4.6K
7 มิถุนายน 2552

โวย'เรนโบว์ โปรเจ็กต์'แค่สร้างภาพ กลุ่มแฟรนไชส์พ้อคนไม่รู้จัก/แบงก์ไม่ปล่อยกู้/พณ.ยันไม่ล้มแน่นอน 


เอกชนอัดยับ"เรนโบว์ โปรเจ็กต์" ของกระทรวงพาณิชย์ ไม่รื่นไหลสวนทาง "อลงกรณ์" ที่ฟุ้ง 7 ธุรกิจเดินหน้ายอดเงินสะพัดแล้ว 20 ล้านบาท แฉประชานิยมชัดๆ เผยปัญหาคนรู้จักโครงการน้อย แถมสถาบันการเงินเข้มปล่อยสินเชื่อ


นายปฐมพงษ์ อรรคศรี กรรมการสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับโครงการเรนโบว์โปรเจ็กต์ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจและลดปัญหาการว่างงาน ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญชวน 7 ธุรกิจเข้าร่วมโครงการได้แก่ 1.ธุรกิจแฟรนไชส์ 2.ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3.ธุรกิจขายตรง 4.ธุรกิจการตลาดแบบตรง 5.ธุรกิจกรีนบิซิเนส 6.ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ และ 7.ธุรกิจแหล่งการค้าใหม่


แต่ปรากฏว่าถึงขณะนี้ทั้ง 7 ธุรกิจยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เช่นกรณีสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย ที่ได้นำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วม 50 ธุรกิจ แทบไม่ได้ผลจากโครงการนี้ แม้จะมีคนสนใจอยากลงทุนแต่สุดท้ายติดปัญหาสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ จึงไม่สามารถลงทุนได้


"การที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศความสำเร็จของโครงการดังกล่าวในงาน มหกรรมธุรกิจสร้างอาชีพ 2009 หรือ "เรนโบว์แฟร์" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พ.ค. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 40,000 ราย ในจำนวนนี้เริ่มดำเนินธุรกิจบ้างแล้วและมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 20 ล้านบาท พร้อมกับระบุถึงสิ้นปีจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการและผู้ว่างงานไม่ต่ำกว่า 100,000 คน หากสามารถดำเนินการได้เชื่อว่าจะทำให้มีระบบเงินทุนหมุนเวียนใน 7 กลุ่มธุรกิจกว่า 2,000 ล้านบาท จึงมองว่ารัฐบาลหาเสียงหรือสร้างประชานิยมจากโครงการมากเกินไป ทั้งที่ผู้เข้าร่วมโครงการและผู้สนใจลงทุนยังมีปัญหาอีกมากมาย"
 


นายปฐมพงษ์ กล่าวว่าปัญหาที่อยากจะให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือเจรจากับสถาบันการเงิน เพราะเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าผู้ประกอบการที่สนใจลงทุน 7 ธุรกิจ จะได้รับการผ่อนปรนการขอสินเชื่อเป็นพิเศษแต่ในทางปฏิบัติสถาบันการเงินใช้มาตรฐานปกติทั่วไป โดยประเด็นที่ให้ผ่อนปรนคือไม่ตรวจสอบเครดิตบูโรย้อนหลัง ผู้ประกอบการค้ำประกันกันเองได้ ไม่ต้องใช้ข้าราชการ 4-5 คน


ขณะที่นายพศวัติ ไชยาพรพรรณ แฟรนไชส์รถเข็นผัดไทย บ้านทางเกวียน กล่าวทำนองเดียวกันว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการตั้งเป้าไว้ขายแฟรนไชส์ได้เดือนละ 1-2 ราย แต่ผ่านมา 2 เดือนยังขายไม่ได้สักราย ทั้งที่ธุรกิจแฟรนไชส์ มูลค่าเพียง 5,000 บาทเท่านั้น ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้ไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะชื่อโครงการ รวมถึงขาดการประชาสัมพันธ์ จึงทำให้คนไม่ค่อยรู้จัก "แม้กระทั่งผมยังไม่รู้เลยว่า "เรนโบว์" คืออะไร"นายพศวัติกล่าว


นายสมชาติ สร้อยทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าได้รับทราบปัญหาสถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อผู้สนใจประกอบธุรกิจภายใต้โครงการเรนโบว์โปรเจ็กต์มาบ้าง แต่อาจจะเป็นรายบุคคลไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งสถาบันการเงินอาจจะมองว่าธุรกิจที่จะลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ประกอบกับบางธุรกิจไม่ใช่แฟรนไชส์ 100% บางรายเพียงแค่ขายวัตถุดิบ ขายชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ดีราวกลางเดือนมิถุนายน ศกนี้ จะเชิญบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)มาร่วมหารือถึงการให้สินเชื่อ แต่ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะไม่เร่งจำนวน เพราะจะทำให้ได้ปริมาณแต่ขาดคุณภาพ แต่ขอยืนยันว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้าไม่ล้มอย่างแน่นอน


ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องการให้ปล่อยสินเชื่อโดยไม่เช็กเครดิตบูโรนั้นคงทำไม่ได้ เพราะเป็นกฎระเบียบที่ทุกธนาคารจะต้องถือปฏิบัติอย่างเข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงกันหนี้สูญ

 










อ้างอิงจาก ฐานเศรษฐกิจ
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สาขาใหม่มาแล้ว! บุราณ ..
1,161
รวมภาพบรรยากาศ คอร์ส F..
789
“เติมพลังความรู้” กับ ..
625
มาโนอิ ร่วมงานครบรอบ 1..
597
สมาร์ทเบรน จินตคณิต เป..
594
โทกิวอช ร้านสะดวกซัก เ..
539
ข่าวแฟรนไชส์มาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด