ThaiFranchiseCenter Webboard

ThaiFranchiseCenter Webboard - Info Center

* สมัครสมาชิกเว็บบอร์ด ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ ฟรี! *
หน้าแรก | เปิดร้านค้าฟรี! | โปรโมชั่นแฟรนไชส์ | ร้านหนังสือออนไลน์ | สนใจลงโฆษณา

ทางเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ไม่มีส่วนรับผิดชอบกับข้อความต่างๆในเว็บบอร์ดแต่อย่างใด
    ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย-เช่า-เซ้ง หรือ อื่นๆ (ผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย กรุณาใช้วิจารณญาณในการติดต่อทางธุรกิจ)


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - Guys

หน้า: [1]
1
จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง และกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อสร้างความอยู่รอดของธุรกิจที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย
หนังสือ “พลิก ... ฝ่ามือ สร้างธุรกิจไทย” ของสำนักพิมพ์บิสซี่เดย์ จึงเป็นคู่มือทางธุรกิจที่ให้คมความคิดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในการปรับตัวเพื่อรับกระแสเศรษฐกิจสังคมไทย โดยเฉพาะในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง นายไชยกร ปลื้มเจริญกิจ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์บิสซี่เดย์ เปิดเผยว่า หนังสือฉบับดังกล่าว เป็นการแนะนำ กลยุทธ์ด้านการตลาด โดย Marketing Guru ของเรา สำหรับสภาวะเศรษฐกิจและภาพรวมของตลาดที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรทำเป็นสิ่งแรก คือ รากฐานการจัดการ หรือถอยกลับมาสู่พื้นฐาน ABCD สำหรับเริ่มแรก ได้แก่ A – Analysis การวิเคราะห์ที่ดี ทั้งในด้านของฐานลูกค้า (Customer) สภาพตลาด (Market) และสินค้า (Product)  B- Budget การประเมินงบประมาณ รายรับและรายจ่ายที่ต้องสมดุลกัน รายได้มาจากฐานลูกค้า ฐานตลาด และฐานผลิตภัณฑ์ รายจ่ายจากต้นทุนสินค้า สต็อกสินค้า ค่าใช้จ่ายการขาย ค่าขนส่ง ค่าส่งเสริมการขาย และค่าการตลาด ค่าพนักงาน C – Channel หรือช่องทาง มี 3 ด้าน คือ ช่องทางการขาย ช่องทางการสื่อสาร และช่องทางการให้บริการ และ D – Direction คือการกำหนดทิศทางที่แน่นอน แล้วเดินไปในทิศทางที่กำหนดและตัดสินใจแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้แนะเคล็ดลับสำคัญของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะหนีกลไกราคา และวงจรไร้ความแตกต่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของตนเอง ดังนี้
1. ต้องมีหัวสร้างสรรค์ หาสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เรามี ซึ่งบางทีเราไม่จำเป็นต้องทำเอง
2. หาความชำนาญเฉพาะ ทั้งนี้ ลูกค้ามักยอมจ่ายส่วนต่างที่เกิดขึ้น เพราะเขาหาที่ไหนไม่ได้
3. ต้องสร้างพันธมิตรเครือข่าย เพื่อมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าออกร้าน ค่าขนส่ง แลกเปลี่ยนลูกค้ากัน แลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์กันต่างฝ่ายต่างขายของกันและกัน ลงขันกันทำการตลาดหรือลงขันกันลงทุนสร้างและออกแบบเทรนด์
4. รักษาฐานลูกค้าเก่าให้เหนียวแน่น ก่อนขยายไปฐานอื่น ๆ เพราะว่าการรักษาลูกค้าเก่าให้ซื้อซ้ำนั้น ง่ายกว่าและถูกกว่าการหาลูกค้าใหม่ 8 – 10 เท่า
5. หากจะหาลูกค้าคาดหวังใหม่ ๆ ต้องหาพันธมิตรมาช่วย เช่น หากเราขายยางรถยนต์อาจจะร่วมหรือแจกคูปองกับสถานีบริการน้ำมัน หากเราบริการจัดดอกไม้ส่งถึงที่ อาจร่วมกับร้านอาหารใกล้ ๆ หรือร้านอาหารที่หนุ่มสาวนัดเดทกันชอบไป เป็นต้น
6. หาทางเติบโตในตลาดอินโดจีน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่ซื้อขายเป็นเงินบาท และเตรียมพร้อมกับการรับตลาดเป็นหนึ่งเดียวของอินโดจีนที่มีประชากรกว่า 220 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เอสเอ็มอีเลิก “ยึดติด” และให้ใช้หลักการ “ยืดหยุ่น” โดยการยึดติดหมายรวมถึง 1. การยึดติดกับความรุ่งโรจน์ความสำเร็จที่ผ่านมา และเข้าใจว่าวันข้างหน้าจะดีเหมือนกับวันวาน ต้องระมัดระวังและมีความตื่นตัวอยู่เสมอ  2. การยึดติดกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่ผ่านมา เข้าใจคาดเดาเอาเองว่าสิ่งต่าง ๆ จะเป็นแบบเดิม  3. การยึดติดกับความรู้ความสามารถเดิมที่ตนเองมีอยู่ ถือดี ทะนงตนว่าสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือสามารถรุกได้อย่างเด็ดขาด โดยลืมหรือละเลย การเรียนรู้แนวทางใหม่ ๆ หรือความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวินาที 4. การยึดติดกับการให้พนักงานใช้วิธีการเดิม ๆ ปฏิบัติงานไปทุก ๆ วัน โดยไม่รู้หรือลืมคิดไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีพัฒนาการทุกวินาที และ 5. ยึดติดโครงสร้างการบริหารจัดการภายใน ว่าดีอยู่แล้ว โดยลืมคิดไปว่า โครงสร้างที่ดีเมื่อวานอาจดีไม่พอสำหรับวันนี้ ซึ่งการยึดติดทั้ง 5 ข้อดังกล่าวเปรียบกับการใส่เกียร์ห้าเหยียบคันเร่งเต็มที่ไปบนถนนเส้นนี้ (Highway to Hell)
“ความยืดหยุ่น” เป็นประตูที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความรุ่งโรจน์ ซึ่งหมายถึง การพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนทุกองคาพยพอย่างรู้เท่าทัน อย่างมีการเตรียมการ และต้องยืดหยุ่นอย่างสร้างสรรค์
“ผมคิดว่า หนังสือเล่มนี้ จะเป็นคูมือที่เป็นเพื่อนแท้ยามยาก ที่จะร่วมฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ให้สามารถผ่านพ้นไปด้วยดี และก้าวไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จในอนาคต” นายไชยกรกล่าวปิดท้าย
ผู้สนใจสามารถหาซื้อหนังสือ “พลิก ... ฝ่ามือ สร้างธุรกิจไทย” โดยสำนักพิมพ์บิสซี่เดย์ ได้วันนี้ ตามแผงหนังสือชั้นนำทั่วไป

