รวมข้อควรรู้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม!ความเจ็บปวดบริเวณหัวเข่าอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้ามไป แต่เมื่อถึงขั้นรุนแรงอาการเหล่านี้อาจกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการลุกนั่ง เดินขึ้นลงบันได หรือแม้แต่การทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งภาวะข้อเข่าเสื่อมสามารถรักษาได้ด้วยการ
ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งในบทความนี้ จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ตั้งแต่รูปแบบการผ่าตัด การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเข่า เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม
การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม คืออะไร?การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เป็นวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่าที่เสื่อมสภาพจากโรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรง จนไม่สามารถบรรเทาอาการด้วยยา กายภาพบำบัด หรือการรักษาอื่น ๆ ได้อีกต่อไป ซึ่งโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าสึกกร่อน ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด ข้อฝืด และเคลื่อนไหวลำบาก โดยวิธีการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมจะไปช่วยฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า ลดอาการปวด และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมการเตรียมตัวให้ดีก่อนการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีวิธีดังนี้
- ดูแลรักษาปัญหาช่องปากให้เรียบร้อย เช่น ฟันผุ หรือการติดเชื้อในช่องปาก รวมถึงดูแลผิวหนังให้ปราศจากบาดแผลหรือการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บริเวณผ่าตัด
- หยุดการใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาละลายลิ่มเลือด ควรหยุดใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
- งดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม โดยทั่วไปมักให้งดอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการให้ยาสลบ
- งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดและกระบวนการหายของแผล ควรหยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมมีรูปแบบใดบ้างการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรงและสูญเสียการเคลื่อนไหวจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยการเลือกวิธีผ่าตัดขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของข้อเข่า ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่
1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบทั้งหมด (Total Knee Replacement - TKR)เป็นการผ่าตัดที่เปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด โดยศัลยแพทย์จะนำกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพและผิวข้อที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียม ซึ่งประกอบด้วยวัสดุโลหะและพลาสติกคุณภาพสูงที่ออกแบบมาให้ทำงานคล้ายข้อเข่าธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงในหลายส่วนของข้อเข่า และไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น
2. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเฉพาะฝั่ง (Unicompartmental Knee Replacement - UKR)เป็นการผ่าตัดที่เปลี่ยนเฉพาะส่วนของข้อเข่าที่เสียหาย โดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมเพียงด้านใดด้านหนึ่งของข้อเข่า ซึ่งช่วยให้สามารถรักษาเนื้อเยื่อและเอ็นรอบข้อเข่าไว้ได้มากขึ้น การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมประเภทนี้มักมีแผลผ่าตัดที่เล็กกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมด
หลังผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมควรดูแลตัวเองอย่างไรการฟื้นฟูหลังการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมจำเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยให้แผลหายไวขึ้นและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน คนไข้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังต่อไปนี้
- บริหารข้อเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอทันทีหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมในช่วงพักฟื้น 2 เดือนแรก เพื่อป้องกันข้อเข่าติดแข็งและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อเข่า
- ควรนอนหงายเหยียดเข่าตรง และใช้ม้วนผ้าขนหนูวางใต้ข้อเท้าของขาข้างที่ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เพื่อช่วยให้ข้อเข่าเหยียดตรง ไม่ควรวางหมอนใต้ข้อเข่าที่ผ่าตัดขณะนอน
- ควรออกกำลังกายและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น วิ่งหรือเทนนิส และเลือกกิจกรรมที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น ว่ายน้ำหรือเดิน
- ควรทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
- การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดบนข้อเข่าและป้องกันการเสื่อมสภาพของข้อเข่าในอนาคต
- สวมใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Stocking) ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดอุดตัน
ผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เป็นวิธีรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยแพทย์จะพิจารณาว่าคุณควรเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมของข้อเข่าและการตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ได้แก่
- ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่าอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จนต้องพึ่งพายาแก้ปวดเป็นประจำ
- ผู้ที่มีข้อเข่าผิดรูปหรือเสื่อมจนสูญเสียการทำงาน เช่น โก่ง งอ ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก หรือมีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า
- ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้น-ลงบันไดลำบาก ต้องใช้ไม้ช่วยพยุง และไม่สามารถเดินเป็นระยะทางไกล ๆ ได้
- ผู้ที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ทั้งการทานยา กายภาพบำบัด หรือฉีดสารหล่อลื่นข้อเข่าแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้
- ผู้ที่มีอายุมากและข้อเข่าเสื่อมตามวัย โดยทั่วไปพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ในบางกรณีอาจเกิดกับผู้ที่อายุน้อย เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง
ข้อเข่าเสื่อมรักษาได้ด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หากได้รับการดูแลและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง โอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติก็มีมากขึ้น นอกจากนี้การผ่าตัดข้อเข่าเทียมยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมที่ไหนดีนั้น ก็ควรปรึกษาโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ เพื่อประเมินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลด้วย