2.2K
13 พฤศจิกายน 2557
ชี้ช่องธุรกิจไทยบุกพม่า 9 เดือนไทยพลิกเกินดุล



ทูตพาณิชย์ชี้ช่องทัพธุรกิจไทยเร่งขยายลงทุนในเมียนมาร์ ชูธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แฟรนไชส์ ร้านอาหาร ดาวเด่น แต่ยังห่วงกฎระเบียบไม่ชัดเจน ที่ดิน-ค่าเช่าอาคารแพงเว่อร์ ทำนักลงทุนไทยถอดใจแต่พร้อมเป็นพี่เลี้ยง ขณะตัวเลข 9 เดือนไทยพลิกเกินดุลการค้าเมียนมาร์ครั้งแรกรอบ 13 ปี

นายบูรณ์ อินธิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึง โอกาสการค้า การลงทุนในเมียนมาร์ในเวลานี้ยังมีช่องทางโอกาสอีกมาก

โดยในส่วนของการลงทุนนั้นทาง สคร.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและควรเร่งเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ในกลุ่มธุรกิจบริการและธุรกิจแฟรนไชส์ให้มากขึ้น เช่น ออกแบบ และรับเหมาก่อสร้าง  ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร รีสอร์ต  อพาร์ตเมนต์  คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล สุขภาพและความงาม  เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพขยายการลงทุนในเมียนมาร์ เช่นโรงงานแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม  สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วนและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงโครงการสาธารณูปโภคอื่นๆ  ซึ่งสคร.ได้มีการรวบรวมข้อกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ในการเข้าไปประกอบธุรกิจในเมียนมาร์ไว้ให้สำหรับนักลงทุนที่สนใจ



"การลงทุนในเมียนมาร์อยากแนะนำให้เข้าไปร่วมทุนกับคนท้องถิ่นมากกว่าเข้าแบบเดี่ยวๆ  เนื่องจากคนท้องถิ่นจะรู้ภาษาและกฎระเบียบดีกว่า ทั้งนี้การลงทุนในเมียนมาร์เพิ่มขึ้นจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 3 เท่าตัวขณะที่ในส่วนของการค้าปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเมียนมาร์ รองจากจีน"

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มีอยู่ไม่กี่ประเด็น เช่น ที่ดินมีราคาสูงเกินจริง เช่น ราคาที่ดินกลางกรุงย่างกุ้ง เฉลี่ยตารางวาละ 2-2.4 ล้านบาท ค่าเช่าพื้นที่หรืออาคารสำนักงาน สูงเกินไป เฉลี่ยตารางเมตรละ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน

นอกจากนี้มีเรื่องข้อกฎหมาย ไม่มีรายละเอียดและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน ระบบสาธารณูปโภคยังขาดแคลนและไม่มีประสิทธิภาพ แรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่แรงงานที่มีฝีมือส่วนใหญ่อยู่ในไทยกว่า 2 ล้านคน ระบบการเงินการธนาคารยังไม่ทันสมัย มีค่าธรรมเนียมที่สูง การบริหารจัดการยังขาดความโปร่งใส เป็นต้น


"ช่วงที่นายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนเมียนมาร์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้มีการจัดประชุมคณะทำงานร่วม หรือ JTC ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ที่ทางเมียนมาร์จะเป็นเจ้าภาพในครั้งหน้า  การเสนอให้ทั้ง 2 ประเทศขยายการลงทุนและการค้าตามแนวชายแดน และปรับปรุงด่านต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การตั้งศูนย์กระจายสินค้า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอด รวมทั้งสร้างความร่วมมือในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา"

อย่างไรก็ดีอยากเสนอรัฐบาลให้เร่งก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยงกับเมียนมาร์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าไปยังอาเซียน  เช่น เส้นทางแม่สอด-ย่างกุ้ง ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง5-6 พันล้านบาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ทวาย  ระยะทาง300กิโลเมตร มูลค่าลงทุน4-5พันล้านบาท  เป็นเส้นทางไฮเวย์เชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าสู่อาเซียน

อนึ่ง การค้าไทย-เมียนมาร์ในปี 2556 มีมูลค่า  2.38 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 1.14 แสนล้านบาท นำเข้า 1.23 แสนล้านบาท ไทยขาดดุล 9.17 พันล้านบาท ส่วนช่วง 9 เดือนแรกของปี นี้ การค้า 2 ฝ่ายมีมูลค่า  1.90 แสนล้านบาท ไทยส่งออก 1.02 แสนล้านบาท นำเข้า 8.83 หมื่นล้านบาท ไทยเกินดุลเมียนมาร์ 1.36 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 13 ปี


หลังจากไทยเกินดุลเมียนมาร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2543 และหลังจากนั้นขาดดุลมาโดยตลอด จากเมียนมาร์มีการนำเข้าสินค้าพื้นฐานจากไทยเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม  เครื่องจักรกล ปูนซีเมนต์ เป็นต้น

อ้างอิงจาก  ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,072
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
762
“เติมพลังความรู้” กับ ..
613
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
587
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
574
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
526
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด