5.8K
26 กันยายน 2556
บิ๊กซี หั่นราคาสินค้า TOP3 เขย่าคู่แข่ง




 
โค้งสุดท้ายค้าปลีก "บิ๊กซี" ชูแคมเปญ "TOP 3" เขย่าคู่แข่ง ปูพรมค้าชายแดน-เล็งบุกอาเซียน กำลังซื้อในตลาดชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ "ราคา" ที่บรรดาร้านค้าปลีกต่างใช้เป็นหมัดเด็ดดึงดูดลูกค้าวันนี้แทบไม่ต่างกัน!!
 
"หากราคาใกล้เคียงกันเราต้องนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าอยากได้ให้ดีกว่า ลูกค้ามีเงินจ่ายได้เท่านี้จะไปลงที่ใคร" กุฎาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเครือข่ายร้านค้าปลีก "บิ๊กซี" กล่าวย้ำว่า ในโค้งสุดท้ายนี้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกจะทวีความรุนแรงมากกว่าทุกปี "สงครามราคา" ยังจะเป็นเครื่องมือหลักในการช่วงชิงลูกค้า เสริมด้วย "กิมมิค" หรือโปรโมชั่นที่ฉีกแนว แต่เปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้น
 
เป็นโจทย์ตั้งของแคมเปญ "100 ท็อป ไอเท็ม" ในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก และเป็นไฮไลท์ของบิ๊กซีที่ได้เลือกสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน หรือกลุ่มสินค้าหมุนเวียนเร็ว เป็นแบรนด์ "TOP3" ในแต่ละกลุ่มสินค้า ได้แก่ ข้าว น้ำมัน สบู่ แชมพู น้ำตาล ฯลฯ เป็นต้น จำหน่ายราคาพิเศษรวม 100 รายการ ต่างจากกลยุทธ์ราคาปกติจะมีสินค้าท็อปส์แบรนด์ไม่กี่รายการเป็นตัวชูโรง คาดว่าจะกระตุ้นยอดขายเติบโต 15-20% ต่างจากแคมเปญปกติหนุนยอดขายเติบโตในระดับ 10% เท่านั้น
 
 
 
"ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ความถี่ในการใช้บริการของลูกค้าน้อยลง การตลาดต้องเชื่อมโยงหลายภาคส่วนมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกจากฐานสมาชิก 7.3 ล้านคนประยุกต์ออกมาเป็นแคมเปญการตลาดที่ต้องเร็วกว่าคู่แข่ง" ผู้บริหารบิ๊กซีกล่าวและว่า พฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงโดยพบว่า เพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้ง 10-20% แต่ลดความถี่ในการซื้อลง เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดรับสถานการณ์

อาทิ เคยขายอาหารสดแพ็กใหญ่ เมื่อลูกค้ามีกำลังซื้อน้อยลงต้องปรับชิ้นเล็กลงด้วยเช่นกัน ลูกค้ารอช่วงที่ร้านค้าปลีกมีการแจก "คูปองเงินสด" หรือรอโปรโมชั่นแรงๆ อาจต้องเพิ่มความถี่ในการทำแคมเปญเพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
 
ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศมีแนวโน้ม "ชะลอตัว" สถานการณ์ซีเรียกระทบต่อราคาน้ำมัน รวมทั้งภาวะการณ์ส่งออกยังไม่ฟื้นตัว เสถียรภาพทางการเมือง เหล่านี้ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง
 
นอกเหนือจากกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกยังมาจากการลงทุน "เปิดสาขาใหม่" เพื่อขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ "ตลาดใหม่" ทั้งในและต่างประเทศ โดยขณะนี้บิ๊กซีอยู่ระหว่างศึกษาตลาดเพื่อนบ้าน "ลาว-พม่า-กัมพูชา" ทั้งในด้านภาษี โครงสร้างราคา ต้นทุนทางธุรกิจ ระบบโลจิสติกส์ รูปแบบการทำตลาด ฯลฯ
 
 
 
ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว เชื่อว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการเปิดตลาด "ไฮเปอร์มาร์เก็ต" และร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งน้อยราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนท้องถิ่น ขณะที่ตลาดค้าปลีกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบค้าปลีกดั้งเดิมสู่ค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ
 
ที่ผ่านมา "บิ๊กซี" มีการเปิดตลาดใน "เวียดนาม" ในลักษณะของการขายแฟรนไชส์ "ชื่อบิ๊กซี" โดยกลุ่มนักลงทุนท้องถิ่น มีเครือข่ายสาขากว่า 20 แห่งเป็นอันดับ 1 ของไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม
 
อย่างไรก็ดี ตลาดในประเทศยังมี "ช่องว่าง" และโอกาสทางการตลาดสูงสำหรับบิ๊กซี โดยเฉพาะแนวตะเข็บชายแดนที่เชื่อมโยงประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นกัน เป็นภารกิจหลักของบิ๊กซีที่จะเร่งยึดพื้นที่การค้าชายแดนไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ขณะนี้มีเครือข่ายสาขาร้านขนาดเล็กและขนาดใหญ่เปิดบริการแล้วกว่า 40 สาขา
 
ปัจจุบัน บิ๊กซี มีสาขาร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ "ซูเปอร์เซ็นเตอร์" 117 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็น บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า รวม 16 สาขา นอกจากนี้ยังมีร้านขนาดกลางและเล็กในรูปแบบ บิ๊กซี มาร์เก็ต 23 สาขา มินิ บิ๊กซี 227 สาขา ร้านค้าส่งบิ๊กซี จัมโบ้ 2 สาขา ค้าส่งขนาดเล็กบิ๊กซี จัมโบ้ สเตชั่น 1 สาขา รวมทั้งร้านยา "เพียว" 117 สาขา แต่ละโมเดลธุรกิจรองรับลูกค้าแตกต่างกันตามความเหมาะสมของทำเล
 
กลยุทธ์เชิงรุก มั่นใจว่าจะผลักดันธุรกิจบิ๊กซีเติบโต 9% เป็นรายได้จาก "ค่าเช่า" 10% ซึ่งเป็นรายได้ที่มีการเติบโตสูงเฉลี่ย 11.9% ขณะที่ "ซื้อมาขายไป" มีสัดส่วน 90% ในสาขาเก่าเติบโตเฉลี่ย 3% หากเศรษฐกิจดีเติบโตสูง 5%

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,614
PLAY Q by CST bright u..
1,222
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
936
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
784
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
757
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด