2.9K
7 พฤษภาคม 2557
สสว.ห่วงไมโครเอสเอ็มอีถูกผลกระทบจากการเมือง


สสว.ห่วงไมโครเอสเอ็มอีถูกผลกระทบจากการเมืองหนัก หากยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน ขณะที่แบงก์กสิกรไทยชี้มีลูกค้าจ่ายคืนหนี้ช้ากว่ากำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองร้อยละ 85 จากผลการสำรวจตัวอย่าง 500 ราย ซึ่งเกิดจากยอดขายลดลงกว่าร้อยละ 50 แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปิดกิจการ เนื่องจาก สสว.ให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการลดต้นทุน การสนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนและการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เอสเอ็มอีมีปัญหาหนี้เสีย รวมถึงมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ออกประกันภัยป้องกัน การก่อการร้าย โดยเบี้ยประกันราคาถูก เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถซื้อประกันได้
 
พร้อมกันนี้ ยังยอมรับว่าหากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อออกไปอีก 2-3 เดือน ผลกระทบต่อเอสเอ็มอีจะมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดจิ๋ว หรือไมโครเอสเอ็มอี เช่น ผู้ค้ารถเข็น ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 20 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนต่ำไม่เกิน 2-3 เดือน โดยเอสเอ็มอีขนาดเล็กมีจำนวนถึง 2 ล้านราย จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.8 ล้านราย ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 20-200 ล้านบาท ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ยืดเยื้ออาจทำให้ สสว. ต้องปรับเป้าหมายการเติบโตของเอสเอ็มอีที่คาดว่าปี 2560 เอสเอ็มอีจะมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 37-38 ของจีดีพี
 
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่มีการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นช้ากว่ากำหนด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมทั้งหมด 500,000 ล้านบาท

โดยพบในลูกค้าทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม การค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรายย่อย อิเล็กทรอนิกส์ แต่ธนาคารก็เพิ่มความระมัดระวังโดยเข้าไปช่วยเหลือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ แม้ว่าเอ็นพีแอลสิ้นไตรมาส 1 ปี 2557 จะยังทรงตัวที่ร้อยละ 2.8  นอกจากนี้ การที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อขยายกิจการน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้ธนาคารปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีลงเหลือโตร้อยละ 6-8 ภายใต้สมมติฐานจีดีพี โตร้อยละ 2 จากเดิมคาดสินเชื่อเอสเอ็มอีโตร้อยละ10.7

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ สสว. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หอการค้าไทย สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และบริษัทบิสิเนสโค้ชแอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ทั้งเจ้าของสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซอร์ และผู้ซื้อสิทธิ์ หรือแฟรนไชส์ซี ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้ความรู้ คำปรึกษา และสิทธิโปรโมชั่นต่าง ๆ โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 1,000 ล้านบาท ให้บริการด้านสินเชื่อ เค -เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ เครดิต หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบมีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้ากลุ่มแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 477 ราย ยอดสินเชื่อ 1,296 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาตั้งวงเงินใหม่ให้ธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 510 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2555 ร้อยละ 20 เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเองมากขึ้นถึงร้อยละ 50 แต่การเริ่มต้นธุรกิจเองเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น การซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยมีผู้สนใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ประมาณ 80,000 ราย ได้แก่ กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่ม เนื่องจากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเองและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน .

อ้างอิงจาก mcot.net
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
637
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
553
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
515
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด