553
2 สิงหาคม 2565
ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 6 เดือนแรกปี ‘65 จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นกว่า 41%
 

พาณิชย์’ เผย ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ...6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ปี 2565 จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นกว่า 41% ธุรกิจเร่งปรับตัวเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค รองรับวิกฤตพลังงาน เปลี่ยนรถให้เช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายไลน์ธุรกิจเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นหุ้นส่วนนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่ารายวัน หารายได้พิเศษ ใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า
 
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2563 - 2564 ธุรกิจประเภทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ขณะที่การเดินทางภายในประเทศถูกจำกัดด้วยมาตรการทางสาธารณสุข ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะหยุดชะงัก ผ่านพ้นถึงปี 2565 โรคโควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ ลง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทุกภาคส่วนส่งสัญญาณการฟื้นตัวและกลับมาคึกคักอีกครั้ง
 
หนึ่งในธุรกิจที่ฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 อย่างชัดเจน คือ ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ปี 2565 มีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงร้อยละ 40.74 (มกราคม - มิถุนายน 2564 จัดตั้งใหม่ 54 ราย ทุนจดทะเบียน 129.50 ล้านบาท : มกราคม - มิถุนายน 2565 จัดตั้งใหม่ 76 ราย ทุนจดทะเบียน 132.95 ล้านบาท จัดตั้งเพิ่มขึ้น 22 ราย ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.45 ล้านบาท) สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีต่อธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
 
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) มีธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 2,045 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 23,239.85 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.11 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (609 ราย) ชลบุรี (166 ราย) ภูเก็ต (166 ราย) เชียงใหม่ (164 ราย) สุราษฎร์ธานี (98 ราย) สมุทรปราการ (82 ราย) ฯลฯ
 
ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจฯ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 18,878.20 ล้านบาท (ร้อยละ 81.23) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ทุน 3,963.18 ล้านบาท (ร้อยละ 17.05) รัสเซีย ทุน 69.55 ล้านบาท (ร้อยละ 0.30) ฝรั่งเศส ทุน 56.14 ล้านบาท (ร้อยละ 0.24) และสัญชาติอื่นๆ ทุน 272.78 ล้านบาท (ร้อยละ 1.17)
 
ธุรกิจฯ มีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 46,500 ล้านบาทต่อปี (รายได้รวม ปี 2562 จำนวน 55,398.50 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 44,101.63 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 และ ปี 2564 จำนวน 39,991.03 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9) ขณะที่ผลประกอบการมีกำไรโดยเฉลี่ยประมาณ 3,230 ล้านบาทต่อปี (กำไรรวม ปี 2562 จำนวน 5,534.46 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 2,507.14 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55 และ ปี 2564 จำนวน 1,651.57 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34)
 
ทั้งนี้ ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ มีรูปแบบการให้เช่าเพื่อดำเนินงาน (Operating Lease) แบ่งเป็นการเช่าระยะยาวรายปี และการเช่าระยะสั้นชั่วคราว (Rental) (เช่ารายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน)

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มกราคม - มิถุนายน 2564) มีปัจจัยมาจากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการครอบครองรถยนต์ จากการซื้อเป็นการเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในสำนักงาน เป็นการลดภาระทางการเงินในการซื้อรถยนต์ รวมทั้ง มีบริการซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ
 
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันและค่านิยมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้งานรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์พลังงานสันดาป ส่งผลให้ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ฯ ปรับเปลี่ยนรถที่ให้เช่าเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากการเช่ารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในหน่วยงานแล้ว

ผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ได้เปลี่ยนมาเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในงานรับส่งพัสดุ สิ่งของ หรือผู้โดยสาร เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษารถไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับจำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ระยะเวลา 6 เดือน (กันยายน 2564 - มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนกว่า 944 สถานี กระจายอยู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ รองรับรถพลังงานไฟฟ้า เป็นการชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวและปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
 
นอกจากจะมีการเปลี่ยนประเภทรถให้เช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ธุรกิจยังมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยเพิ่มจุดรับรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเช่ารถมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากรายได้ของธุรกิจให้เช่ายานยนต์ฯ ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่ารถระหว่างการท่องเที่ยว แต่เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ธุรกิจให้เช่ายานยนต์ฯ จึงปรับตัวด้านการจัดการต้นทุนในส่วนของการลงทุนซื้อรถยนต์ ด้วยการให้ประชาชนทั่วไปเป็นหุ้นส่วนนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่าเป็นรายวัน ซึ่งบริษัทจะเก็บค่าคอมมิชชั่นจำนวนหนึ่ง และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถยนต์ให้สามารถเลือกวันที่เจ้าของรถยนต์ต้องการจะให้เช่า และเจ้าของสามารถติดตามรถยนต์ของตนเองบนแอปพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้น

รวมถึง มีประกันภัยรถยนต์ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับเจ้าของรถยนต์ที่มาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการประกอบธุรกิจ เป็นการหารายได้พิเศษ และใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

ที่มา : MGRonline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,279
PLAY Q by CST bright u..
1,334
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
951
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
950
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
798
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
770
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด