825
20 ตุลาคม 2563
SME D Bank ผนึกหน่วยงานภาครัฐ นำร่องศึกษาโครงการ ‘วันใหม่-ไปต่อ’ พร้อมมอบสิทธิพักชำระเงินต้นเพิ่มอีก 6 เดือน!
 
 
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank จับมือ IAM-SAM ศึกษาโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ฟื้นฟูกิจการด้วยหลักเกณฑ์ผ่อนปรน พร้อมช่วยต่อเนื่อง มอบสิทธิขยายเวลาพักชำระเงินต้นให้ลูกค้าสถานะชำระปกติเพิ่มอีก 6 เดือน ประคองธุรกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ
 
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกระทบความสามารถการชำระหนี้ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ตามปกติของระบบสถาบันการเงินมีข้อจำกัดต้องเป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย อีกทั้งต้นทุนสูง และใช้เวลานาน ไม่เหมาะต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเปราะบาง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
 
ดังนั้น SME D Bank จึงศึกษาแนวทางบูรณาการความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อ่อนแอเพราะสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” พาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของสองหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดภาระการชำระหนี้ พลิกฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง รวมถึงรักษาสถานะทางการเงินของธนาคาร ช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับการขับเคลื่อนนโยบายทางการเงิน
 
ทั้งนี้ เมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟูมาแล้ว ทาง SME D Bank ประสานหน่วยงานกำกับดูแลและพันธมิตร เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น ดำเนินกิจกรรมเพิ่มศักยภาพ รวมถึงพาสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ขยายตลาดออนไลน์ มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ช่วยยกระดับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในที่สุด ก่อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการกลับมาเป็นเอสเอ็มอีที่มีความแข็งแรง ร่วมเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
 
“ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับการช่วยเหลือจากทาง SME D Bank เช่น บริษัท โซดา พริ้นติ้ง จำกัด ที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่ได้เห็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจตามวิกฤตที่ได้พบเจอ และถือเป็นโมเดลธุรกิจเอสเอ็มอีที่สามารถปรับตัวเร็ว และล่าสุดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งสอดรับกับความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี โดยชูจุดเด่นในการพิมพ์ลายผ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทางร้าน” นางสาวนารถนารีกล่าวเพิ่มเติม
 
อีกทั้งโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” เป็นการบูรณาการความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ต้องการการฟื้นฟู ซึ่งมีข้อตกลงเบื้องต้นให้ทั้งสองหน่วยงานเข้ามาศึกษา portfolio ของธนาคาร ซึ่งกรอบแนวทาง นอกจากการปรับโครงสร้างทางการเงินที่หน่วยงานบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company : AMC) จะดำเนินการแล้ว ยังเพิ่มเติมด้วยการเสริมความรู้ด้านบริหารจัดการให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และหากสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ SME D Bank ยินดีจะรับลูกค้ากลับมาดูแลต่อให้ธุรกิจดำเนินเติบโตต่อเนื่อง
 
โดย SME D Bank ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ดำเนินการควบคู่ทั้งมาตรการทางการเงิน และมาตรการไม่ใช่การเงิน โดยด้านการเงิน ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้าทุกรายเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีลูกค้าธนาคารเข้าเกณฑ์มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ จำนวน 43,215 ราย มูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท
 
สำหรับด้านที่ไม่ใช่ทางการเงิน ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด “เติมความรู้คู่ทุน” ออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ ยกระดับรับยุค New Normal เช่น หลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th , เพิ่มช่องทางขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ฝากร้านฟรี SME D Bank” และผลักดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE , JD Central เป็นต้น เฉพาะแค่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมามียอดการเข้ามาลงทะเบียนร่วมกิจกรรมสูงกว่า 2,800 ราย ขณะที่ปัจจุบันมียอดร่วมกิจกรรมกว่า 23,321 ราย
 
นอกจากนั้น SME D Bank ช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง รองรับหลังครบมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้เป็นต้นไป โดยให้สิทธิลูกค้าที่มีสถานะชำระปกติ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 สามารถขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มเติม คงเหลือชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้อีก 6 เดือน สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ ธนาคารจะนำยอดดังกล่าวไปรวมให้ชำระในช่วงท้ายของสัญญา และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต
 
สำหรับลูกค้าที่ต้องการพักชำระหนี้เงินต้นเพิ่มเติมอีก 6 เดือน สามารถลงทะเบียนผ่านการสแกน QR Code ในใบแจ้งหนี้ที่ทางธนาคารจะส่งไปให้ โดยเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อได้ที่สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ อีกทั้งตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา SME D Bank เข้าเยี่ยมลูกค้า เพื่อแนะนำแนวทางช่วยเหลือขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นเพิ่มอีก 6 เดือน ซึ่ง ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2563 สอบถามลูกค้าไปแล้วกว่า 66% ของผู้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดยมีลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอพักชำระเงินต้นเพิ่มเติมจำนวน 4,576 ราย วงเงิน 7,207 ล้านบาท ซึ่งก่อนจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะสอบถามความต้องการลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ได้ครบถ้วนทุกรายแน่นอน ช่วยลูกค้ารักษาเครดิตการค้า และป้องกันการตกชั้นหนี้
 
สุดท้ายนี้ แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มีแนวทางในการจัดการทั้งช่วยในการเติมทุนใหม่เสริมสภาพคล่อง อีกทั้งยังช่วยมากกว่าประกาศ พ.ร.ก. ด้วยมาตรการ “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม” พร้อมทั้งติดปีกขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ และ Upskill-Reskill ยกระดับสู่ยุค New Normal ต่อไป
 
อ้างอิงจาก : MGROnline.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่ มาแล้ว! ทูลเก..
6,151
PLAY Q by CST bright u..
1,319
มาแล้ว! #งานแฟรนไชส์ ม..
945
อร่อย! เลิศ! รสเด็ด ก๋..
943
สุดปัง! แฟรนไชส์หม่าล่..
792
ลงทุนกับ “ซุปซุป” ร้าน..
769
ข่าว SMEsมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด