3.0K
20 มิถุนายน 2556
INSIGHT AEC และศศินทร์ เปิดเวที เจาะลึกท่องเที่ยว...แนวรบสู่เป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท


 
งานนิทรรศการและประชุม Insight AEC ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 10 – 13 ตุลาคม 2556 ณ อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์  เมืองทองธานี จัดกิจกรรมก่อนวันงานเพื่อสร้างความตื่นตัวให้ผู้ประกอบการและคนไทยใช้โอกาสอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยร่วมมือกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และMARKETEER จัดสัมมนา Sustainable Marketing Towards AEC: ในหัวข้อ เจาะลึกท่องเที่ยว...แนวรบสู่เป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยว 24 ล้านคน

โดย 3 กูรู ร่วมถกประเด็นร้อนแรง เกี่ยวกับศักยภาพและอุปสรรค ปัญหาที่ซ่อนเร้นของการท่องเที่ยว และการเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันบนเวทีอาเซียนและนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในการเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ขณะที่ถนนนักลงทุนจากทั่วโลกมุ่งสู่อาเซียนและประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวและของนักลงทุนด้านโรงแรมด้วย   การจัดเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก


 
คุณสุวรรณชัย  ฤทธิรักษ์   ที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ   AEC กับโอกาสในธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า  “ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในปี 56  มุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ เพิ่มมูลค่าทางการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์  ผลกระทบเชิงบวกหลังเปิดตลาด AEC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะทำหน้าที่ในเรื่องของการตลาด

โดยเน้นเชิญชวนทั้งคนในประเทศ และนอกประเทศให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น  เมื่อเปิดเสรี AEC จะทำให้การเจาะตลาดมีความง่ายขึ้น  และอาหารไทยก็ถือเป็นจุดเด่นที่ทาง ททท. มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง  จะเห็นว่าจุดแข็งของไทยในบริบทของการท่องเที่ยว จะมีทั้งเรื่องอาหารที่มีความหลากหลาย  แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ วัฒนธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ การบริการของคนไทยก็ได้เปรียบ คนไทยมีความโอบอ้อมอารี สาธารธูปโภคก็มีความทันสมัย  จึงพูดได้ว่า มากิน มาเที่ยว ต้องมาเมืองไทย  

ส่วนจุดเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น คุณภาพด้านสินค้า ไทยควรพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้ตามที่โฆษณา พยายามไม่ให้เกิดการร้องเรียน หลายสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม และจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในตลาดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง  สร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และสร้างความปลอดภัยในสังคม รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพระบบขนส่งให้รวดเร็วมีความปลอดภัยทัดเทียมมาตรฐานสากล และเชื่อมต่อกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ การสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ

อาทิ เรื่องภาษา และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต้องดูแลให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” 


 
ในช่วงสัมมนา Sustainable Marketing toward AEC: ในหัวข้อ “เจาะลึกท่องเที่ยว...แนวรบสู่เป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท  24 ล้านคน ” โดย 3 กูรูมาร่วมถกประเด็น เริ่มจาก คุณปิยะมาน เตชะไพบูลย์  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “รายได้ท่องเที่ยวเพิ่มสูงจริง  แต่ยังกระจุกตัว ไม่กระจายตัว  โดยส่วนใหญ่ไปทะเลภูเก็ต  หัวหิน  ชะอำ  พัทยา  เราพยายามส่งเสริมการเกาะกลุ่มกันขายเป็น Cluster เช่น  พังงา – กระบี่ – พัทลุง – ชะอำ , พัทยา – ระยอง – เกาะช้าง อาศัยการตลาดสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ  จะช่วยกระจายนักท่องเที่ยว  

ส่วนเป้าหมายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ปี56  มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท และในปี 2558 มีการตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท
 ซึ่งก่อนการเปิด AEC เราควรเน้นในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและบริการให้ทัดเทียมสากล  ให้คิดว่าเรากำลังแข่งขันกับตัวเอง เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด  ซึ่งในส่วนของภาครัฐเองมีการปรับแผนรายได้การท่องเที่ยวของไทยให้เกิดการกระจายตัวมากขึ้น

เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ไทยต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากเพื่อนบ้านอาเซียน ตื่นตัวเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้นแล้ว พร้อมย้ำว่า ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจท่องเที่ยวไทย คือเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และภัยธรรมชาติ  อยากให้วางข้อขัดแย้งไว้ก่อน  แล้วมาช่วยกันทำให้ประเทศไทยเคลื่อนไปข้างหน้า”