2
   สิ่งที่น่าจับตามองธุรกิจ SMEs ไทย ซึ่งในปัจุบันมีจำนวน 2 ล้านกว่าราย ในการดำรงความอยู่รอดของธุรกิจในสภาพเศรษฐกิจยุค “ข้าวยากหมากแพง” นั้น คงหนีไม่พ้นการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม แล้วปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น จากนั้นจึงค่อยสรรหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อมาเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ
สิ่งที่น่ากังวลของธุรกิจ SMEs ไทย นั้น คือการตีโจทย์การตลาดไม่แตก ทั้งในส่วนของการค้นหาตัวตน วิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง ซึ่งเจ้าของธุรกิจโดยส่วนใหญ่ ไม่มีเวลาที่จะเงยหน้าขึ้นมามองการเปลี่ยนแปลงของโลก เพียงแค่การก้มหน้าก้มตาทำงานงก ๆ อยู่วัน ๆ ก็บริโภค (consume) เวลาของผู้ประกอบการเหล่านั้นไปเกือบจะ 90% แล้ว ซึ่งพอเงยหน้าปาดเหงื่อจากการทำงานขึ้นมา สินค้าและงานที่ทำมาทั้งหมด กลับไม่สามารถขายได้ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแทน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มปรับทัศนะส่วนตัว รับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากนั้นก็ดำรง “สติ” ให้มั่น พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น แล้ววางกลยุทธ์ ตลอดจนแผนธุรกิจเพื่อฝ่าฟันยุคการตลาดไร้พรมแดน ไร้ขอบเขต ที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทีมงานมาร์เก็ตติ้ง กูรู นำโดย มนัสศิริ เผือกสนธ์  นิทัศน์ คณะวรรณ  ธีรพล แซ่ตั้ง และชูศักดิ์ เดชเกรียงไกรกุล ได้แท็กทีมกันให้คำแนะนำสำหรับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจที่กำลังประสบกับปัญหาทางด้านการตลาด พร้อมแนะอาวุธการตลาดสำคัญ เพื่อให้บรรดาผู้ประกอบการให้สามารถพกติดตัว และใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจให้สอดรับกับกระแสการตลาดในสถานการณ์ปัจจุบัน ใน “พลิก ... ฝ่ามือ  สร้างธุรกิจไทย” เล่ม 1 และเล่ม 2

•   การให้ความสำคัญไปที่ลูกค้า
“ลูกค้า” คำตอบง่าย ๆ ของโจทย์การตลาด แต่การจะรักษา และเข้าถึงลูกค้าได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเท่าไรสำหรับบรรดาผู้ประกอบการ ดังนั้น ในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องบริหาร จัดการ“ลูกค้า” ก่อนเป็นอันดับแรก คือ การรักษาฐานลูกค้าเก่า เพื่อให้คงยอดขายและยอดซื้อเดิมที่มีอยู่กับธุรกิจ โดยวิธีง่าย ๆ ในการมัดใจลูกค้า มีดังนี้
1.   การใช้โอกาสจาก “ต้นทุนการซื้อของใหม่” เมื่อลูกค้าต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า หรือการใช้บริการต่าง ๆ นั้น พบว่า ผู้ที่นำเสนอใหม่จะต้องให้ข้อเสนอที่พิเศษมาก ๆ สำหรับลูกค้า เช่น ให้ส่วนลดจำนวนมาก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการบริการ และคุณภาพสินค้าแล้ว
2.   การใช้โอกาสจาก “ต้นทุนการเรียนรู้ใหม่” ซึ่งเกิดจากการที่ลูกค้าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไปเรียนรู้สินค้าและบริการใหม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บรรดาสินค้าไอทีทั้งหลาย อย่างการเปลี่ยนจากวินโดว์เอ็กซ์พี เป็นวิสต้า
3.   การให้รางวัลลูกค้า อย่างการสะสมยอดซื้อ เพื่อแลกของรางวัลต่าง ๆ
4   ความเข้ากันระหว่างของใหม่และของที่ลูกค้ามีอยู่ อาทิ สายอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเฉพาะยี่ห้อเท่านั้น
5.   การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานเรากับขบวนการทำงานกับลูกค้า
6.   การมี CRM หรือความสัมพันธ์กับลูกค้า ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว และความสัมพันธ์ในรูปแบบกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เรียก CRM และการบริหารการให้บริการกับลูกค้า เมื่อลูกค้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา
7.   การผูกสัญญากับลูกค้าเป็นรายปี ราย 3 ปี
ทั้ง 7 ข้อข้างต้น เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ Customer Lock-In จากนั้น ผู้ประกอบการจะต้องจัดกลุ่ม และจำแนกลูกค้ารายสำคัญของบริษัท ซึ่งจากสถิติจะเห็นได้ว่า ลูกค้าจำนวน 20% จะมียอดซื้อ 80% ของธุรกิจ ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ ในขณะที่ลูกค้าอีก 80% นั้น มียอดซื้อเพียง 20% ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้าทั่วไป สำหรับการบริหารจัดการลูกค้ารายสำคัญ นั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะของลูกค้าขาใหญ่กำไรโต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าทางธุรกิจ และลูกค้ารายย่อย
ในส่วนของการบริหารลูกค้าขาใหญ่กำไรโต หรือ Key Account Management (KAM) สามารถแยกเป็น 2 ลักษณะ โดย ผู้ใช้ทางธุรกิจ B2B และ Distributive KAM ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะจะใช้รูปแบบในการบริหารแตกต่างกันออกไป โดยในแบบแรก เราจะบริหารการขายเข้า (Sell-in) แบบหลัง เราบริหารทั้งการขายเข้าและขายออก (Sell-out) หรือทำให้สินค้าบริการออกจากร้านด้วย ต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
การเริ่มต้นบริหาร KAM นั้น เริ่มต้นจาก ประการแรก การจำแนกกลุ่มลูกค้าขาใหญ่กำไรโต โดยดูจากบัญชีย้อนหลัง เพื่อคัดลูกค้า Top 20 อันดับต้น ๆ หรือ 50 ราย หรือ 100 รายต้น ๆ ประการที่สอง คือ การสร้างเกณฑ์ในการจัดเกรดลูกค้า เช่น AAA หมายถึงลูกค้าที่มียอดซื้อสูง อัตราการเติบโตดี เครดิตดีไม่มีปัญหา จ่ายเงินไม่ล่าช้า เป็นต้น เมื่อจัดเกรดแล้ว ต้องศึกษาความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เพื่อคิดโปรแกรมในการดึงดูดให้เขามาเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา ประการที่ 3 พิจารณาผู้ดูแล KAM โดยพิจารณาจากทักษะการวางแผน ทักษะที่ปรึกษา และที่สำคัญมนุษยสัมพันธ์ต้องดี เพราะเขาจะต้องเป็นศูนย์กลางระหว่างบริษัทกับลูกค้า
สำหรับลูกค้ารายย่อย นั้น จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมเฉพาะบุคคลแตกต่างไปตามไลฟ์สไตล์ มากขึ้น ซึ่งเรียกว่าการแบ่งแบบ Mosaic หรือ Micro Segmentation นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการหลายชนิดในตลาด นำเสนอ Experiential Marketing ซึ่งปรุงแต่ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้าไปในแต่ละจุดที่ปะทะกับผู้บริโภคมากขึ้น  รวมไปถึงการผสมผสานแนวคิดด้าน  Retro Product / Service  หรืออาจเรียกด้วยภาษาง่าย ๆ ว่า สินค้าและบริการแบบย้อนยุค อาทิ การนวดแผนโบราณ ขนมไทยโบราณ นอกจากนี้ ยังมีการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อเพราะจิตวิญญาณเป็นเรื่องทางอารมณ์ มากกว่าเหตุผล จากความหลงใหล และความนิยม อาทิ รถยนต์รุ่นเก่า กีตาร์รุ่นเก่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องผสมผสานเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์แบบคลาสสิก เข้ากับความทันสมัยของเทคโนโลยีแห่งอนาคตไปด้วยในเวลาเดียวกัน อาทิ ตู้แช่  Coke (Coca – Cola) ที่ใช้น้ำแข็ง จุดเด่นคือ สามารถเข็นเสิร์ฟไปได้ทุกที่ ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในงานปาร์ตี้ที่อเมริกา หากใครสามารถหามาได้ (ซึ่งแทบจะไม่มีเหลือแล้ว) จนในปัจจุบัน ได้มีการผลิต Coca-Cola “Ice-Cold” โดยใช้น้ำแข็งหล่อเยือกแทน หรือการออกแบบกล้องดิจิตอล โดยใช้รูปลักษณ์ภายนอกแบบกล้องรุ่นเก่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยระบบดิจิตอล ความละเอียด 10 เมกะพิกเซล เป็นต้น การย้อนยุคแบบที่เราย้อนกลับไปหาความฝังใจในเทคโนโลยีแห่งอดีตกาลนี้เรียกว่า Tech Nostalgia
เมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมของลูกค้า และกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เรามีความต้องการที่จะรักษายอดขายให้คงไว้ หรือเพิ่มยอดขายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องกล่าวถึง คือ การบริการที่ดีในทุกจุดที่ปะทะกับลูกค้า ตั้งแต่หน้าประตูยันหลังร้าน เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่งทางผู้ประกอบการจำเป็นต้องตรวจสอบพฤติกรรมของการบริการของพนักงานตนเอง ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นทางด้านการบริการจากลูกค้าโดยตรง เพื่อนำมาปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น ทางมาร์เก็ตติ้ง กูรู ได้มุ่งเน้นการนำเสนอ 5 สูตรสำเร็จ เพื่อเพิ่มขุมทรัพย์ธุรกิจด้วยบริการ ประกอบด้วย
สูตรที่ 1 : การรักษาความพอใจลูกค้าเก่ามากกว่าลูกค้าใหม่
สูตรที่ 2 : สร้างคุณค่าใหม่ ๆ ในสายตาลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ยิ่งรักษาลูกค้าเท่า ยิ่งมีกำไร
สูตรที่ 3   : คัดเลือกลูกค้าคนสำคัญของท่าน ก่อนสร้างความประทับใจ
สูตรที่ 4 : ยิ่งตอบสนองลูกค้าได้เฉพาะตัว ยิ่งเพิ่มกำไรให้ธุรกิจ
สูตรที่ 5 : สร้างความพึงพอใจลูกค้า ให้ถึงมาตรฐานขั้นต่ำก่อนเสมอ
ผู้ประกอบการ SMEs อาจจะดำเนินการตามคำแนะนำของมาร์เก็ตติ้ง กูรู ทั้ง 4 ท่าน และทดลองปฏิบัติและปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาด ตลอดจนการบริหารองค์กร เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในกระแสเศรษฐกิจอันเชี่ยวกรากได้ ซึ่งการจะผ่านจุดวิกฤตินี้ไปได้ ต้องใช้ทั้งความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ พลิก ... ฝ่ามือ สร้างธุรกิจไทย ทั้งภาค 1 และภาค 2 โดยสำนักพิมพ์บิสซี่เดย์ ได้แล้ววันนี้ ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

หน้า: [1]