ธ.ออมสินลุย สินเชื่อแฟรนไชส์ รายละ2แสนปั้นเถ้าแก่พอเพียง

ภาพจาก https://bit.ly/3I9e7MW
ออมสินเปิดตัว “สินเชื่อผู้ประกอบการรายใหม่” สร้างโอกาสให้ประชาชนเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดย่อม วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท หรือ 70% ของค่าแฟรนไชส์ พร้อมจับมือแฟรนไชส์ 5 แห่ง ร่วมปั้นเถ้าแก่พอเพียงและเตรียมเจรจาเพิ่มอีกกว่า 10 รายภายในปีนี้
นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ ได้เปิดให้บริการสินเชื่อประเภทใหม่ คือสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหม่ (ธุรกิจแฟรนไชส์) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ที่ต้องการ เป็นเจ้าของธุรกิจในรูปแบบผู้ประกอบการรายย่อย
และให้ผู้สนใจนำไปเป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมทำธุรกิจ ภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือค่าบริการของเจ้าของแฟรนไชส์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในด้านเงินทุนหรือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ
“สินเชื่อนี้จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีแหล่งเงินทุนในการประกอบการอาชีพ ซึ่งเป็นการขยายผลไปยังผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ ให้มีเงินทุนในการดำเนินการและเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยที่ธนาคารออมสินและเจ้าของแฟรนไชส์ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน
ในการส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนผู้สนใจดำเนินธุรกิจ ได้ด้วยความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นายกรพจน์กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการให้สินเชื่อผู้ประกอบการรายใหม่นี้ ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิเข้าร่วมทำธุรกิจ กับเจ้าของแฟรนไชส์แต่ละรายจะสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70 % ของค่าแฟรนไชส์ หรือไม่เกินรายละ 200,000 บาท และวงเงินให้กู้รวมของผู้รับสิทธิในการเข้าร่วมทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้นๆ
เมื่อรวมกันต้องไม่เกิน 20 เท่าของค่าแฟรนไชส์ มีหลักประกันเงินกู้ทั้งในส่วนของผู้กู้และ เจ้าของแฟรนไชส์โดยผู้กู้ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีบุคคลค้ำประกันหากผู้ค้ำประกันมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไปจำนวน 1 คน และ 2 คน จะค้ำประกันเงินกู้ได้ไม่เกิน 100,000 และ 200,000 บาท ตามลำดับ ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบันอยู่ที่7.50%) +3 ต่อปี
ผู้กู้ต้องเป็นผู้ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมทำธุรกิจกับ เจ้าของแฟรนไชส์ที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคาร ซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์นั้นต้องมีผู้รับสิทธิ (แฟรนไชส์ซี่) มาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ราย ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน ได้ร่วมกับเจ้าของแฟรนไชส์ 2รายในการส่งเสริมอาชีพอิสระนี้ ได้แก่
บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ด จำกัด เจ้าของเครื่องหมายการค้า “โกเด้ง โฮเด้ง” บริษัท น้ำอ้อย ไร่ไม่จน จำกัด เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำอ้อย และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงให้สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่
- บริษัท ฮาโมนี โปรดักส์ จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ “ไอซ์ ทวิสเตอร์”
- ห้างหุ้นส่วนจำกัดลูกชิ้นหมู ไทย–อินเตอร์ เจ้าของแฟรนไชส์ “ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูนายฮุย”
- นายภูริวิชย์ บุญส่งกิจ เจ้าของแฟรนไชส์ “ก๋วยเตี๋ยว กระทุ่มแบน”
รวมจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย
"ภายในปีนี้ธนาคารออมสินจะดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลง กับเจ้าของแฟรนไชส์ในกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม บริการ อีกอย่างน้อย 10 ราย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าเจ้าของแฟรนไชส์แต่ละราย จะสามารถขยายฐานแฟรนไชส์ซี่ของตนเอง จากการสนับสนุนสินเชื่อของธนาคารออมสินให้เติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน" นายกรพจน์กล่าว.
ธนาคารออมสิน ปล่อยให้กู้เงิน โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เช็คเงื่อนไขที่นี่
คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ
- มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
- มีถิ่นที่อยู่อาศัย และ สถานประกอบการแน่นอน
- ไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหาร หรือกรรมการของธนาคารออมสิน
- เป็นผู้เริ่มประกอบอาชีพ/ผู้ประกอบการรายย่อย/ผู้ประกอบการขนาดเล็ก/ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ที่มีความน่าเชื่อถือ หรือ มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพดังกล่าวมาแล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- ผู้เริ่มประกอบอาชีพ/ผู้ประกอบการรายย่อย ประกอบด้วย ผู้ที่ผ่านการอบรมอาชีพ "ช่าง" ทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้ประกอบอาชีพเสริมสวย/ตัดผม เป็นต้น และ ผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น จำหน่ายสินค้า online การดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง การจัดดอกไม้ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานรัฐ/เอกชน หรือเอกสารอื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพ
- ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่/รถตู้สาธารณะ/รถรับจ้างขนส่งสินค้า โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ หรือเอกสารอื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพ
- ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่มีสถานที่จำหน่าย หรือสถานที่ให้บริการ ที่แน่นอน เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ ร้านนวดแผนไทย ร้านสปา อู่ซ่อมรถ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ
วัตถุประสงค์การกู้
เพื่อเป็นเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ หรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องไม่เป็นการนำไป Refinance สินเชื่อเช่าซื้อ และบรรเทาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพจากการได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19
ประเภทสินเชื่อ
เงินกู้ระยะยาว (L/T)
ประเภทกิจการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพช่าง เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้ประกอบอาชีพเสริมสวย/ตัดผม เป็นต้น วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท
- ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่ช่าง เช่น จำหน่ายสินค้า online การดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง การจัดดอกไม้ เป็นต้น วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท
- ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่/รถตู้สาธารณะ/รถรับจ้างขนส่งสินค้า วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ผู้ประกอบการร้านค้าแฟรนไชส์ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีสถานที่จำหน่ายที่แน่นอน เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง โชห่วย ร้านนวดแผนไทย ร้านสปา อู่ซ่อมรถ เป็นต้น วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท
อัตราดอกเบี้ย
- อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี (Effective Rate) ตลอดอายุสัญญากู้เงิน
ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้
สูงสุดไม่เกิน 5 ปี (60 งวด) รวมกับระยะเวลาปลอดชำระเงินงวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 6 งวดแรก โดยเริ่มชำระตั้งแต่งวดที่ 7 เป็นต้นไป จนกว่าจะปิดบัญชีหรือครบสัญญา
หลักประกันการกู้เงิน
- กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan)
- กรณีวงเงินกู้เกิน 100,000-300,000 บาท ใช้บุคคลค้ำประกัน โดยบุคคลค้ำประกันจะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินกู้
เอกสารประกอบการขอกู้
เอกสารที่ผู้ขอกู้จะต้องเตรียม เพื่อใช้ยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสินสาขา แยกตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้
ผู้ประกอบวิชาชีพช่าง เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ผู้ประกอบอาชีพเสริมสวย/ตัดผม เป็นต้น
- บัตรประชาชนผู้ขอกู้
- ทะเบียนบ้านผู้ขอกู้
- ใบประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานรัฐ/เอกชน หรือเอกสารอื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพ (ฉบับจริง)
- รูปถ่ายสถานประกอบการ (ถ้ามี)
ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่ช่าง เช่น จำหน่ายสินค้า online การดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง การจัดดอกไม้ เป็นต้น
- บัตรประชาชนผู้ขอกู้
- ทะเบียนบ้านผู้ขอกู้
- ใบประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานรัฐ/เอกชน หรือเอกสารอื่น ๆ ตามประเภทของอาชีพ (ฉบับจริง)
- รูปถ่ายสถานประกอบการ (ถ้ามี)
ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่/รถตู้สาธารณะ/รถรับจ้างขนส่งสินค้า
- บัตรประชาชนผู้ขอกู้
- ทะเบียนบ้านผู้ขอกู้
- ใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ (ฉบับจริง)
- รูปถ่ายสถานประกอบการ (ถ้ามี)
ผู้ประกอบการร้านค้าแฟรนไชส์
- บัตรประชาชนผู้ขอกู้
- ทะเบียนบ้านผู้ขอกู้
- สัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ (ฉบับจริง)
- เอกสารประมาณการ รายรับ-รายจ่าย ของธุรกิจแฟรนไชส์ (ตัวอย่างแบบฟอร์มเอกสารตาม Link นี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำเอกสารในการยื่นขอกู้)
- รูปถ่ายสถานประกอบการ (ถ้ามี)
ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีสถานที่จำหน่ายที่แน่นอน เช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง โชห่วย ร้านนวดแผนไทย ร้านสปา อู่ซ่อมรถ เป็นต้น
- บัตรประชาชนผู้ขอกู้
- ทะเบียนบ้านผู้ขอกู้
- ทะเบียนการค้า/ทะเบียนพาณิชย์ ของสถานประกอบการ
- รูปถ่ายสถานประกอบการ (ถ้ามี)
วงเงินโครงการ
5,000 ล้านบาท
ระยะเวลาโครงการ
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน โดยจะต้องอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด (First Come First Serve)
ข้อมูลจาก ธนาคารออมสิน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์