5.5K
22 ธันวาคม 2556
แห่เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นชิงแชร์ 1.5 หมื่นล้าน



 
กลุ่มทุนยักษ์โหมรุกธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระลอกใหญ่  ปลุกตลาด 1.5 หมื่นล้านตื่นตัว   "เบทาโกร"  จับมือพันธมิตรญี่ปุ่นกางแผน 5 ปี อัด 400 ล้าน  จัดตั้งเบทาโกร เฟิร์สท์ คอลเลคชั่น  ปูพรมร้าน "มิยาทาเกะ ซานูกิ อุด้ง"  40 สาขา ฟาก "กลุ่มบูทิค" ประกาศทุ่มอีก 150 ล้านบาท เปิดร้านอุด้ง "มารุกาเมะ เซเมง" ขณะที่กลุ่มใบหยก  อิมแพ็ค  มาบุญครอง  โออิชิ  อิชิตัน เซ็นทรัล ออร์เดอร์แบรนด์ใหม่ร่วมแจม
 
นายชนภัทร ฤกษ์ถวิลชัย ผู้จัดการฝ่ายสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เบทาโกร เรสเทอรองท์ จำกัด ในเครือเบทาโกร  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทพร้อมเดินหน้าขยายลงทุนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ "มิยาทาเกะ ซานูกิ อุด้ง"  (Miyatake Sanuki Udon) ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่น เน้นจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นเมนูอุด้งในรูปแบบบริการด้วยตนเองเป็นหลัก  

โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีสาขารวม 40 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนราว 400 ล้านบาท โดยสาขาต้นแบบเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่สยามพารากอน และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคมนี้  ขณะที่ในปี 2557 จะขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา โดยเน้นขยายตามแนวเส้นรถไฟฟ้าหรืออาจเป็นบริเวณกรุงเทพฯชั้นใน นอกจากนี้การดำเนินงานธุรกิจร้านอาหารบริษัทจะเน้นนำแบรนด์อาหารจากต่างชาติเข้ามาขยายสาขาในประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย
 
"การที่เราเลือกเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารก็เพื่อที่จะศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยให้มากขึ้น ซึ่งบริษัทมีจุดดีคือการเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะฉะนั้นการเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหารจึงเป็นการต่อยอดด้านวัตถุดิบให้กับเบทาโกร รวมถึงในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามนำเสนอว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตที่เข้ามาอยู่ในสายฟูดอย่างเต็มตัวแล้ว"
  • ตลาด 1.5 หมื่นล้านโต 10-15%
อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มีแนวโน้มการแข่งขันค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่ายังคงมีแบรนด์อีกมากที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจในไทยเองที่นำเข้ามา หรือแม้แต่คนญี่ปุ่นที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้การแข่งขันสูง โดยธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 10-15%  ขณะที่ในปีนี้คาดว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีมูลค่าตลาดรวมราว  1.5 หมื่นล้านบาท

โดยบริษัท เบทาโกร เรสเทอรองท์ จำกัด ร่วมมือกับบริษัท โฟร์ซีตส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท บอสตัน เทรดดิ้ง จำกัด จัดตั้งบริษัท เบทาโกร เฟิร์สท์ คอลเลคชั่น จำกัดขึ้น โดยถือหุ้นในสัดส่วน  60:30:10 ตามลำดับ  โดยโฟร์ซีตส์  เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีแบรนด์ทั้งสิ้น 39 แบรนด์  มีสาขารวมกันราว 1 พันสาขา แบ่งเป็นร้านพิซซ่า 600 สาขา ร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น อิตาลี รวมกันราว  400 สาขา



 
  • ทุนอสังหาฯแตกไลน์ร้านอุด้ง    
ด้านนายปรับชะรัน ซิงห์ ทักราล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท บูทิคฯ บริษัทร้านอาหารญี่ปุ่น  "มารุกาเมะ เซเมง"  กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของเมืองไทย ส่งผลให้บริษัทตัดสินใจเข้ามาลงทุน ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  โดยมองว่าปัจจัยด้านสภาพสังคมในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ขนาดของประชากรจะเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีกำลังการซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย จะส่งผลดีมายังกลุ่มธุรกิจอาหารทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคในร้านแทนการรับประทานอาหารข้างถนน
 
ทั้งนี้บริษัท โนดุ ฟู้ดส์ฯ เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของบริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทบูทิคฯ มีทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 180 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์มารุกาเมะ เซเมง  โดยบริษัทเตรียมใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท ในการขยายสาขาให้ได้ 30 สาขาภายใน 3 ปี  จากปัจจุบันที่มีอยู่ 9 สาขา  และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 สาขาในปีหน้า
 
"ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่เป็นต้นตำรับมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมืองและเริ่มขยายสู่ต่างจังหวัด โดยจุดเด่นของมารุกาเมะ เซเมง คือ ความสดใหม่ของเส้น  และมีราคาเริ่มต้นที่ 69 บาท  ซึ่งเบื้องต้นบริษัทเน้นสร้างแบรนด์ในไทยให้แข็งแกร่ง ก่อนที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางขยายธุรกิจสู่อาเซียน อาทิ สิงคโปร์ , เมียนมาร์ต่อไป"
  • กลุ่มใบหยกเปิดตัว ยาบาตัน
นายปิยะเลิศ  ใบหยก รองประธานกลุ่มโรงแรมใบหยก  กล่าวว่า บริษัทได้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น "ยาบาตัน (YABATON) ซึ่งให้บริการในรูปแบบของเซตเมนูอาหารญี่ปุ่นสไตล์ชุบแป้งทอด อาทิ หมูชุบแป้งทอด , ผักชุบแป้งทอด เป็นต้น  ในราคาไม่เกิน 350 บาท โดยจะเปิดให้บริการในปี 2557  ขณะที่ร้านกิว-คาขึ (Gyu-Kaku) ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ปิ้งย่าง ซึ่งเปิดให้บริการในรูปแบบสแตนด์อะโลน  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 สาขา ได้แก่ ทองหล่อและอาคารธนิยะนั้น  บริษัทมีแผนจะรีแบรนด์เพื่อขยายกลุ่มลูกค้า พร้อมให้บริการทั้งในรูปแบบอาลาคาสต์ รองรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียมทั้งที่เป็นคนไทยและชาวญี่ปุ่น  และบุฟเฟ่ต์ ซึ่งเหมาะกับลูกค้าคนไทย
  • อิมแพ็คทุ่ม 20 ล.ผุด 2 แบรนด์ใหม่
ขณะที่นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารญี่ปุ่น "สึโบฮาจิ" และ "อิโต-คาโจ"  กล่าวว่า บริษัทเปิดตัวร้านอาหารญี่ปุ่นใหม่ 2 ร้าน ได้แก่ สึโบฮาจิ และอิโต-คาโจ ณ โครงการ นิฮอนมูระ มอลล์  ซอยทองหล่อ 13 เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนราว 20 ล้านบาท โดยร้านสึโบฮาจิ เป็นร้านสไตล์กินดื่ม  ที่เน้นเมนูอาหารที่หลากหลายทั้งปลาดิบ  ราเมง  ข้าวอบในสูตรดั้งเดิม ฯลฯ  ซึ่งเหมาะกับกลุ่มคนทำงานและการสังสรรค์

ส่วนร้านอิโต-คาโจ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์เนื้อย่าง จากเนื้อแบล็กวากิว จากเมืองคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และเมนูอาหารทะเล เหมาะกับผู้บริโภคระดับพรีเมียม ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยบริษัทมีแผนจะขยายสาขาอีก 20 สาขา ภายใน 5 ปีด้วย
 
ก่อนหน้านี้นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซ์มิลล์ แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวถุงตรามาบุญครอง  กล่าวว่า บริษัทร่วมกับบริษัท ฟุจิโอะ ฟู้ด ซิสเท็ม ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท เอ็ม บี เค ฟู้ด ซิสเท็ม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 60 ล้านบาท โดยบริษัทถือหุ้น 60% และฟูจิโอะ 40%  เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ "ฟูจิโอะ โชกูโด"  ขึ้นที่ชั้น 6 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์  และเชื่อว่าจะสามารถขยายสาขาได้ 20-30 สาขา โดยใช้เงินลงทุน 15 ล้านบาทต่อสาขา และตั้งเป้าจะมียอดขาย 5-10 ล้านบาทต่อสาขา


 
  • แบรนด์ใหม่จ่อแจ้งเกิดเพียบ
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนหันมาเลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่นในเซ็กเมนต์ต่างๆ ที่ชื่นชอบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะลงทุนร้านอาหารญี่ปุ่นเฉพาะประเภทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ประเภทเส้นอุด้ง ,  ประเภทโทคัตสึ (อาหารประเภทชุบแป้งทอด) , ประเภทยาคินิขุ (อาหารประเภทปิ้งย่าง) เป็นต้น ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดในอันดับต้นๆ

ไม่ว่าจะเป็น โออิชิ กรุ๊ป ต่างก็มีแบรนด์ใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อสร้างความหลากหลายและรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์นิกุยะ และล่าสุดเตรียมเปิดตัวอีก 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ คะโซคุเต ร้านอาหารญี่ปุ่นประเภทอุด้งและโซบะ  และร้านคาคาชิ  ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นอาหารจานด่วน (QSR) โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2557 ขณะที่ อิชิตัน กรุ๊ป ก็เปิดตัวแบรนด์ใหม่  "ซูชิโอตารุ"  ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นจำหน่าย    ซูชิเป็นหลักด้วย
 
ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่อีกบริษัท ได้แก่  บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี ในกลุ่มเซ็นทรัล ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารญี่ปุ่นมากมาย ทั้งแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง และได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาทิ เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) สเต็กสไตล์ญี่ปุ่น , ชาบูตง (Chabuton) ร้านราเมง  , ริว ชาบู ชาบู (RYU Shabu Shabu) ร้านชาบู ชาบู สไตล์ญี่ปุ่น , โยชิโนยะ (YOSHINOYA) ข้าวหน้าญี่ปุ่น , โอโตยะ (OOTOYA) ร้านอาหารญี่ปุ่น และล่าสุดยังร่วมกับบริษัท รอยัล โฮลดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวร้านข้าวหน้าเทมปุระ "เทนยะ" (TENYA) ในปลายเดือนธันวาคมนี้ด้วย

อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,259
PLAY Q by CST bright u..
1,334
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
951
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
798
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด