18K
18 ธันวาคม 2555
พรานทะเล เดินเกมเจาะรากหญ้า ส่งตู้แช่ยึดโชห่วยหมื่นจุด-ผุดแฟรนไชส์ร้านอาหาร
  

ปัจจุบันกลุ่มโฟรเซ่นและชิลฟู้ด นับว่าได้รับการตอบรับในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมเร่งรีบ และเน้นความสะดวกสบาย ส่งผลให้ตลาดขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งทั้งพร้อมปรุงและพร้อมทาน ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10%

เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร รวมถึง "พรานทะเล" แบรนด์ที่เข้ามาบุกเบิกอาหารทะเลแช่แข็งเป็นรายแรก ๆ ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ที่มองว่าถึงเวลาขยายธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเตรียมนำอาหารทะเลแช่แข็งเข้าไปเจาะตลาดโชห่วย หรือร้านค้าชุมชนแบบเต็มสูบตั้งแต่ปีหน้า จากเดิมที่ช่องทางจำหน่ายหลักจะอยู่ที่โมเดิร์นเทรด ด้วยความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป การตอบรับอาหารทะเลแช่แข็งมากขึ้น
  
นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า โปรเจ็กต์ที่ใหญ่ที่สุดในปีหน้า คือการกระจายตู้แช่พรานทะเลเข้าร้านค้าทั่วไป หรือโชห่วย โดยตั้งเป้า 1 หมื่นจุดใน 3 ปี จากปัจจุบันมีอยู่ 700 จุด ขณะที่ช่องทางโมเดิร์นเทรดบริษัทมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เนื่องจากมีตู้แช่กระจายเกือบทุกสาขาในโมเดิร์นเทรดค่ายหลัก ๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าของพรานทะเลเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้อาหารทะเลแช่แข็ง สามารถกระจายลงไปยังผู้บริโภครากหญ้า ซึ่งจะทำให้ตลาดเติบโตได้อีกมหาศาล

 
"เราทำตลาดมานานหลายปี ปัจจุบันผู้บริโภคให้การตอบรับอาหารทะเลแช่แข็งมากขึ้น จริง ๆ โครงการตรงนี้มีขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รุกจริงจัง ขณะนี้การแข่งขันสูงขึ้นเพราะที่ผ่านมาคู่แข่งที่เป็นอาหารแช่แข็งรายใหญ่ ก็เข้ารุกตลาดนี้เช่นกัน"
  
นายอนุรัตน์กล่าวว่า บริษัทจะเน้นร้านโชห่วยที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยเม็ดเงินลงทุนสำหรับโชห่วยต่อตู้แช่จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 หมื่นบาท ขณะนี้บริษัทได้มีการจัดทีมขายเพื่อเข้าไปเจาะร้านค้าในโมเดลต่าง ๆ เรียบร้อย ตั้งแต่ร้านในโรงพยาบาล, หมู่บ้าน, คอนโดฯ แต่ละโลเกชั่นก็จะมีกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างกัน รวมถึงสินค้าที่จะนำเข้าไปวางก็จะแตกต่างกัน

อาทิ หากเป็นโชห่วยที่ใกล้ร้านสะดวกซื้อจะเน้นกลุ่มอาหารพร้อมปรุง เพราะร้านสะดวกซื้อจะมีความแข็งแกร่งในกลุ่มอาหารพร้อมทาน ตรงกันข้ามหากเป็นโลเกชั่นที่ห่างไกลจากร้านสะดวกซื้อก็จะเน้นวางกลุ่มอาหารพร้อมทานเป็นหลัก โดยตู้แช่ก็จะมีขนาดเล็กกว่าในโมเดิร์นเทรด รวมถึงรายการสินค้าที่น้อยกว่า
 
ทั้งนี้เพื่อตอบรับกับโปรเจ็กต์นี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเปิดตัวอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน ในราคาที่เหมาะกับกำลังซื้อผู้บริโภครากหญ้ามากขึ้น ล่าสุดเปิดตัว "ฟิชแวลู" เนื้อปลายอดฮิตของคนญี่ปุ่น ในรูปแบบปลาบดปรุงรสและขึ้นรูปในรูปแบบที่หลากหลาย มีให้เลือก 12 แบบ ราคา 59 บาท ซึ่งจะถูกกว่าเนื้อปลาที่พรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ ขณะที่กลุ่มอาหารพร้อมทานก็เน้นกลุ่มข้าวต้มทะเล ข้าวกล่อง ที่ราคาเข้าถึงง่าย โดยอนาคตก็จะมีการออกสินค้าในราคาถูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  
ผู้บริหารพรานทะเลกล่าวต่อว่า บริษัทยังมองโอกาสการเปิดร้านอาหารภายใต้แบรนด์ "พรานทะเล" ในรูปแบบสแตนด์อะโลนเป็นครั้งแรกในอีก 2 เดือนข้างหน้า เป็นลักษณะอาหารตามสั่ง มีที่นั่งและบริการเสิร์ฟ ราคาอยู่ที่ประมาณจานละ 35-55 บาท สาขาแรกจะเปิดที่ตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปคอนเซ็ปต์ทั้งหมด จะดูผลตอบรับประมาณ 1-2 ไตรมาส

ก่อนที่จะเปิดแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี ทั้งนี้บริษัทมีการทำธุรกิจประเภทดังกล่าว แต่ไม่ได้ทำเต็มรูปแบบ คือ ร้านพรานทะเลในฟู้ดคอร์ตซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100 สาขา และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต
 
นายอนุรัตน์กล่าวว่า สำหรับอนาคตบริษัทตั้งเป้ารายได้ 5,000 ล้านบาทใน 3 ปี จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเติบโตหลายเท่าตัว จากโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น นอกจาก

 
ตู้แช่และร้านอาหารสแตนด์อะโลนแล้ว ก็จะมีการขยายกำลังการผลิตในส่วนของอาหารพร้อมทาน นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมซื้อธุรกิจโรงงานผักปลอดสารพิษจากบริษัทแม่เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจผักปลอดสารพิษพร้อมปรุงภายใต้แบรนด์ "พรานไพร" ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมาอีก 600 ล้านบาท
  
"ผักปลอดสารพิษมีโอกาสมาก ความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เราจะทำเป็นผักที่มีแบรนด์ที่มีการหั่นและจัดเตรียมพร้อมนำไปปรุงอาหารได้ทันที เพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค โดยสินค้าวางในเดอะมอลล์ทุกสาขา ท็อปส์ 1 สาขา และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ก็มีมุมสลัดบาร์ของพรานไพรปัจจุบันมี 40 จุด ก็จะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ"
 
ปัจจุบันรายได้ของพรานทะเลมาจากกลุ่มอาหารพร้อมทาน และอาหารพร้อมปรุงอย่างละ 30% อีก 30% มาจากกลุ่มซูชิ และฟู้ดคอร์ต 10%
 
นอกจากนี้ มีแผนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปลายปีหน้า เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3 ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับโครงสร้าง และเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ มาประมาณ 6 เดือนแล้ว โจทย์หลักต้องแยกการดำเนินการทุกอย่างออกจากบริษัทแม่ "ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์"

โดยเป้าหมายของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนขยายกิจการในอนาคต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทต่ำลง พร้อมกันนี้ได้จัดเตรียมแผนสร้างรายได้ต่าง ๆ ในอนาคตไว้หลายโปรเจ็กต์ เพื่อเพิ่มรายได้ของบริษัท ส่วนหนึ่งก็เป็นแผนที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง และวางไว้เป็นสเต็ปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว 

อ้างอิงจาก ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
5,572
PLAY Q by CST bright u..
1,215
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
940
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
931
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
784
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
757
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด