ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


ภาวะมิสซี (MIS-C) อันตรายของการเกิดลองโควิดในเด็ก

ภาวะ MIS-C

กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (Multisystem inflammatory syndrome in children; MIS-C) หรือเรียกว่า ภาวะมิสซี คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป

ซึ่งภาวะมิสซีหรือลองโควิดในเด็กจะทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะอาการในระบบหัวใจ ปอด ตับ ไต สมอง ผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ มักเกิดในเด็กอายุเฉลี่ย 6 – 10 ขวบขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง

โดยการรักษาภาวะ MIS-C นั้น เพื่อลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพราะด้วยร่างกายของเด็กนั้น อ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงต้องติดตามอาการต่อเนื่องในระยะยาวอย่างน้อย 1 ปี


ภาวะ MIS-C ลองโควิดในเด็ก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ภาวะมิสซี  (Multisystem inflammatory syndrome in children; MIS-C) หรือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก คือ เป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง

ประวัติความเป็นมาของโรคเกิดจากการสำรวจในต่างประเทศ โดยพ่อแม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูก ๆ ที่ยังเป็นเด็กเล็กที่ติดโควิด เมื่อรักษาหายแล้ว เกิดอาการลองโควิด โดยเด็กจะบอกว่า รู้สึกเหนื่อย ปวด ไม่สบาย เวียนหัว รู้สึกหมดแรง เป็นต้น

ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มอาการออกได้เป็นส่วนต่าง ๆ คือ อาการทางร่างกาย เหนื่อย หรือมีความเจ็บปวด อาการทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และอาการทางด้านทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนลดลง และอาการภาวะสมองล้า

ซึ่งจากรายงานมีโอกาสเกิด MIS-C เพียง 0.14 % ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิดทั้งหมด แม้โอกาสในการเกิดจะค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดซึ่งภาวะ MIS-C หรือลองโควิดในเด็กนั้นอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู และอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่เด็กหายจากโควิด-19 แล้ว ควรพาเด็กไปตรวจเพื่อให้ทราบว่ามีภาวะมิสซีหรือไม่


สาเหตุภาวะมิสซี (MIS-C)
ในเบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะมิสซี (MIS-C) ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กตอบสนองต่อเชื้อไวรัสมากจนเกินไป มักจะเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 2-6 สัปดาห์ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะมิสซี (ภาวะ MIS-C) ได้เช่นกัน

โดยภาวะลองโควิดในเด็กนี้หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการส่วนใหญ่ จะมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เกิน 24 ชั่วโมง


ภาวะมิสซีพบได้ในเด็กกลุ่มใด
โดยภาวะลองโควิดในเด็ก หรือภาวะมิสซีนั้น สามารถพบได้ในเด็กทุกช่วงอายุ แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้พบภาวะ MIS-Cได้มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เช่น อายุ เพศ ประเทศ เป็นต้น

โดยภาวะ MIS-C ส่วนมากจะพบในเด็กกลุ่มนี้ เช่น

  • พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
  • เด็กที่มีอายุเฉลี่ย 6-10 ปี
  • พบแถบประเทศยุโรป อเมริกาและอินเดีย

อย่างไรก็ตาม แม้เด็กที่หายจากโควิด-19 จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่พบมากตามกลุ่มข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ควรชะล่าใจหมั่นสังเกตอาการของเด็กหลังหายจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะหากตกอยู่ในภาวะมิสซีอาจทำให้ทรุดลงอย่างรวดเร็วและถึงแก่ชีวิตได้


อาการภาวะ MIS-C ในเด็ก มีอะไรบ้าง

 อาการภาวะ MIS-C

อาการภาวะ MIS-C หรือภาวะลองโควิดในเด็ก จะคล้ายโรคคาวาซากิ ได้แก่

  • มีไข้สูง
  • ผื่น
  • ตาแดง
  • มือ เท้าบวมแดง
  • ปากแดง แห้ง แตก
  • ต่อมน้ำเหลืองโต

โดยภาวะมิสซี (MIS-C) กับโรคคาวาซากิเป็นโรคที่มีความใกล้เคียงกันแต่มีข้อแตกต่าง เนื่องจากโรคคาวาซากิมักจะเกิดในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนภาวะ MIS-C มักเกิดในเด็กอายุเฉลี่ย 8-11 ขวบขึ้นไป

เปรียบเทียบอาการของภาวะ MIS-C กับโรคคาวาซากิ

ภาวะมิสซี จะพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร และการทำงานผิดปกติของหัวใจได้มากกว่ามีโอกาสช็อกได้มากกว่า แสดงอาการรุนแรงกว่าโรคคาวาซากิ หากมีอาการควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยผ่านการตรวจเลือด อัลตร้าซาวนด์หัวใจ เพื่อเป็นการแยกโรคให้ชัดเจน

อาการที่เหมือนกันของภาวะ MIS-C กับโรคคาวาซากิ ได้แก่

  • ภาวะ MIS-C จะมีไข้สูง นานกว่า 24 ชั่วโมง และโรคคาวาซากิ จะมีไข้สูงเกิน 5 วัน
  • มีอาการตาขาวแดงทั้ง 2 ข้าง เหมือนกัน
  • ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ๆ คล้ายผิวสตรอเบอร์รี่ เหมือนกัน
  • มีผื่นตามตัว เหมือนกัน
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เหมือนกัน

ถ้าเป็นภาวะ MIS-C จะมีอาการเพิ่มเติม คือ

  • มีอาการช็อค ความดันต่ำ
  • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบ
  • ปวดศีรษะ ซึม
ส่วนถ้าเป็นโรคคาวาซากิจะมีอาการเพิ่มเติม คือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าบวม


โรคมิสซี (MIS-C) อันตรายไหม ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

ภาวะมิสซี (MIS-C) หรือภาวะลองโควิดในเด็กส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยจะทำให้ระบบในร่างกาย มากกว่า 2 ระบบเกิดความผิดปกติ อวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายเกิดการอักเสบ ได้แก่

  • ระบบหายใจ  เด็กมีอาการปอดอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตันในปอด และหายใจลำบาก
  • ระบบประสาท เด็กมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ระบบเลือด การแข็งตัวเลือดผิดปกติ
  • ระบบหัวใจ และหลอดเลือด เด็กมีอาการช็อค หัวใจอักเสบ
  • ระบบผิวหนัง เด็กมีอาการเยื่อบุผิวหนังอักเสบ เป็นผื่น แดง
  • ระบบทางเดินอาหาร เด็กมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน และตับอักเสบ
  • รวมถึงภาวะมิสซี อาจทำให้เด็กมีอาการไตวายเฉียบพลัน

แนวทางการตรวจวินิจฉัยภาวะมิสซี (MIS-C)

ตรวจภาวะ MIS-C ในเด็ก

โดยแนวทางการตรวจวินิจฉัยภาวะมิสซี (MIS-C) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจด้วยการทำอัลตราซาวด์หัวใจหรือที่เรียกว่า การทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) โดยจะประเมินการทำงานของหัวใจร่วมกับการประเมิน Volume Status มีภาวะการโป่งพองของหลอดเลือดหรือไม่

รวมถึงอาจมีการตรวจปอด ตรวจช่องท้อง ตรวจระบบประสาท ตรวจน้ำไขสันหลัง นอกจากนี้ จะต้องมีการเจาะเลือดตรวจดูค่าการอักเสบของร่างกาย ร่วมกับการตรวจดูทุกอวัยวะที่จะเกิดการอักเสบได้ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการรุนแรงของภาวะมิสซี อาจต้องอยู่ในโรงพยาบาลระหว่างรอผลตรวจ


วิธีรักษาภาวะมิสซี (MIS-C) ลองโควิดในเด็ก

การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะมิสซีหรือลองโควิดในเด็ก  ในขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากภาวะ MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต

จากรายงานส่วนใหญ่  ภาวะมิสซี (MIS-C)ให้ทำการรักษาโดยใช้แนวทางเช่นเดียวกับ การรักษา Kawasaki disease แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ หลักในการรักษา ประกอบด้วย

การให้การรักษาแบบประคับประคอง
เป็นการรักษาที่เน้นฟื้นฟูร่างกายด้วยตัวเองเป็นหลัก และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

การให้ยากลุ่มต้านการอักเสบ
โดยใช้ยา IVIG และยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น

  • การให้ยาอิมมูโนกลอบูลิน (Immunoglobulins) ทางหลอดเลือดดำ เป็นแอนติบอดีกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย ช่วยลดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกาย และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
  • การใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม ลดไข้ และการอุดตันของเกล็ดเลือด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ


ข้อปฏิบัติในการป้องกัน MIS-C ภาวะลองโควิดในเด็ก

ป้องกันภาวะ MIS-C โดยการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโควิด-19

โดยการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับภาวะมิสซี (MIS-C) หรือภาวะลองโควิดในเด็ก คือ การป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เองเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีส่วนป้องกันการติด COVID-19 ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ MIS-C ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ภาวะมิสซี อาจมีอาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเฝ้าระวังอาการของเด็กๆ ที่หายจากการติดเชื้อ COVID-19 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ MIS-C ภาวะลองโควิดในเด็ก

ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับภาวะมิสซี (MIS-C) หรือภาวะลองโควิดในเด็ก เช่น

พบภาวะ MIS-C ในเด็กหลังติดโควิดช่วงไหน
โดยมักพบภาวะ MIS-C ได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์

ภาวะลองโควิดในเด็ก MIS-C เป็นโรคติดต่อไหม
โดยภาวะมิสซี ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง แต่เป็นภาวะที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อผิดปกติไป จึงไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อ


ข้อสรุป

ภาวะมิสซี Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) หรือภาวะลองโควิดในเด็ก เป็นกลุ่มอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในหลายระบบของร่างกายในเด็ก อาจก่อให้เกิดภาวะอักเสบในเด็กได้ในหลายระบบของร่างกาย และทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาในไอซียู หรือมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าพึ่งตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป และหากพิจารณาจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้เบื้องต้น พบว่าใครอาจมีภาวะมิสซี (ภาวะ MIS-C) ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป