บาตรพระทำมือ หัตถศิลป์ชิ้นเอกคู่แผ่นดิน
ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2557 
ประเภทกิจการพรีเมี่ยม/กิ๊ฟชอป/แต่งงาน/รับจัดเลี้ยง
ลักษณะกิจการอื่นๆ
ชื่อร้านค้าบาตรพระทำมือ หัตถศิลป์ชิ้นเอกคู่แผ่นดิน
ราคาสินค้าสอบถามผู้ขาย
รายละเอียด

คุณดาลิสา บัวมาก เป็นชาวบ้านบาตรอีกคนหนึ่งที่สืบทอดวิชาทำบาตรพระเก่าแก่นี้มา จากบรรพบุรุษ โดยยึดทำบาตรพระสร้างอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน เธอทำบาตรเป็นตั้งแต่อายุเพียง 14 ขวบ ขั้นตอนการทำบาตรนั้นมีความยุ่งยากซับซ้อน ประกอบด้วยหลายขั้นตอนซึ่งแต่ละขั้นตอนเป็นการทำด้วยมือแทบทั้งสิ้นการทำบาตรพระเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสภาพดินฟ้าอากาศ เพราะหากฝนตกจะไม่สามารถทำบาตรได้เลย เนื่องจากความชื้นจะทำให้เหล็กขึ้นสนิม

เหล็กสำหรับใช้ในการทำบาตรพระจะใช้เหล็กนอก ซึ่งต้นทุนตกประมาณแผ่นละ 100 กว่าบาท แหล่งที่ซื้อคือวัดดวงแขตรงข้ามหัวลำโพง เนื่องจากงานทำบาตรค่อนข้างหนัก และตัวคุณดวงแขเองทำมาเกือบ 30 ปี ก็เริ่มตีบาตรน้อยลงเพราะแรงเริ่มถดถอย จากที่เคยตีบาตรได้วันละ 2-3 ใบ ก็กระ จายงานให้สมาชิกละแวกใกล้เคียงรับงานไปทำ ซึ่งค่าจ้างในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างสูงทีเดียว ตกขั้นตอนละ 100 กว่าบาท

อุปกรณ์สำคัญในการทำบาตร ได้แก่ ค้อนขนาดต่าง ๆ ตะไบสองหน้า คีมที่ใช้ในการหักเหล็ก แท่งเหล็กที่ใช้ในการขีดกะเหล็ก ทั่งเหล็กใช้สำหรับรองทุบเหล็ก หรือตีเหล็ก กรรไกรที่ใช้ในการจักเหล็ก ค้อนลาย ทั่งลาย กรรไกรญวณใช้ตัดแผ่นเหล็ก หัวลูกกะล่อน

ขั้นตอนการทำบาตร เริ่มจากทำปากบาตร โดยใช้เหล็กหนา 1 หุน กว้าง 6 หุน ตีให้บาง ด้านหนึ่ง จากนั้นกะเหล็กเพื่อจะนำมาต่อเป็นกง โดยตัดเหล็กให้เป็นรูปกากบาทเว้าตรงส่วนปลายกาก บาท จากนั้นใช้กรรไกรจักรตรงส่วนเว้าของแผ่นเหล็กทั้งสี่ด้าน แล้วทุบให้เรียบ งอเหล็กโค้งให้ได้ ลักษณะของบาตร และหักเหล็กที่จักให้เป็นแบบสลับฟันปลา นำไปประกอบเข้ากับปากบาตรโดยใช้ค้อนทุบฟันปลาให้ประกอบปากบาตร จนสำเร็จเป็น "กง"”

แล้วจึงนำแผ่นเหล็กมาวัดกะขนาดเพื่อประกอบเข้ากับกง ซึ่งเรียกว่าการตัดหน้าวัว ต้องเผื่อเนื้อ ที่ไว้สำหรับจักกลับประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ดัดหน้าวัวให้โค้งเพื่อนำไปประกอบให้ได้รูปทรงของบาตร แล้วจึงง้างเหล็กที่จักให้ได้ลักษณะฟันปลา นำหน้าวัวไปประกอบเข้ากับกงจนเป็นรูปบาตร ใช้ค้อนทุบบนลูกกะล่อน แล้วจึงนำไปเชื่อม ใช้ค้อนทุบลายบาตรบนทั่งให้ได้รูปทรงของบาตร จากนั้นนำไปแช่น้ำกรด

แล้วจึงนำบาตรมาตีให้เรียบ ช่างเรียกว่าตีเรียงเม็ด แล้วจึงค่อยนำไปตะไบให้สวยงาม ค้อนที่ ใช้ต้องเป็นค้อนกลมที่มีน้ำหนักเบา ไม่เกิน 1 ปอนด์ จนสำเร็จเป็นบาตรขาว ส่วนใหญ่พระท่านจะนำ บาตรที่ได้ไปบ่มด้วยความร้อนสูง เพื่อไม่ให้บาตรเป็นสนิม เมื่อบ่มตามกรรมวิธีต่าง ๆก็จะได้บาตรพระที่มีสีแตกต่างกันไป คือ สีเปียกปูน สีเขียวอ่อน และสีเขียวแก่

ลูกค้าที่สั่งทำบาตรพระส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ ซึ่งได้แก่ พระภิกษุตามต่างจังหวัด หรือผู้ที่ต้องการบวชลูกหลาน โดยเฉพาะช่วงออกพรรษาจะมีออเดอร์เข้ามามาก เนื่องจากที่บ้านบาตรเป็น แหล่งผลิตบาตรทำมือตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแห่งเดียวในประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง บาตรทำมือจึงมีราคาอยู่ที่ 1,400-1,500 บาท โดยมีขนาดให้เลือก คือ 8 นิ้ว 8 นิ้วครึ่ง และ 9 นิ้ว

นับวันงานมีค่าเริ่มจะถดถอย เนื่องจากเทคโนโลยีผลิตสมัยใหม่แทรกซึมเข้ามา บาตรปั๊มที่ออกมาจากโรงงานต้นทุนถูกกว่า ผลิตได้มากกว่า จำหน่ายเพียงราคา 100 กว่าบาทขึ้นไป คนจึงหันมาใช้ ของถูก แต่ถ้าหากเทียบคุณภาพแล้วต่างกันลิบลับ เพราะบาตรปั๊มเป็นสเตนเลสชุบ ด้านในเป็นสังกะสี หากขอบบาตรพับก็จะหลุดได้ง่าย เพราะไม่มีขอบบาตรเหมือนกับบาตรทำมือ

เนื่องจากบาตรทำมือมีขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ลูกหลานที่เรียนหนังสือจบสูง ๆไม่มีใครอยากทำงานหนัก เขาก็เลือกไปทำงานอย่างอื่นที่สบายได้เงินดีกว่า งานบาตรทำมือตรงนี้จึงหาผู้สืบทอดค่อนข้างยาก จึงอยากให้ช่วยกันอุดหนุนบาตรทำมือไม่ให้คนทำท้อแท้จนหายจากอาชีพนี้ไป เป็นการอนุรักษ์งานศิลป์ดี ๆให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบไป

 


หมายเหตุ: สำหรับท่านใดที่สนใจสั่งทำบาตรพระ สามารถติดต่อสอบถามโดยตรงที่ได้ คุณดาลิสา โทร.0-2621-2635

ชื่อเจ้าของร้านค้าคุณดาลิสา
ที่อยู่-
โทร.0-2621-2635
E-mail
เว็บไซต์
Print from https://www.thaifranchisecenter.com/shop/printfrnchise.php?mId=56
วันที่ 28 เมษายน 2567 เวลา 14:56 น.
ThaiFranchiseCenter.com