หม่อมหลวง หทัยชนก  กฤดากร ผู้จัดการทั่วไป-กิจกรรมองค์กร  (ประเทศไทย, กัมพูชา, เมียนมาร์ ,เวียดนาม,ลาว)  บริษัท  แอคคอร์ เอเชีย แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น  จำกัด กล่าวว่า “การที่มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ยังจัดอันดับให้ “กรุงเทพมหานคร” ได้ตำแหน่งอันดับที่ 1 สุดยอดเมืองน่าท่องเที่ยวของโลก จัดเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย แต่ไทยเองก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะการเปิด AEC ก็เปรียบเสมือน สึนามิ ที่มาเงียบๆ ดังนั้นถ้าเรามีการเตรียมพร้อมที่ดี  เราก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มากนัก  ต้องเร่งพัฒนาระบบการจัดการ  เช่น  การออกวีซ่า  หลายประเทศได้เอาท์ซอร์สให้เอกชนทำซึ่งดีกว่าการทำ Visa On Arrival ที่สร้างความแออัดและล่าช้าในสนามบิน  โครงการก่อสร้างระบบคมนาคมของรัฐบาล ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น

เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค จึงสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจุดอื่น  แต่สิ่งที่รัฐบาลไทย ควรเร่งดำเนินการเพื่อต้อนรับการเปิด AEC คือการบริหารจัดการท่องเที่ยวไปในทิศทางเดียวกันและเป็นระบบที่ชัดเจน พร้อมสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาดำเนินธุรกิจบริการในไทย โดยจัดระบบผลกำไรร่วมกันอย่างเหมาะสม  รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยว ฯ ควรมีคณะที่ปรึกษาจากภาคเอกชนที่เขารู้จริงมีประสบการณ์จริงมาเป็น Think Tank วิธีคิดต้อง Universal 360 องศา  ทำผลิตภัณฑ์ที่เจาะตลาดโลก  รับฟังปัญหาจากภาคเอกชน  ทำวิธีแก้ไขเสนอรัฐมนตรี  แล้วทำ Procedure ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติเพื่อที่จะได้วางแผนยุทธศาสตร์  มุ่งมองไปข้างหน้าอย่างถูกทิศทาง และพัฒนาการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้า”

คุณวิโรจน์  สิตประเสริฐนันท์  นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปี56 ททท.ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 24 ล้านคน  ผมมองว่าตลาดการท่องเที่ยวของไทยควรจะเน้นคุณภาพและความยั่งยืนมากกว่าปริมาณ ไม่เช่นนั้นเราจะมีแต่นักท่องเที่ยวระดับล่าง ราคาถูก  ขาดการวางแผนผลิตและพัฒนาบุคลากร  ทำให้ขณะนี้เต็มไปด้วยมัคคุเทศก์เถื่อนและไม่มีคุณภาพเข้ามามากมาย  อย่างประเทศจีนเขาร่ำรวยขึ้น เราควรขายบริการในระดับราคาที่สูงขึ้น  สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ปี 56 การปรับตัวของธุรกิจเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องเร่งพัฒนาอุปสรรคปัญหา  

โดยเบื้องต้นเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายจัดตั้ง "สภาวิชาชีพมัคคุเทศก์" เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลด้านจริยธรรม และพัฒนาคุณภาพของมัคคุเทศก์ให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ทั้งด้านภาษา และงานบริการ เนื่องจากที่ผ่านมาหน้าที่เป็นของภาครัฐ ยังมีความหละหลวมอยู่มาก  ซึ่งถ้าขาดดูแล และการวางแผนที่ดี  การเปิด AEC อาจเปิดโอกาสให้หมู่อาชญากรรมข้ามประเทศเข้ามาได้ง่าย  ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรลงมาดูแลอย่างจริงจัง  ไม่เช่นนั้นไทยจะกลายเป็นประเทศที่ให้ชาติอื่นๆเข้ามากอบโกยและสร้างปัญหาในสังคมตามมา ”
 
ผู้สนใจร่วมสัมมนาได้ฟรี ยังจัดอีก 4 ครั้ง ทุกวันพฤหัสแรกของเดือน แต่ละสัมมนาล้วนเข้มข้น และน่าติดตาม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นับเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์ธุรกิจและชีวิตการทำงานในโลกวันนี้และอนาคต
  • 4 กค.56      เจาะลึก Consumer Products ชิงเค้ก AEC 600 ล้านคน
  • 1 สค.56      เจาะลึก Digital และ IT
  • 5 กย.56      เจาะลึก Banking / Investment
  • 3 ตค.56      เจาะลึก Entertainment & Fashion
 
เกี่ยวกับงานแสดงนิทรรศการและประชุม Insight AEC นับเป็นงานยิ่งใหญ่ แสดงถึงความมั่งคั่งและโอกาสในตลาด 600 ล้านคน จัดโดยมีองค์กรต่างๆเข้าร่วมแสดงในงาน กว่า 20 อุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการหลักของไทยและ 9 ประเทศในอาเซียน  แวะมาชมช่วงวันที่ 10-13 ตุลาคม ณ อาคาร ชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ก่อนวันงาน Insight AEC ยังจัดกิจกรรม Insight AEC Road Show นำเอสเอ็มอีไและนักธุรกิจไทยไปสัมผัสตลาด 9 ประเทศในอาเซียน

ผู้สนใจข้อมูลดูใน www.insightaec.com  โทร.081-750-2928
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
635
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
552
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
514
ข่าวอบรมสัมนามาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด