ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


ประจำเดือนมาน้อยอันตรายหรือไม่ ควรสังเกตอย่างไร

ประจำเดือนมาน้อยอันตรายหรือไม่

ปัญหาที่ผู้หญิงอย่างเรา ๆ พบเจอกันบ่อยมากที่สุดก็คือปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนที่มาไม่ปกตินั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมามากกว่าปกติ ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนเลื่อน

ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนเหล่านี้ทำเอาผู้หญิงอย่างเรา ๆ กังวลกันไปหมด ว่ามีอะไรผิดปกติกับร่างกายหรือเปล่า แล้วจะอันตรายไหม หรือมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน โดยในบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยปัญหาประจำเดือนมาน้อยกัน

ประจำเดือนมาน้อย

ประจำเดือนมาน้อย

อาการประจำเดือนมาน้อย หรือ Light Period คือการที่ปริมาณของประจำเดือนในรอบเดือนนั้น ๆ มีน้อยลงจนผิดปกติ หรือจำนวนวันที่ประจำเดือนมาในรอบนั้นลดน้อยลง ซึ่งการที่ประจำเดือนมาน้อยนั้นถ้าหากเกิดขึ้นไม่บ่อยก็อาจไม่ใช้สัญญาณอันตราย โดยจะพบได้มากในวัยรุ่นและผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

แต่ถ้าหากว่ามีอาการประจำเดือนมาน้อยผิดปกติบ่อย ๆ ก็ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาให้ประจำเดือนมาเป็นปกติโดยทันที

ลักษณะประจำเดือนปกติ

โดยปกติทั่วไปแล้วลักษณะของประจำเดือนในผู้หญิงจะมีประมาณ 3-5 วันต่อรอบเดือน แต่ในบางคนก็อาจมีประจำเดือนจนถึง 7 วันเลยก็มีเช่นกัน ซึ่งรอบประจำเดือนจะอยู่ช่วงเวลา 21-35 วันโดยประมาณ และปริมาณของประจำเดือนที่ออกมาในแต่ละวันไม่ควรเกิน 80 ซีซี

วิธีสังเกตอาการประจำเดือนมาน้อย

ในอาการประจำเดือนมาน้อยผิดปกติสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  • ประจำเดือนในรอบเดือนนั้น ๆ มีระยะวันที่มาน้อยลงกว่าปกติ
  • การใช้ผ้าอนามัยในรอบเดือนนั้น ๆ ลดจำนวนลง
  • มีประจำเดือนในปริมาณที่น้อยผิดปกติตั้งแต่วันแรกของรอบเดือนนั้น ๆ
  • ปริมาณของประจำเดือนมีน้อยมากจนเหมือนมากะปริบกะปรอย

ประจำเดือนมาน้อยเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากสภาพร่างกาย หรือสาเหตุจากการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน และอาจรวมไปถึงสาเหตุจากการใช้ยา โดยในหัวข้อนี้จะอธิบายให้รู้กันว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง

ประจำเดือนาน้อยเกิดจากอะไร

1. น้ำหนักสูง - ต่ำกว่าเกณฑ์
การมีน้ำหนักตัวที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์นั้นก็ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยได้เช่นกัน เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวน้อยหรือผอมเกินไปร่างกายจะขาดไขมันที่จะผลิตฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่ ส่วนการมีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไปจะทำให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มีมากเกินไป

2. อายุและช่วงวัย
ในช่วงวัยรุ่นและวัยใกล้หมดประจำเดือนจะทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ เนื่องจากในวัยรุ่นร่างกายจะยังมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการมีประจำเดือน ส่วนในวัยใกล้หมดประจำเดือนระดับฮอร์โมนจะเริ่มลดลง จึงส่งผลถึงปริมาณประจำเดือนมาน้อยลงไปด้วย

3. ระดับฮอร์โมนไม่ปกติ
ระดับของฮอร์โมนที่ไม่ปกติก็จะส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลงกว่าปกติ โดยฮอร์โมนที่เมื่อเกิดความผิดปกติหรือขาดความสมดุลแล้วทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อยคือ ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการตกไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone)

4. การใช้ยาคุมกำเนิด
การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาฉีด หรือวงแหวนคุมกำเนิด ก็อาจทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อยได้เช่นกัน ซึ่งอาการจะขึ้นในช่วงที่เพิ่งเริ่มใช้ยาหรือหลังจากหยุดยาได้ไม่นาน

5. ความเครียด
การเกิดความเครียดจะทำให้การผลิตฮอร์โมนโกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin) ถูกรบกวน และส่งผลต่อการควบคุมระบบสืบพันธุ์ จนทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อยได้

6. ภาวะไข่ไม่ตก
ภาวะไข่ไม่ตกนั้นมีสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน ทั้งความเครียด การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งเมื่อมีภาวะไข่ไม่ตกก็ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติหรือประจำเดือนมาไม่ปกติได้

7. การตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ผู้ที่มีการตั้งครรภ์จะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยประมาณ 1-2 วัน ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปฏิสนธิ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน ส่วนในผู้ที่มีการให้นมบุตรจะเกิดอาการประจำเดือนมาน้อยเนื่องจากฮอร์โมนที่ช่วยผลิตน้ำนมจะไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้การตกไข่ช้าลง

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

เมื่อเกิดอาการประจำเดือนมาน้อยที่มีอาการดังนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

  • มีอาการประจำเดือนมาน้อยอยู่บ่อยครั้ง
  • ปริมาณของประจำเดือนมีน้อยผิดปกติ
  • ประจำเดือนในรอบเดือนนั้น ๆ มีน้อยกว่า 2 วัน
  • มีประจำเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งต่อปี
  • ระยะเวลาของรอบเดือนนานเกินกว่า 35 วันมาหลายรอบเดือน

อาการประจำเดือนผิดปกติที่มักเกิดร่วม

อาการต่าง ๆ ที่มักเกิดร่วมในอาการประจำเดือนผิดปกติ มีดังนี้

  • ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ
  • ปวดท้องน้อยทั้งที่ไม่ได้อยู่ในรอบเดือน
  • มีลิ่มเลือดเป็นก้อนปนออกมาขณะที่มีรอบเดือน
  • มีปริมาณตกขาวมาก

การวินิจฉัยภาวะประจำเดือนมาน้อย

การวินิจฉัยภาวะประจำเดือนมาน้อย

เมื่อมีอาการประจำเดือนมาน้อยที่มีอาการผิดปกติมาก เกิดอาการบ่อย หรือเกิดอาการร่วมที่ผิดปกติต่าง ๆ ก็ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อที่จะทำการรักษาได้อย่างตรงจุด โดยการวินิจฉัยภาวะประจำเดือนมาน้อยมีดังนี้

1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย
ในขั้นแรกแพทย์จะทำการซักประวัติ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามอาการเบื้องต้น ความผิดปกติของรอบเดือน ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ ยาที่มีการใช้หรือรับประทานอยู่ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และมีการตรวจร่างกายเบื้องต้น

2. การตรวจภายใน
ในขั้นตอนการตรวจภายในจะมีการตรวจอยู่ 3 แบบด้วยกัน

  • กดคลำบริเวณมดลูกและรังไข่ เพื่อตรวจขนาด หาก้อนแปลกปลอม และตรวจอาการเจ็บปวด
  • คลำหรือส่องกล้องบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก เพื่อหาแผล ก้อน หรือติ่งเนื้อ
  • เก็บเซลล์จากบริเวณปากมดลูก เพื่อนำมาเพาะหาการติดเชื้อ หรือการอักเสบ

3. การตรวจอัลตราซาวด์
ในการขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์จะมีการตรวจอยู่ 2 แบบด้วยกัน

  • การอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก รังไข่ และอุ้งเชิงกราน
  • การอัลตราซาวด์น้ำ เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกภายในมดลูก

ประจำเดือนมาน้อย บอกอะไรได้บ้าง

อาการประจำเดือนมาน้อยที่ผิดปกตินั้นสามารถบ่งชี้ถึงโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย ได้แก่

ประจำเดือนมาน้อยบอกอะไรได้บ้าง

1. โรคไทรอยด์
อาการประจำเดือนมาน้อยอาจเกิดได้จากฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป และนอกจากนี้ถ้าหากว่าโรคไทรอยด์ที่เป็นมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็อาจส่งผลให้รังไข่หรือต่อมต่าง ๆ ทำงานผิดปกติอีกด้วย

2. โรคถุงน้ำรังไข่ (PCOS)
ในโรคถุงน้ำรังไข่ หรือ PCOS คือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ซึ่งโรคนี้จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลง และรบกวนการตกไข่ ซึ่งส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยได้เช่นกัน

3. เนื้องอกในมดลูก
การที่เกิดเนื้องอกภายในมดลูกจะทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอด ที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนที่มีอาการประจำเดือนมาน้อยได้

4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือมามากผิดปกติได้ เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกได้แทรกตัวเข้าไปในกล้ามเนื้อผนังมดลูก

5. การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจะทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด ที่อาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนที่มีอาการประจำเดือนมาน้อย โดยการติดเชื้อนี้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน หรืออาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคจนเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ

วิธีรักษาภาวะประจำเดือนมาน้อย

ในการรักษาภาวะประจำเดือนมาน้อยมีอยู่ทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

วิธีรักษาภาวะประจำเดือนมาน้อย

1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การออกกำลังกายที่ไม่หักโหมหรือหนักจนเกินไป หรือการทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบเพื่อลดความเครียด จะช่วยให้ภาวะประจำเดือนมาน้อยดีขึ้นได้

2. การรักษาด้วยการใช้ยา
วิธีการรักษาด้วยการใช้ยาจะเป็นการใช้ยาปรับฮอร์โมนในการรักษา ซึ่งจะเป็นการใช้กลุ่มยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยมีทั้งรูปแบบยาเม็ดและรูปแบบยาฉีด และยาปรับฮอร์โมนที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นก็คือยาคุมกำเนิด

3. การรักษาจากต้นเหตุของโรค
เมื่อทราบว่าเป็นอาการประจำเดือนมาน้อยที่มีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ ก็ควรที่จะเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมและตรงจุด ทั้งยังไม่ให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อย

เพื่อไม่ให้เกิดอาการประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ เราก็มีวิธีป้องกันต่าง ๆ มาแนะนำดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการครบถ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ควรหักโหมหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไป
  • หางานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลายทำเพื่อลดความเครียด
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติของรอบเดือน และตรวจภายในเป็นประจำทุกปี

ข้อสรุป

อาการประจำเดือนมาน้อยที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็อาจจะไม่มีอันตราย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือมีอาการร่วมอื่น ๆ ด้วยล่ะก็ ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะอันตรายต่าง ๆ ก็เป็นได้