6.9K
23 มีนาคม 2551
แปลงโชวห่วย "สะดวกซื้อ 39 บาท"

 
 
ตั้งเป้าพันกว่าสาขาทั่วไทย / ทาบรัศมีเซเว่น-อีเลฟเว่น 
 
พาณิชย์เดินเครื่องปัดฝุ่นโครงการ “เออาร์ที” ภาค 2 หลังช่วยร้านค้าโชวห่วยลืมตาอ้าปากไม่สำเร็จ เวอร์ชั่นใหม่สวมแบรนด์ “Thirty-nine Mart” หรือร้านสะดวกซื้อ 39 บาท ขายสินค้าอุปโภค-บริโภคและโอท็อปราคาเดียวทั้งร้าน เฟสแรกเท 200 ล้านบาท จัดวางระบบ พร้อมดึงไปรษณีย์หรือร.ฟ.ท.เป็นแนวร่วม เติมเต็มระบบลอจิสติกส์ คาดปีแรกปูพรมเครือข่าย 1.2 พันสาขาทั่วไทย 
 
 แนวคิดเรื่องการหนุนร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศที่มีมากกว่า 2 แสนรายของภาครัฐ เพื่อให้สามารถ ปรับตัวรองรับกับการแข่งขันเสรี ที่ ทุนใหญ่ข้ามชาติได้รุกคืบกลืนกินธุรกิจค้าปลีกไทย มูลค่ากว่า 3 แสน ล้านบาทมากขึ้นตามลำดับนั้น ได้มี การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมเรื่อยมา

ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ กติกา ล้อมกรอบ การขยายเครือข่ายสาขาของยักษ์ค้าปลีกต่างแดน หรือการยื่นมือเข้า ช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชวห่วยแข็งแกร่งขึ้น ทว่าผลสะท้อนกลับกลายเป็นไปใน ทิศทางตรงกันข้าม 
 
 

บทเรียน “เออาร์ที” สูญเงิน 400 ล้าน 
 
หนึ่งในกรณีศึกษาถึงการเข้า ไปอุ้มกลุ่มร้านค้าโชวห่วยอย่างเป็น รูปธรรมเมื่อไม่นานมานี้ คือ การจัด ตั้งบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด (Allied Retail Trade : ART) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.45 ภายใต้วัตถุประสงค์ส่งเสริม สนับสนุน ด้านวิทยาการความรู้ การตลาด การเพิ่มช่องทางและโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจค้าปลีก โดยมีธนาคารกรุงไทย และนครหลวงไทย ให้ ความช่วยเหลือด้านเงินลงทุน 
 
ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อน เออาร์ที ได้ดึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมผลักดัน จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยเฉพาะภาคเอกชนนั้น ได้บุคลากรผู้บริหารจาก สหพัฒน์ กรุ๊ป เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการวางกรอบนโยบาย 
 
ส่วนในทางปฏิบัตินั้น เออาร์ที จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางพัฒนาและยกระดับการค้าแบบดั้งเดิม หรือเทรดิชั่นแนลเทรด โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าโชวห่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค ให้มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับการค้าสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด ที่มียักษ์ค้าปลีกข้ามชาติแบรนด์ โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี แม็คโคร โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ในเครือกลุ่มซีพี ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ ยึดครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าครึ่ง 
 
ทั้งนี้ การยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือที่ว่า จะครอบคลุมถึงเรื่องการพัฒนาร้านค้าต้นแบบ เออาร์ที ให้มีรูปลักษณ์ทันสมัย มีสินค้าและบริการหลากหลาย พัฒนาระบบการจัดซื้อและจัดส่งแบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับการดึงร้านค้าโชวห่วยให้เข้ามาเป็นแนวร่วม บนเป้าหมายมีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ เออาร์ที เฟสแรก 10,000 ราย เฟสสอง 50,000 ราย และเป้าสูงสุดที่ 100,000 รายทั่วประเทศ 
 
