ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


เรื่องน่ารู้ อาการโคลิค คืออะไร อันตรายแค่ไหน?

การร้องไห้ของเด็กทารก ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจะเกิดจากการหิวนม ง่วงนอน เหนื่อยเพลีย ไม่สบายตัว หรือรู้สึกเปียกชื้น เพราะฉะนั้นเด็กจะใช้การร้องเป็นเหมือนกับการส่งสัญญานให้พ่อแม่ แต่ถ้าลูกน้อยวัยประมาณ 1 เดือนมีอาการร้องไห้หนักหรือนานผิดปกติอาจเป็นสัญญานว่าเด็กกำลังมี อาการโคลิค ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทารกในวัย 2-3 สัปดาห์ แม้ว่าเด็กคนนั้นจะมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงก็ตาม

โดยการสังเกตว่าเด็กที่มีอาการ ร้องไห้ติดต่อกันอย่างรุนแรงต่อเนื่องนาน 2-3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่ออาทิตย์ และต่อเนื่องกันนานกว่า 3 อาทิตย์ซ้ำ ๆ ในเวลาในช่วงค่ำทุกวัน นอกจาก ลูกร้องไม่หยุด แล้ว ในบางรายยังมีอาการหน้าแดงกว่าร้องไห้ปกติ กำมือแน่น งอแขนงอขา หดเกร็งกล้ามเนื้อ หรือร้องเสียงแหลมผิดปกติร่วมด้วย

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่คาดว่าน่าจะมาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการมีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป, กล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารของเด็กหดเกร็ง, ระบบประสาทของทารกยังถูกพัฒนาไม่สมบูรณ์, ลูกมีอาการปวดท้องเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่ายกาย, อารมณ์พื้นฐานของเด็กเอง, ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก, ลูกดื่มนมมากเกินไป, เด็กอยู่ในท่านอนไม่เหมาะสม, มีปัญหากรดไหลย้อนหรือลำไส้ผิดปกติ ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังหาสาเหตุไม่ได้ แต่เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 เดือนอาการจะหายไปเอง พ่อแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลเด็กที่มีอาการนี้ได้

เมื่อเด็กร้องไห้แบบโคลิคจะมีผลเสียเกิดขึ้นเมื่อได้รับการดูแลผิดวิธีเพื่อหวังให้หยุดทารกร้องไห้โดยเร็ว เช่น การเขย่าตัวเด็ก ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนทำให้ตกเลือดในสมองและที่เรตินาได้ หรือการบังคับเด็กให้ดูดนม ใช้จุกนมปลอม อาจทำให้สำลักได้ ส่วนผลเสียทางอ้อมจะเกิดขึ้นกับพ่อและแม่ คือ เกิดความเครียดและกังวลใจ รู้สึกตัวเองด้อยค่า ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ทำให้ส่งผ่านความเครียดไปสู่ลูกได้ บางคนอาจจะเกิดพฤติกรรมทางลบ ทำร้ายเด็ก หรือเกิดทะเลาะกันระหว่างคู่สมรส ดังนั้นเมื่อลูกร้องไห้แบบโคลิค จึงต้องจัดการปัญหานี้อย่างเหมาะสมและใจเย็น โดยระลึกว่าเป็นปัญหาชั่วคราวเท่านั้น และมีทางแก้ไขได้

ส่วนการรับมือเมื่อลูกมี อาการโคลิค นั้น ในขั้นแรกให้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบตรวจสอบก่อนว่า ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเพราะอะไร อย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้นานเด็ดขาด ถ้าตรวจสอบแล้วว่ามีสาเหตุจากภาวะโคลิค ให้คุณแม่อุ้มเจ้าตัวเล็กในท่าคว่ำแล้วนั่งโยกตัวหรือเดินเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ห่อตัวลูกด้วยผ้าเพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่น เปิดเพลงเบา ๆ ให้ลูกฟัง และนวดสัมผัสเพื่อช่วยไล่ลมให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ส่วนคุณแม่เองก็ควรงดดื่มนมวัว เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และอาหารบางประเภท เช่น อาหารที่ทำจากนม ถั่ว กระเทียม อาหารรสชาติเผ็ด แต่ถ้างดแล้วลูกยังร้องไห้เหมือนเดิม คุณแม่ก็สามารถกลับมากินได้ตามปกติ เนื่องจากเห็นได้ว่าไม่ได้มีสาเหตุจากอาหารที่คุณแม่กินแล้วส่งผ่านไปสู่ลูก นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลตัวเองเพื่อให้พร้อมสำหรับการดูแลลูกตลอดเวลาด้วย

อย่างไรก็ตามหากลูกมีอาการร้องไห้เสียงแหลม ร้องนานกว่าทุกวัน ตัวอ่อน ตัวซีด หายใจผิดปกติ อาเจียนเป็นสีเขียว ถ่ายเป็นเลือด มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส เกิดอาการชัก หรือกระหม่อมบุ๋ม ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับลูกรัก