422
29 พฤศจิกายน 2566
กรมพัฒน์ฯ เปิดบ้านเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจผ่านออนไลน์กับ 4 หน่วยงาน เตรียม MOU แจ้งการจดทรัพย์สินมีทะเบียน
 

กรมพัฒน์ฯ เปิดบ้านเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจผ่านออนไลน์กับ 4 หน่วยงานเตรียม MOU แจ้งการจดทรัพย์สินมีทะเบียน พร้อมเรียกดูข้อมูลได้แบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล รับเทรนด์รักษ์โลกคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผู้บริโภคได้รับประโยชน์เต็มๆ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หารือ 4 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมจัดทำสาระสำคัญในร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามภารกิจของ แต่ละหน่วยงาน ก่อนกำหนดวันลงนาม MOU เร็วๆ นี้ ตั้งใจให้ผู้ประกอบการ ผู้รับหลักประกัน ผู้บังคับหลักประกัน และประชาชนได้รับความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ลดขั้นตอนการติดต่อหลายหน่วยงาน พร้อมลดความผิดพลาด และความซ้ำซ้อนของการบันทึกข้อมูล ที่สำคัญเรียกดูข้อมูลได้แบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมหารือกับอีก 4 หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหน่วยจดทะเบียนสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจ้าท่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมการขนส่งทางบก เพื่อเตรียม MOU เชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ด้วยการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ประกอบธุรกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเภททรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ประกอบด้วย 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง 5) ทรัพย์สินทางปัญญา และ 6) ไม้ยืนต้น

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า “เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 กำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานรับจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลทรัพย์สินมีทะเบียน อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา เรือ เครื่องจักร รถยนต์ ที่สถาบันการเงินมายื่นขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจต่อกรมฯ ไปยังหน่วยจดทะเบียนสิทธิที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในอันที่จะตรวจสอบเบื้องต้นจากทะเบียนทรัพย์สินดังกล่าวว่ามีการนำมาใช้เป็นหลักประกันแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังลดภาระคู่สัญญาที่ไม่ต้องดำเนินการเอง

กรมฯ จึงจัดทำโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทั้งสถาบันการเงิน ผู้รับหลักประกัน ผู้บังคับหลักประกัน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) ใหม่นี้สามารถแจ้งข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจไปยังหน่วยงานจดทะเบียนสิทธิผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบ Real Time หน่วยจดทะเบียนสิทธิสามารถรับข้อมูลการนำทรัพย์สินมีทะเบียนที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

และบันทึกข้อมูลลงในทะเบียนทรัพย์สินได้ทันทีซึ่งช่วยอำนวยความสะดวก และป้องกันความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะของการติดหลักประกันได้ทั้งหน่วยจดทะเบียนสิทธิและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

การประชุมหารือในครั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และอีก 4 หน่วยงานต่างให้ความสำคัญและร่วมมือ ในการเตรียมความพร้อมที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินมีทะเบียนที่นำมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยดี และเห็นพ้องต้องกันว่าการเชื่อมโยงระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ขานรับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหลังจากนี้จะได้ร่วมกันกำหนดวันลงนาม MOU ซึ่งคาดว่าจะเร็วๆ นี้” รองอธิบดีกล่าวในตอนท้าย

สถิติการนำทรัพย์สินมีทะเบียนมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวนทั้งสิ้น 481,289 รายการ มีมูลค่า 1,093,490,756,240.- บาท (หนึ่งล้านเก้าหมื่นสามพันสี่ร้อยเก้าสิบล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นหกพันสองร้อยสี่สิบล้านบาทถ้วน) คิดเป็นร้อยละ 44 ของทรัพย์สินที่จดทะเบียนทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566)

ที่มา : www.dbd.go.th
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,291
PLAY Q by CST bright u..
1,337
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
952
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
798
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด