ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


โรคซึมเศร้า คืออะไร สามารถรักษาอาการโรคซึมเศร้าด้วยวิธีใดได้บ้าง

โรคซึมเศร้า

ในปัจจุบัน ชีวิตของแต่ละคนต้องพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันโดยไม่รู้ตัว ทั้งในเรื่องการทำงาน การเงิน ความสัมพันธ์ จึงทำให้หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า โดยไม่รู้ตัว เกิดอาการหดหู่ เศร้าซึม กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินไป แล้วโรคซึมเศร้าคืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ มีแนวทางการรักษาอย่างไร ควรดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคนี้ได้อย่างไร และสุดท้าย เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เราควรจะรู้ไว้ เพื่อให้รู้เท่าทัน สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

โรคซึมเศร้า คืออะไร

โรคซึมเศร้า หรือเรียกว่า Depressive disorder คือ ความเจ็บป่วยทางจิตวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและร่างกายของบุคคลอย่างรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ไม่มีความสุขตลอดเวลา จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย ทำให้น้ำหนักลดลง สัญญาณปลายประสาทภายในสมองลดลง หมดความสนใจในกิจกรรมที่ชื่นชอบ ต้องการอยู่คนเดียว ไม่เข้าสังคม คิดเกี่ยวกับความตาย หรือการกระทำที่ทำให้ตัวเองเสี่ยงอันตราย

โรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เป็นประเภทพบบ่อยที่สุด อีกทั้งยังมีอาการรุนแรงที่สุด
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postnatal Depression) เกิดหลักงจากการคลอดลูก มักเกิดในผู้หญิงที่มีลูกใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด ความหดหู่ รู้สึกไม่อยากดูแลลูก
  • โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia Depression) เป็นประเภทที่มีอาการยาวนาน โดยไม่มีความรุนแรงเท่าโรคซึมเศร้าประเภทอื่น ๆ กว่าอาการจะปรากฎก็ใช้เวลาอย่างร้อย 2 ปี
  • โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder) มักเกิดในช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือน มักเกิดในระยะเวลาสั้น ๆ
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder – SAD) มักจะเกิดเฉพาะบุคคลในบางฤดูกาล ก่อให้เกิดความเครียดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้จิตใจมีความหดหู่ โดยเฉพาะในฤดูหนาว

อาการโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไรบ้าง?

อาการโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีหลากหลายประเภท แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีอาการโรคซึมเศร้าคล้าย ๆ กัน ดังนี้

  • เกิดความรู้สึกเศร้า หดหู่ เสียใจ ไม่มีความสุข หรือสร้างความสุขในตัวเองได้ยาก
  • หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยสนใจ หรือกิจกรรมที่ชอบ
  • เกิดความเจ็บปวดในร่างกายอย่างไม่มีสาเหตุ
  • หมดความมุ่งมั่นในการทำงานหรือใช้ชีวิต
  • รู้สึกล่องลอย ไม่สามารถประคองสติไว้ได้อย่างครบถ้วน รู้สึกอ่อนแอ เปราะบาง
  • โรคซึมเศร้าทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนตามมาด้วย เช่น การนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เพียงพอ
  • คิดมากเกี่ยวกับการตาย คิดวนเวียน จนถึงการคิดถึงสิ่งที่เสี่ยงจะทำให้ร่างกายเกิดอันตราย
  • ประสิทธิภาพในการคิดลดลง ตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ ยากขึ้น
  • ร่างกายเหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น หดหู่เช่นเดียวกับสุขภาพจิตใจ

หากเราหรือคนรอบข้างมีอาการเหล่านี้ หรือเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิต ควรพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการประเมินและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดอาการ ปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น ก่อนที่อาการโรคซึมเศร้าจะเป็นมากขึ้น จนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรักษาได้ เพราะโรคซึมเศร้าเองก็มีระดับด้วยเช่นกัน

แล้วโรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ โรคซึมเศร้าอาจจะไม่ได้มีระดับความรุนแรงชัดเจนเหมือนโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง แต่ก็มีการจำแนกระดับตามความรุนแรงของโรค เพื่อให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น วางแผนการรักษาได้เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • โรคซึมเศร้าระดับเล็กน้อย (Mild) มักมีอาการไม่รุนแรงมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจจะมีอาการเศร้าบ้างในบางเวลา
  • โรคซึมเศร้าระดับปานกลาง (Moderate) มีอาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน มีโอกาสเสี่ยงในการทำร้ายร่างกายตัวเอง
  • โรคซึมเศร้าระดับรุนแรง (Severe) มีอาการรุนแรงมาก ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นในประจำวัน เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองสูง บางรายจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

โดยระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้านี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ทั้งนี้ หากเกิดอาการก็ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อให้นักจิตวิทยาหรือแพทย์ประเมินความรุนแรง วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในแต่ละคน

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร ทำไมในปัจจุบันหลายคนถึงเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของโรคซึมเศร้า ได้แก่

  • ความเครียดในปัญหาต่าง ๆ จนเกิดความคิดในแง่ลบ เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
  • เกิดบาดแผลทางจิตใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น สูญเสียคนที่รัก การเกิดอุบัติเหตุ การล้มละลาย
  • ความผิดปกติทางร่างกาย เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น ฮอร์โมน สารสื่อประสาท สารเคมีสมองอื่น ๆ อาจมีผลในการเกิดโรคซึมเศร้า
    พันธุกรรมภายในครอบครัวก็สามารถส่งต่อได้ด้วยเช่นกัน หรือทำให้เรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น
  • นิสัยส่วนตัวของแต่ละคนก็อาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า เช่น มีความอ่อนแอจนเก็บกด จิตใจเปราะบางไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เป็นต้น
  • ปัจจัยสภาวะแวดล้อมภายนอก เช่น ความกดดันจากการทำงาน ความเสี่ยงทางการเงิน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต

แต่อาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อใดที่ร่างกายหรือจิตใจมีความทุกข์ มีความเจ็บปวดจนเกิดความกดดันเป็นระยะเวลานาน จิตใจไม่สามารถปล่อยวางหรือจัดการความทุกข์นั้น ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคซึมเศร้ากับแนวทางการรักษา

ยารักษาโรคซึมเศร้า

การบำบัดโรคซึมเศร้ามีหลายวิธี ซึ่งช่วยลดอาการ ปรับสภาพจิตของผู้ป่วยได้ โดยมักจะใช้แบบผสมผสานกันระหว่างการรักษาทางการแพทย์ การรักษาทางจิตวิทยา และการดูแลร่างกาย ดังนี้

  • การรักษาทางการแพทย์ เป็นการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่
1. ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant Medications) จะช่วยเพิ่มระดับสารเคมีในสมองทางด้านความสุข เช่น serotonin, norepinephrine, dopamine เป็นต้น โดยยานี้ มักใช้เป็นระยะเวลานาน อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
2. ยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizing drugs) ใช้เพื่อควบคุมอาการโรคซึมเศร้า

  • การรักษาทางจิตวิทยา (Psychotherapy) เป็นการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา สนับสนุนจิตใจ หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์และความคิด เทคนิคการแก้ปัญหา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • การดูแลร่างกาย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
1. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
2. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อร่างกาย
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
4. นอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่ม
5. ลดความเครียดเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ
6. หาเทคนิคการจัดการความเครียด

นอกจากการรักษาข้างต้นแล้ว ยังสามารถบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

  • การสนับสนุนทางจิตใจจากคนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนรอบข้าง คอยให้กำลังใจ รับฟังปัญหา
  • ดูแลสุขภาพใจด้วยตนเอง เรียนรู้การปล่อยวาง หาทางออกของปัญหาให้เร็ว เพื่อรักษาสุขภาพใจของตัวเอง

เป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลตัวเองอย่างไร

หากเป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูและควบคุมโรคนี้ โดยดูแลตัวเอง ดังนี้

  • รับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ฝึกฝนจิตใจให้มีความผ่อนคลาย ปล่อยวางกับปัญหา ความเครียดต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง
  • มีความเคารพตัวเอง ยอมรับความเป็นจริง ปล่อยตัวเองออกจากความกดดันต่าง ๆ
  • ดูแลสุขภาพร่างกาย ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคนรอบข้างให้มากขึ้น ไม่เก็บความอึดอัดไว้กับตัวคนเดียว
  • เมื่อรู้สึกไม่สบายตัว เริ่มรู้สึกซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรเข้าพบแพทย์ในทันที
  • ติดตามผลการรักษา เข้าพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ

การป้องกันโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า ป้องกันและรักษา

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันโรคนี้ เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจ ลดโอกาสเสี่ยง ดังนี้

  • สาเหตุของโรคซึมเศร้าหลัก ๆ คือ สภาพจิตใจที่อ่อนแอ ดังนั้น การป้องกันที่ดี คือ การดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง ยอมรับและปล่อยวางความเครียดต่าง ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีโภชนาการ เพื่อให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานเป็นปกติ ควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเกี่ยวกับความสุข จะช่วยลดความเครียดได้
  • เรียนรู้เทคนิคการจัดการความเครียด เช่น การฝึกสมาธิ การทำโยคะ เพื่อช่วยในการควบคุมความเครียด
  • เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัว หรือสังคม เพื่อลดโอกาสในการอยู่คนเดียว หากิจกรรมต่าง ๆ ทำ เพื่อความผ่อนคลาย
  • เข้าใจสัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้า ช่วยให้เรารู้เท่าทันอาการของตัวเอง
  • มีความเชื่อมั่นในตนเอง เคารพตัวเอง เชื่อว่า ตนเองมีคุณค่า สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้
  • ถ้าหากรู้สึกว่าจิตใจอ่อนแอหรือมีอาการเศร้า ไม่ควรปิดบังความรู้สึก ควรขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญทันที
  • การดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
  • เรียนรู้เทคนิคการแก้ปัญหา เพื่อนำมาใช้จัดการความท้าทาย ความยากลำบาก ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต

การป้องกันตัวเองจากโรคซึมเศร้า รวมถึงการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคนี้ มีแนวทางที่คล้าย ๆ กัน คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และสุขภาพใจให้ดี ด้วยการผ่อนคลายความเครียด ปล่อยวาง ไม่ยึดติด โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ จะต้องดูแลตัวเองเพิ่มด้วยการกินยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างเคร่งครัด ตามคำสั่งของแพทย์

สรุปโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร หันมาดูแลตัวเองอย่างไรดี

โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน ตลอดเวลา ด้วยสภาพปัญหาทั้งภายนอกและภายใน เช่น การทำงาน ความสัมพันธ์ สภาพสังคม สิ่งเหล่านี้ ล้วนอาจจะเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นคอยดูแลสุขภาพใจของเราให้ดี หากเกิดอาการเศร้าหมอง มีความหดหู่ก็ควรขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการประเมิน วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าหรือการปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อควบคุมและบรรเทาอาการให้ดีขึ้น