แต่แล้วโปรเจกต์นี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ปิดฉากลงอย่างถาวรในช่วงกลางปีที่แล้ว สูญเม็ดเงินร่วม 400 ล้านบาท อันเป็นผลจากการดำเนินงานที่ผิดพลาด ทั้งการจัดวางระบบการจัดซื้อ การขนส่ง รูปแบบร้านค้าแฟรนไชส์ รวมถึงซัพพลายเออร์ผู้จัดส่งสินค้า ให้ความร่วมมือไม่เต็มที่ 
 
 


ไอเดียบรรเจิด เปิดโมเดลร้าน 39 บาท 
 
กระนั้น แนวทางนี้ดูเหมือนจะถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ภายใต้การผลักดันของรัฐบาล “สมัคร 1” โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วยในครั้งนี้ รูปแบบอาจมีความใกล้เคียงกัน คือ การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง แต่โครงสร้างการบริหารงาน จำเป็นต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของ เออาร์ที อย่างรอบด้าน เพื่อนำมาปรับปรุง แก้ไข ประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์ 
 
แม้ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ จะครอบคลุมทุกองคาพยพในสารบบค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระบบการบริหารจัดการ, ระบบลอจิสติกส์, การเสริมทักษะทางธุรกิจ รูปแบบร้านค้า แหล่งเงินทุน และการดึงพันธมิตรซัพพลายเออร์เข้ามาเป็นแนวร่วม เหล่านี้จะถูกนำมาผสมผสานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 
 
 

ในระยะแรกคาดว่าจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการราว 100-200 ล้านบาท เพื่อใช้ไปกับการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานระบบไอที บุคลากร และการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ต่อกลุ่มเป้าหมายโชวห่วยทั่วประเทศ 
 
โดยคอนเซปต์ของโมเดลร้านค้าใหม่นี้ จะเป็นร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าโอท็อป รวมถึงพืชผลทางการเกษตรของแต่ละพื้นที่ ราคาถูก สินค้าที่ขายในร้านทั้งหมดจะจำหน่ายในราคาเดียว 39-49 บาท ซึ่งอาจจะใช้ชื่อแบรนด์ร้าน 39 บาท หรือ “Thirty-nine Mart” ลักษณะคล้ายกับร้าน 100 เยน ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างมากที่ประเทศ ญี่ปุ่น 
 
“ระบบลอจิสติกส์ที่ถือเป็นหัวใจของธุรกิจ ก็อาจจะดึงการรถไฟฯ? หรือไปรษณีย์ไทย เข้ามาเป็นแนวร่วม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีศักยภาพมากพอในการให้ความช่วยเหลือ” 
 
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านค้าโชวห่วยเท่านั้น กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอื่นๆ หรือผู้สนใจทั่วไป หากมีทำเลหรือร้านค้าขนาด 1 คูหา ก็สามารถเข้ามาเป็นแนวร่วมเครือข่ายแฟรนไชส์ได้ โดยเฟสแรกตั้งเป้าเปิดร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังกล่าวที่ 1.2 พันแห่งทั่วประเทศ 
 
 


ซัพพลายเออร์ หนุนสุดตัวป้อนสินค้า 
 
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ให้ความเห็นว่า แนวคิดข้างต้นเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ร้านค้าโชวห่วยสามารถแข่งขันได้สมรภูมิค้าปลีกเสรี ที่นับวันผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะล้มหายตายจากมากยิ่งขึ้น 
 
แต่การเข้ามาช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว จะคำนึงถึงจุดขายของร้านค้าเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องนำวิธีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบจากต่างประเทศมาเทียบเคียง โดยเฉพาะกฎ กติกา ทางการค้า ที่บางประเทศจะบังคับให้ค้าปลีกขนาดใหญ่หยุดทำการอาทิตย์ละหนึ่งวัน การห้ามไม่ให้ขยายสาขาขนาดใหญ่ในเมือง หรือการกำหนดเวลาปิด-เปิด เป็นต้น 
 
 
 
 
 
อ้างอิง : นสพ.สยามธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,139
PLAY Q by CST bright u..
1,315
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
942
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
790
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด