รู้จักอาการปวดเข่า พร้อมวิธีแก้อาการปวดเข่าแบบได้ผลจริง!ปวดเข่าเกิดจากการบาดเจ็บ ข้อเสื่อมหรืออักเสบ ควรดูแลโดยปรับพฤติกรรม ออกกำลังกายที่เหมาะสม แต่ถ้ามีอาการรุนแรงทุกวันไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
ข้อเข่าเป็นหนึ่งในอวัยวะที่เราใช้งานแทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หรือลุกนั่ง แต่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่าข้อเข่าของเราต้องรับน้ำหนักและแรงกดอยู่เสมอ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการ
ปวดเข่าได้ง่าย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานหรือวัยรุ่น
สาเหตุของอาการปวดเข่าในวัยรุ่นอาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกายที่ผิดวิธี หรือแม้แต่โรคข้อเข่าเสื่อมที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร หากปล่อยไว้โดยไม่ดูแล อาการปวดเข่าอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
“ข้อเข่า” อวัยวะสำคัญที่ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญข้อเข่าเป็นข้อต่อที่สำคัญของร่างกาย ช่วยให้เราสามารถเคลื่อนไหว เดิน วิ่ง และงอขาได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยข้อเข่าประกอบด้วย กระดูกสามส่วนหลัก ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องข้อเข่า นอกจากนี้ยังมี กระดูกอ่อนที่ช่วยลดแรงกระแทก หมอนรองข้อเข่าที่ช่วยรองรับน้ำหนัก เอ็นข้อเข่าที่ยึดให้ข้อเข่ามั่นคง และกล้ามเนื้อรอบเข่าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว หากอวัยวะเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพ อาจทำให้เกิดอาการปวดเข่าและส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้
สาเหตุของอาการปวดเข่าข้อเข่าเป็นข้อต่อที่ต้องรองรับน้ำหนัก และแรงกดจากการเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิดอาการปวดข้อเข่าได้ง่าย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในทุกวัย โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ปวดหัวเข่า เพราะใช้งานข้อเข่ามากเกินไป เช่น การออกกำลังกายหนัก เดินหรือยืนนาน ๆ
- อาการบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือการลื่นล้ม
- ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนและหมอนรองข้อเข่าตามวัย
- โรคข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือข้อเสื่อมจากภาวะอักเสบเรื้อรัง
- กล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง ทำให้ข้อเข่ารับแรงมากขึ้นและเกิดการบาดเจ็บง่าย
- น้ำหนักตัวมากเกินไป ส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดมากขึ้น เสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า หรือนั่งยองบ่อย ๆ
- ภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ปวดเข่า เช่น ภาวะหมอนรองข้อเข่าฉีกขาด เอ็นข้อเข่าฉีก หรือกระดูกสะบ้าเคลื่อน
สังเกตอาการปวดเข่าเบื้องต้น ก่อนจะสายเกินแก้!อาการปวดเข่าอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพของข้อเข่าที่ไม่ควรมองข้าม การสังเกตอาการเบื้องต้นสามารถช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาต่อไปหรือไม่ โดยอาการที่ควรสังเกต ได้แก่
- อาการปวดหัวเข่าระหว่างมีการขยับใช้งาน เช่น เดิน วิ่ง ขึ้นลงบันได หรือยืนนาน ๆ
- ปวดเข่าเฉพาะตอนเริ่มขยับ โดยเฉพาะเมื่อลุกจากที่นั่ง หรือลงน้ำหนักที่เข่าหลังจากพักนิ่ง ๆ
- ปวดและเจ็บหัวเข่าเฉพาะตำแหน่งที่กดโดน อาจรู้สึกเจ็บเฉพาะจุดเมื่อกดหรือสัมผัสบริเวณข้อเข่า
- ปวดและเจ็บเข่าตลอดเวลา แม้ในขณะพักหรือนอน อาจเป็นสัญญาณของการอักเสบหรือภาวะข้อเสื่อมขั้นรุนแรง
อาการปวดเข่าแบบไหนต้องรีบพบแพทย์หากอาการปวดเข่าเป็นเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่หากมีอาการปวดเข่าข้างเดียวตลอดเวลา หรืออาการปวดรุนแรงและเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่ เจ็บข้อเข่าจนมีอาการปวดเข่ารุนแรงจนเดินลำบาก ข้อเข่าบวมแดงและร้อน มีเสียงผิดปกติขณะขยับ
โดยการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจดูความผิดปกติของกระดูกด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในกรณีที่สงสัยโรคข้ออักเสบ ซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้องจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
วิธีแก้อาการปวดเข่า ถนอมข้อเข่าไม่ให้เกิดการอักเสบการดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าได้อย่างเหมาะสม
- พักการใช้งาน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มแรงกดบนข้อเข่า
- ประคบร้อนหรือเย็น เพื่อลดอาการปวดและบวม
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือว่ายน้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า
- ควบคุมน้ำหนัก ลดแรงกดทับที่ข้อเข่า
- เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมที่ช่วยรองรับแรงกระแทกและลดภาระข้อเข่า
- รับประทานยาแก้ปวดหรืออาหารเสริมบำรุงข้อ ตามคำแนะนำของแพทย์
- พบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น เพื่อรับการตรวจและเข้ารับการรักษาเพื่อหาสาเหตุว่าอาการปวดเข่าเกิดจากอะไร
รู้ทันอาการอาการปวดเข่า เริ่มเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้อาการปวดเข่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป ข้อเข่าเสื่อม การอักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรครูมาตอยด์ อาการที่พบได้ ได้แก่ ปวดเข่า ข้อฝืด เข่าบวม หรือมีเสียงดังในข้อเมื่อเคลื่อนไหว ปัจจัยเสี่ยงสำคัญได้แก่ อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวที่มากเกินไป การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่กระทบเข่าซ้ำ ๆ
โดยวิธีแก้อาการปวดเข่านั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งอาการอาจบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัด หรือหากมีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับผ่าตัด ซึ่งการป้องกันอาการเจ็บเข่าสามารถทำได้โดยควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า ออกกำลังกายให้เหมาะสม และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มภาระต่อข้อเข่าในอนาคต