพลังความรู้” กับ ..
597
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
571
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
558
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
523
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด