ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


เวียนหัว วิงเวียนศีรษะ! สัญญาณอันตราย ที่ไม่ควรชะล่าใจ

เวียนหัว

เวียนหัว วิงเวียนศีรษะ เป็นเรื่องที่พึงระวัง เพราะหมายความรวม ๆ ถึง อาการสมองตื้อ ไม่แจ่มใส รู้สึกมึนงง โคลงเคลง การทรงตัวไม่ค่อยดี รวมไปถึงอาจมีอาการหน้ามืดร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย  ไม่มีเฉพาะเจาะจงกับโรคใดโรคหนึ่ง แต่โดยมากมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ

ในบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คือ รู้สึกว่าตัวเองหมุนหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนได้ แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ นอกจากอาการเวียนหัว ก็อาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการเวียนศีรษะอาจเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของระบบการทรงตัวของร่างกาย หรือจากความเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน เป็นต้น

เวียนหัวเกิดจากสาเหตุใด

อาการเวียนหัว บ้านหมุน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายในร่างกาย ดังนั้นหากมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ เกิดขึ้น ควรที่จะรีบหาสาเหตุโดยการเข้าพบแพทย์ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที เพราะร่างกายได้ส่งสัญญาณอันตรายมาเตือนแล้ว

เวียนหัวจากปัจจัยภายนอก

อาจเกิดจากภาวะความเครียด การที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ หรือ การกินอาหารเค็มจัด หรือ มีอาการเมารถ เมาเรือ เป็นต้น

เวียนหัวจากปัจจัยภายในร่างกาย

  • ความผิดปกติของหูชั้นใน หรือระบบสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรงตัว จึงทำให้เกิดอาการบ้านหมุน เพราะร่างกายเสียสมดุลในการทรงตัว ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองหมุนอยู่ทั้งที่ยังอยู่กับที่ หากมีอาการรุนแรง ก็จะคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
  • ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต (ความดันโลหิตต่ำ - สูงเกินไป) ทำให้เลือดไม่เพียงพอไปเลี้ยงสมอง จึงเกิดอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
  • ความผิดปกติของระบบประสาท (ทั้งระบบประสาทส่วนกลาง เช่น การบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคต่างๆ และระบบประสาทรับภาพไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เข่น เมารถ ฯลฯ) ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย เห็นภาพซ้อน ภาพมัวลง เดินเซ อ่อนแรง พูดไม่ชัด ชา เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นทันที จึงควรได้รับการดูแลที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่นำไปสู่ความทุพพลภาพได้ในที่สุด

รู้จัก 5 โรคสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว

เราควรทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคที่มีความสัมพันธ์กับการทำให้เกิดอาการเวียนหัวได้ คือ

โรคสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว

1. โรคไมเกรน

เป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียว มีอาการปวดตุบ ๆ ตามการเต้นของหัวใจ แต่ในบางครั้งบางคนอาจจะมีอาการเวียนหัวแทน จะเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้นประสิทธิภาพในการได้ยินจะลดลง หูอื้อ แพ้แสงจ้า หรือเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย

2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในแต่สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการทรงตัว เดินเซและล้มได้ง่าย โรคนี้จะเกิดเป็นเวลานาน ดังนั้นควรที่จะต้องอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับร่างกายและอาจมีอาการเวียนหัวเพิ่มขึ้นได้

3. โรคหินปูนในหูชั้นใน
 
หูชั้นในเกิดการเสื่อม มักพบในผู้สูงอายุ อาการของโรคนี้ คือ เวียนหัว บ้านหมุน ทันทีที่เปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ก้มหยิบของ ล้มตัวลงนอน เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเป็นในระยะสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ หายไป เป็นซ้ำเกือบทุกวัน แต่ไม่มีอาการหูอื้อ หรือสูญเสียการได้ยิน

4. โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด

เป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันเลือดสูง ที่จำเป็นต้องกินยาลดความดันเลือด ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ เลือดไม่พอไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีอาการหน้ามืด เวียนหัว หรือเป็นลม

5. โรคทางจิตเวช

เกิดอาการเวียนหัวมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือ เขตชุมชน และก็จะหายไปเมื่อไม่ได้อยู่ในสถานะดังกล่าว แต่ถ้าเมื่อใดที่เกิดความเครียด ผู้ป่วยจะหายใจเร็วผิดปกติ มือเท้าชาและเย็น และวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก

กลุ่มอาการเวียนหัวมีอะไรบ้าง

สำหรับกลุ่มอาการเวียนหัว อาการบ้านหมุน นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการทำงานของอวัยวะของร่างกายทั้ง 3 ส่วนทำงานไม่ประสานกัน เช่น สายตา ระบบประสาทรับความรู้สึก และประสาทหูชั้นใน ซึ่งจะถูกสั่งการ และควบคุมการทำงานโดยสมองให้เกิดความสมดุล หากเมื่อใดก็ตามที่ขาดความสมดุล “อาการเวียนหัว” ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

เวียนหัว มึนงง ไม่มีอาการอื่นร่วม (Lightheadedness)

โดยมากกลุ่มอาการเวียนหัวแบบนี้ เกิดจากแรงดันเลือดและปริมาณเลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนมากจะพบในผู้สูงอายุหรือมีภาวะโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต หรือ โรคเบาหวาน และอาการเหล่านี้จะรุนแรงยิ่งขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

เวียนหัว บ้านหมุน คลื่นไส้ (Vertigo)

ผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้ จะรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบ ๆ ตัวหมุนแต่ตัวเองอยู่นิ่ง ลักษณะอาการคล้ายกับเมาเหล้า ทำให้เสียการทรงตัว เดินไม่สะดวก มึนหัวคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาการเวียนหัวในกลุ่มนี้จะเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย เช่นโรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากันเป็นต้น

เวียนหัวบ่อย อันตรายไหม

เมื่อพบว่ามีอาการเวียนหัวบ่อย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “อันตราย” เพราะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร  บางสาเหตุอาจรักษาให้หายได้ด้วยการกินยา แต่บางสาเหตุอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  เช่น เส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการเวียนหัวบ่อย ๆ หรือ อย่างรุนแรง หรือเป็นซ้ำ ๆ พร้อมกับมีอาการอื่นร่วมด้วยจนรบกวนชีวิตประจำวัน ให้รีบพบแพทย์ทันที

อาการที่ควรพบแพทย์

เมื่อพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ด่วน เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคสมอง ที่อาจทวีความรุนแรงจนนำไปสู่ความพิการหรือทุพพลภาพได้ในที่สุด

  • มึนงง เวียนศีรษะ บ้านหมุน เป็นเวลานานมากกว่า 1 สัปดาห์
  • เดินเซทรงตัวผิดปกติ อ่อนแรง พูดไม่ชัด ชาตามร่างกาย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สูญเสียการทรงตัว
  • หูอื้อ มีเสียงดังในหู การได้ยินลดลง มีเสียงวิ๊ง ๆ ในหู
  • อาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ตามัว

การวินิจฉัยอาการเวียนหัว

หากเกิดความสงสัยว่าอาการเวียนหัวที่เป็นอยู่นั้น อาจเป็นอะไรที่มากกว่าอาการที่แสดงออกมาหรือไม่นั้น ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และตรงจุดมากที่สุด แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ ช่วงเวลาที่เกิดอาการ อาการร่วม ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ และประวัติการใช้ยา

วินิจฉัยอาการเวียนหัว


1. ตรวจวินิจฉัยการเคลื่อนไหวของดวงตา

จะมีการทดสอบการกลอกตา (Eye movement test) ตรวจทางระบบตา หู คอ จมูก โดยเฉพาะหู  แพทย์จะให้ผู้ป่วยมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว หรือตรวจการทำงานระหว่างหู ตา และสมอง โดยใข้น้ำอุ่น น้ำเย็น หรือลมเข้าไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะการทรงตัวภายในหู

2. ตรวจการเคลื่อนไหวของศีรษะ

ทดสอบการเคลื่อนไหวศีรษะ (Head movement test) โดยให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างรวดเร็วในท่าตะแคงศีรษะและห้อยศีรษะเล็กน้อย แพทย์จะทำการสังเกตการกระตุกของลูกตา ซึ่งจะพบอาการกระตุกของดวงตาหากผู้ป่วยเป็นโรคหินปูน ในหูชั้นในเคลื่อนร่วมกับอาการเวียนศีรษะ

3. การทดสอบการทรงตัว

ตรวจประเมินความสามารถในการรักษาท่ายืน ทดสอบการเดิน การรักษาสมดุลการทรงตัว และตรวจการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นการทดสอบการเคลื่อนไหวของร่างกายว่าส่วนใดเกิดปัญหา

วิธีรักษาอาการเวียนหัว

หลังจากรู้สาเหตุอาการเวียนหัว บ้านหมุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์ก็จะได้ทำการรักษาตามอาการและสาเหตุเป็นสำคัญ

1. บริหารร่างกายและกายภาพบำบัด

ให้ทำการฝึกบริหารการทรงตัว เช่น  บริหารสายตา , บริหารกล้ามเนื้อ คอ แขน ขา , ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะและคอ , ฝึกการเดิน ,ฝึกการยืน ฯลฯ เป็นต้น  มีการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูระบบประสาทส่วนที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว

และยังมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ตะกอนแคลเซียมในบริเวณหูชั้นในที่หลุดจากตำแหน่งปกติเคลื่อนกลับเข้าที่เดิม ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับการรักษาโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

รักษาอาการเวียนหัวด้วยกายภาพบำบัด

2. รักษาอาการเวียนหัวด้วยการใช้ยา

การให้ยา เช่น ยากดการรับรู้ของประสาทการทรงตัว , ยากดการทำงานระบบประสาท , ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน , ยาขยายหลอดเลือด ฯลฯ
 
หากว่าอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เกิดจาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หรือ สเตียรอยด์ หรือได้รับยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันจากของเหลวภายในช่องหู หากสาเหตุของอาการเวียนหัวมาจากโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ

รักษาอาการเวียนหัวด้วยการใช้ยา

3. การเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

เป็นการรักษาตามโรคที่พบ เช่น หากเป็นโรคเรื้อรังต้องควบคุมโรคให้ดี หากเป็นโรคเกี่ยวกับหู ก็ต้องระวังการติดเชื้อของหู และการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น

แพทย์อาจต้องทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าสู่หูชั้นกลาง เพื่อช่วยควบคุมอาการเวียนหัว  แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน เพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

รักษาอาการเวียนหัวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แนวทางการป้องกันอาการเวียนหัว บ้านหมุน

เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ได้โดย

  • ออกกำลังกายอย่างง่าย โดยใช้วิธีออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้ม
  • นอนยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อยด้วยการใช้หมอนรองศีรษะอย่างน้อย 2 ใบ
  • หลีกเลี่ยงการเอียงศีรษะหรือยืดลำคอ
  • เคลื่อนไหวศีรษะด้วยความระมัดระวังระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • เปลี่ยนท่าทางให้ช้าลง เช่น ใช้เวลา 1 นาที ในการลุกจากเตียงซึ่งเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
  • ลดปริมาณ หรืองดการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ
  • ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะที่ยังมีอาการ หรือการปีนป่ายที่สูง เป็นต้น

ข้อสรุป

อาการเวียนหัว บ้านหมุนนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงจำเป็นต้องดูตามภาวะที่แต่ละบุคคลอาจต้องเผชิญ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะนั้นให้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และการปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดอาการเวียนหัวได้ แต่บางปัจจัยที่เป็นสาเหตุของเวียนหัวก็ไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 20, 2022, 08:59:01 AM โดย พรสัก ส่องแสง »