1.2K
9 กรกฎาคม 2564

DITP คิกออฟ "Idea Lab 4" ติวเข้ม SMEs ไทย พร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าสากลหลังโควิด


 
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคิกออฟกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยรุ่น 4 (Idea Lab 4) ตอบรับยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" หลังประสบความสำเร็จมาแล้วถึง 3 รุ่น ปีนี้เน้นการอบรมแบบออนไลน์ขยายการเข้าถึงจากทั่วประเทศ เฟ้นหา 15 แบรนด์หัวกะทิเวิร์คช้อปเข้มข้นพัฒนาแบรนด์ให้เหมาะกับฐานชีวิตใหม่ พร้อมผลักดันการสร้างแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่นสู่การยอมรับในตลาดสากลในยุคหลังโควิด ขยายมูลค่าการค้าได้อย่างยั่งยืน
 
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก สินค้าหลายแบรนด์ต่างต้องหันกลับมาพิจารณาในแง่ของ Brand Relevance หรือความสัมพันธ์ของแบรนด์ต่อผู้บริโภค ว่ามอบคุณค่าและสอดคล้องกับความต้องการภายใต้ฐานชีวิตโลกใหม่ (New Normal) มากน้อยเพียงไร เป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการปรับตัวและพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ทำความเข้าใจในลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ช่องทางการจำหน่าย การค้า การสื่อสาร การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
"นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เน้นพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิต และภาคบริการ ทั้ง SMEs และ Micro SMEs ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตนเองด้วยการออกแบบสร้างสรรค์ การใช้นวัตกรรม รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ โดยใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่นำความต้องการยุควิถีใหม่มาเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจ อาทิ เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ เป็นต้น
 
กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 4 (IDEA LAB 4: Thai Brand Incubation Program) ที่จัดโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้านั้น เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด "From The New Normal to A New Future" เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการไทยในทุกภูมิภาค ในด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและให้สามารถขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งไปยังผู้ประกอบการใน 3 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในทางการตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม และกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม เป็นการดำเนินการจัดในลักษณะบูรณาการร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และมีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์ภูมิภาคให้เป็นแบรนด์ต้นแบบประจำท้องถิ่น (Local Brand Hero) เน้นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง มีการนำเอาวัตถุดิบหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือมีฐานการผลิตในภูมิภาค มีการสร้างงาน/สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจสู่ระดับสากล"
 
โดยผู้ประกอบการทั้ง 127 แบรนด์จะได้ร่วมอบรมในรูปแบบออนไลน์ 5 ครั้ง จากนั้นจะเป็นการนำเสนอ กลยุทธ์ต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 15 แบรนด์สำหรับรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วม Workshop เชิงลึกจำนวน 4 ครั้ง กับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ได้แก่ สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design, ณฑัต ณ สงขลา นักวางแผนกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์และนักการตลาด และทรงพล เนรกัณฐี นักวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างแบรนด์และนักการตลาด เป็นต้น ซึ่งทั้ง 15 แบรนด์จะได้ร่วมกันสร้างเครือข่าย กระชับความสัมพันธ์ในรุ่น และสร้างแรงบันดาลใจ โดยเน้นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในสถานการณ์การค้าปัจจุบันฐานวิถีชีวิตใหม่ อาทิ การสร้างแบรนด์ การค้าออนไลน์ การสร้างเนื้อหาสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเรื่องราวให้แบรนด์ หรือ Story Telling รวมถึงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นต้น
 
"จากกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยรุ่นที่ 1 - 3 นั้น มีผู้เข้ารับการอบรมเสริมองค์ความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ทั้งสิ้น 334 ราย และเข้าร่วมการบ่มเพาะเชิงลึก จัดทำกลยุทธ์/คู่มือการสร้างแบรนด์เป็นรายบริษัท 56 แบรนด์ อาทิ สินค้าเครืองสำอางแบรนด์ VITISTRA (วีทิสตร้า) สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ Koob-Tei (กุ๊บไต) และสินค้าเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Moonler (มูนเลอร์) เป็นต้น ต่างประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในด้านการสร้างแบรนด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยแต่ละรายได้แนวทางกลยุทธ์แบรนด์ ค้นพบอัตลักษณ์ จุดแข็ง ความท้าทายของตนเอง สามารถเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในเวทีสากลด้วยการปรับผลิตภัณฑ์ แนวทางธุรกิจ การสื่อสารแบรนด์ การวางแผนขยายแบรนด์ในอนาคต ทั้งยังได้สร้างประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากมีการนำเอาวัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้า มีฐานการผลิตในภูมิภาคหรือมีการสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน จึงก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วย" ม.ล.คฑาทอง กล่าว
 
ที่มา : ryt9.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
933
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
635
“เติมพลังความรู้” กับ ..
591
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
562
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
552
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
514
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด