2.9K
6 กุมภาพันธ์ 2557
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดนิติศาสตร์เฉพาะทาง ปั้นนักกฎหมายชำนาญเศรษฐกิจ


 
ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ จึงทำให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเน้นตอบโจทย์การค้าและการลงทุน เห็นได้ชัดเจนคือหลักสูตรการเรียนการสอนที่ปรับแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อย่างล่าสุดคณะนิติศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนจากการสอนสาขานิติศาสตร์มาเป็น 7 สาขาใหม่ทางด้านกฎหมายธุรกิจ
 
"รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม" คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทยกล่าวว่า คณะนิติศาสตร์จะเน้นความเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสาขาใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาล้วนเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างประเทศมีการเปิดสอนกฎหมายเฉพาะด้านมานานแล้ว สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเปิดสอนชัดเจน
 
"ปีการศึกษา 2557 เราจึงเปิดรับนักศึกษาประมาณ 280 คน แล้วให้เลือกสาขาที่ตัวเองสนใจ โดยเราจะเทรนเขาตั้งแต่ปี 1 เป็นการเพาะความสามารถตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญตามลำดับก่อนที่จะมาเรียนวิชาเฉพาะทางในปี 3-4 ถือเป็นข้อดีคือนักศึกษาจะรู้เลยว่าตัวเองจะไปทำอาชีพกลุ่มไหน อย่างไรก็ตาม หากเขาจบไปแล้วอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะผ่านการเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด"
 
สำหรับ 7 สาขากฎหมายธุรกิจ ได้แก่ 
  1. สาขาเทคโนโลยี และธุรกิจสร้างสรรค์ ศึกษาเกี่ยวกับประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย, สิทธิ์ตามกฎหมายของผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ และกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล รวมถึงศึกษาถึงสิ่งที่สามารถได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร, สิทธิ์ของผู้มีสิทธิบัตร, การบังคับใช้สิทธิ์ และกระบวนการยื่นขอรับสิทธิบัตร
  2. สาขาการค้าระหว่างประเทศ นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิชาที่สอนเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า ภายใต้กรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, กรอบองค์การการค้าโลก และกรอบข้อตกลงอื่น ๆ ทั่วโลก ทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน
  3. สาขาตลาดทุน การเงิน และภาษี ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุน, ธุรกิจหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ, การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจ นอกจากนี้ยังจะได้ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการแหล่งเงินทุนขององค์กรธุรกิจจากสถาบันการเงิน และจากการระดมทุนของประชาชน ตลอดจนศึกษาแนวทางปฏิบัติ ภาระภาษี และการวางแผนภาษีขององค์กรธุรกิจ
  4. สาขาวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร เน้นความเชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแล (Regulation) ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายสมัยใหม่ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ การสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ
  5. สาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นักศึกษาจะได้ศึกษาการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางทะเล ประกอบกับการจัดซื้อสินค้าข้ามชาติ และการขนส่งทางบก อันรวมถึงการกระจายสินค้า และยังได้ศึกษากฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย และสินค้าคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งโซ่อุปทานและโลจิสติกส์
  6. สาขาธุรกิจแฟรนไชส์ การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในโลกนั้น 1 ใน 3 ใช้ระบบแฟรนไชส์ และธุรกิจแฟรนไชส์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดของประเทศไทยที่มีการสอนด้านนี้ชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่การจบไปเป็นนักกฎหมายให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่สาขาวิชานี้ยังเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการในระบบแฟรนไชส์อีกด้วย
  7. สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการทุนมนุษย์ขององค์กร ทั้งรูปแบบบริหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่การจัดหาคนให้เหมาะสมกับองค์กร การพัฒนาการจัดแพ็กเกจด้านสวัสดิการ การรักษาพนักงาน การระงับข้อพิพาทภายในองค์กร รวมถึงประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวกับเอชอาร์
 
"รศ.สุธรรม" บอกว่าสาขาข้างต้นมีนักกฎหมายทำงานอยู่แล้ว แต่กว่าที่จะเป็นนักกฎหมายเฉพาะด้านต้องมีประสบการณ์การทำงานพอสมควร หรือมี Learning Curve ที่นานประมาณเกือบ 10 ปี และคิดค่าใช้จ่ายการว่าจ้างที่แพงมาก แต่ ม.หอการค้าไทยต้องการผลิตคนรุ่นใหม่ป้อนเข้าไปในตลาดงานทันทีหลังเรียนจบ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของผู้จ้างถูกลงด้วย
 
"สำหรับอาชีพการทำงาน หากไม่ได้เป็น Law Firm แต่เขียน Contract ธุรกิจเป็นภาษาอังกฤษได้ ก็มีรายได้เป็นหลักแสนแล้ว อีกทั้งจุด ๆ หนึ่งทุกบริษัทต้องใช้นักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซื้อขาย หรือทำสัญญาอื่น ๆ โดยเท่าที่ผมทราบถ้าเป็น Global Firm ด้านแฟรนไชส์จะมีแค่ 5-6 Firm หรือด้านบันเทิงก็มีแค่ 3 Firm ส่วนสาขาที่ขาดคนมาก ๆ และค่าตัวนักกฎหมายแพงคือสาขาตลาดทุน, การเงินและภาษี ซึ่งมีอยู่แค่ 5 Firm เท่านั้น"
 
นอกจากนั้น "รศ.สุธรรม" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้วางแผนจะเปิดเป็น Joint Degree เรียน 5-6 ปีแล้วแต่กรณี และได้ปริญญา 2 ใบ คือ เรียนกฎหมาย และไปเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องของคณะอื่นด้วย ทำให้นักศึกษามีทางเลือกมากขึ้น โดย 7 สาขาที่เปิดเป็นสาขาที่ ม.หอการค้าไทยมีอยู่แล้ว 
 
"นักศึกษาที่เรียนกฎหมายสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสามารถลงเรียนเพิ่มเติมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือนักศึกษาที่เรียนสาขาวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ก็ไปเรียนของคณะนิเทศศาสตร์ได้เช่นกัน และคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเปิดระดับปริญญาโท โดยสาขาที่เปิดจะเป็นสาขาเฉพาะทางที่ล้อไปกับระดับปริญญาตรี"
 
ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปเป็นนิติกรผู้เชี่ยวชาญที่หาตัวจับยากของวงการกฎหมายธุรกิจ

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
950
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
648
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
554
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
517
ข่าวอบรมสัมนามาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด