2.3K
3 สิงหาคม 2558
สินค้าขายไม่ได้หลังภาระหนี้-ภัยแล้งฉุดกำลังซื้อ-ผลิตภัณฑ์ส่งออกเดี้ยง SMEอ่วม - อุตสาหกรรมสาหัส


แบงก์ทหารไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ช่วงไตรมาส 2 ผลปรากฏตัวเลขร่วงต่ำลงอีก ซ้ำดัชนี 3 เดือนข้างหน้า ก็ยังลดลงอีกด้วยเหตุผลหลักจากเศรษฐกิจในประเทศไม่ฟื้น ปัญหาภัยแล้ง ฉุดกำลังซื้อดิ่งเหว


โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกไม่ได้ เม็ดเงินหายจากระบบกว่า 3 หมื่นล้านขณะที่ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ยังแย่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก อาการหนัก กอดคอกันลดกำลังผลิต หลังคำสั่งซื้อหดหาย

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี ไตรมาส 2/2558 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 38.7 ปรับลงจากระดับ 43.7 หรือลดลง 11.4% จากไตรมาสก่อนหน้านี้

เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า รายได้ในปัจจุบันมีความไม่แน่นอน เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 53.8 ปรับลงจากระดับ 59.3 ในไตรมาส 1 คิดเป็นการปรับตัวลดลง 9.3% ซึ่งลดลงค่อนข้างมาก

เนื่องมาจาก SMEs มองว่ารายได้ของธุรกิจจะแย่ลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง จากปัญหาภัยแล้ง
ทำให้เกษตรกรต้องหยุดหรือเลื่อนการเพาะปลูก กระทบต่อผลผลิตนาปีของทั้ง 3 ภาคลดลงเหลือ 21.5 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.3 ล้านตัน ประเมินมูลค่าเม็ดเงินที่หายไปจากครอบครัวเกษตรกรประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ธุรกิจ SMEs กำลังกังวล กว่า 60%คือเรื่องเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งถือเป็นระดับความกังวลสูงในรอบ 3 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจความคิดเห็น สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นด้านรายได้ที่ปรับตัวลดลง ส่วนสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือ มาตรการระยะยาว เช่น โรดแมปสินค้าเกษตรรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า และแผนยุทธศาสตร์ข้าว


นายเบญจรงค์กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง หากภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาด ทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ติดลบมากกว่า 1.7% และส่งผลให้จีดีพีโตต่ำกว่า 3%

ขณะเดียกัน นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2558 ว่า หดตัว 8.0% อุตสาหกรรม สำคัญที่ลดลง เช่น HDD โทรทัศน์ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเบียร์

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30%) เพิ่มขึ้น 3.4% โดยเพิ่มขึ้นจากการกลั่นน้ำมันเป็นหลัก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนมิถุนายน 2558 หดตัว 6.8% ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ทำให้ภาพรวมครึ่งปีแรก 2558 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 3.0% ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 2.7% สินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 1.6% อย่างไรก็ตาม ภาพรวมครึ่งปีแรก 2558 การนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ยังคงหดตัว

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 151,698 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.11% การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 60,322 คัน ลดลง 18.26% และการส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 76,774 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.14% โดยการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีจำนวน 37,238 คัน ลดลง 41.71% ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการบางรายอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถยนต์ โดยเป็นการลดลงในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชีย

ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 17.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลง 18.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง


เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลงส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลง 11.40% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนมิถุนายนปี 2558 มีปริมาณ 1.29 ล้านตัน ลดลง 5.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.48 ล้านตัน ลดลง 14.29% การส่งออกมีมูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.89% สำหรับการนำเข้า 570 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.70% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงทุกชนิดเช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง

เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งมีการหยุดเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร สำหรับเหล็กแผ่นรีดเย็นลดลง เนื่องจากการบริหารสินค้าคงคลังโดยลดการผลิตและระบายสต๊อกแทน แต่ในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเป็นเหตุผลทางด้านจิตวิทยาจากการที่มีข่าวว่า ผู้ผลิตในประเทศขอให้ภาครัฐดำเนินการใช้มาตรการ Surcharge สินค้าเหล็ก ซึ่งมีผลทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้า

สำหรับเหล็กทรงยาว การผลิตลดลงทุกตัว เนื่องจากสภาพตลาดในประเทศที่ยังคงทรงตัวอยู่ นอกจากนี้จากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ข้อมูลจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนพฤษภาคม 2558 มีทิศทางที่ลดลง ส่วนการส่งออกในเดือนมิถุนายน ปี 2558 มีทิศทางที่ลดลง

เนื่องจากสถานการณ์เหล็กโลกที่ยัง over supply อยู่ จากการที่ประเทศจีนยังคงขยายการผลิตอยู่ ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัวซึ่งถึงแม้ว่าหลายประเทศจะทำหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลจีนควบคุมปริมาณการผลิต แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอื่นใดส่วนอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.6%

เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าหลักอื่นๆ ยังมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อน 2.0% จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศนำเข้ายังคงชะลอตัวระดับราคาสินค้าในตลาดโลกยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน

โดยเฉพาะผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง

อ้างอิงจาก  แนวหน้า
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น เป..
4,981
ชีสซี่ฟราย สแน็ค เปิดต..
4,011
เริ่มแล้ว! งานแฟรนไชส์..
2,894
แรงจริง! #แฟรนไชส์ ก๋ว..
1,617
พบบูธ “ก๋วยเตี๋ยวเรือป..
985
ธงไชยผัดไทย ร่วมกับ 7-..
976
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด