ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


จัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออกอย่างไรได้บ้าง

   พนักงานเงินเดือนหลายคนอาจรู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund กันเป็นอย่างดี แต่สำหรับเด็กจบใหม่ที่พึ่งได้งานอาจสงสัยว่าเจ้ากองทุนนี้มันคืออะไร? หากพูดง่าย ๆ มันก็คือ “เงินสะสม” หรือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงร่วมกันจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บออมให้ลูกจ้างใช้จ่ายในยามที่ลูกจ้างเกษียณอายุ ลาออกจากงาน ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุอันไม่คาดฝัน ตลอดไปจนถึงการเก็บเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวในกรณีเสียชีวิต ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักจะหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้จากเงินเดือนเพื่อเก็บเป็นเงินสะสมให้กับลูกจ้าง และเมื่อลูกจ้างหมดสภาพการเป็นพนักงาน บริษัทจะจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ทั้งสองฝ่าย แต่หากคุณกำลังมองหางานใหม่ และไม่รู้จะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออกอย่างไรดี วันนี้เราได้รวบรวมคำตอบที่ใครหลายคนมักสงสัยมาแชร์ให้ทุกคนได้ทราบกันอย่างละเอียด ว่าไม่รอช้าไปคลายความสงสัยกันเลยดีกว่า


ลาออกจากงาน จัดการกับกองทุนอย่างไรได้บ้าง

   สำหรับผู้ที่มองหาความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แล้วมีความจำเป็นต้องย้ายบริษัท แน่นอนว่าคุณคงคิดว่าเราต้องออกจากกองทุนเลี้ยงชีพไปเลย หรือไม่ก็คงกำลังมองหาวิธีจัดการกับเงินก้อนนี้อยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันยังมีอีกหลายวิธีสำหรับการจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออกจากงานที่เก่า 

วิธีที่ 1 : เก็บเงินกองทุนไว้ที่เดิม

   พนักงานทุกคนมีสิทธิในการเลือกที่จะคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการคงเงินไว้ แต่ก็ทำให้เราสามารถออมเงินไว้ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย เนื่องจากหากเรานำเงินออกจากกองทุนเดิม เงินส่วนนั้นจะถือเป็นรายได้ทันที จึงทำให้ต้องนำไปคำนวณภาษีด้วย 

วิธีที่ 2 : ย้ายเงินกองทุนไปไว้ที่ใหม่

   ในกรณีที่เราต้องย้ายงานไปที่ใหม่ แล้วบริษัทนั้น ๆ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถที่จะย้ายเงินจากกองทุนเดิมไปกองทุนใหม่ได้ทันที โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในการย้ายแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องโอนเต็มจำนวนของกองทุนเท่านั้น   

วิธีที่ 3 : ลาออกจากกองทุนเดิมไปเลย

   อีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลาออก ก็คือ การออกจากกองทุนเลี้ยงชีพไปเลย เพื่อที่จะรับทั้งเงินสะสมและเงินสมทบจากทางบริษัทเดิมตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ แต่ในกรณีนี้เราอาจต้องระวังเรื่องการเสียภาษี และต้องมาคำนวณดูว่าจะต้องเสียภาษีอย่างไร และเท่าไหร่บ้าง เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ได้อย่างสูงสุด

   ทั้งหมดนี้ก็เป็น 3 วิธีจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อต้องลาออกจากงานเก่า ที่เหล่าบรรดาพนักงานบริษัทควรศึกษาและรู้จักการวางแผนเอาไว้ เพื่อไม่ให้เราเสียผลประโยชน์และได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างถูกต้อง