ไทรอยด์เป็นพิษ สังเกตอาการเบื้องต้นเพื่อลดอันตรายต่อชีวิตได้ยังไง?
(https://img2.pic.in.th/pic/hyperthyroidism60107394e45e7e57.png)
ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอีกโรคที่หลาย ๆ ท่านไม่ควรมองข้าม อีกทั้งยังเป็นโรคที่อาจขึ้นได้กับทุกคน หากเมื่อท่านเริ่มมีอาการไทรอยด์เป็นพิษ (https://samitivejchinatown.com/th/article/ears-throat-nose/hyperthyroidism)ในเบื้องต้นแต่ไม่ได้สังเกตให้ถี่ถ้วน พร้อมกับปล่อยไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ในบทความนี้เพื่อให้รู้เท่าทันสัญญาณของโรค เราจะช่วยให้ท่านได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง, การสังเกตอาการไทรอยด์เป็นพิษ, กระบวนการตรวจไทรอยด์เป็นพิษทำอย่างไร, วิธีการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ, การใช้ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ, การป้องกันไทรอยด์เป็นพิษ และความเสี่ยงไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น
ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร สาเหตุของการก่อเกิดโรคคือ?
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) คือต่อมไร้ท่อรูปทรงคล้ายปีกผีเสื้อ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ โดยมีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ โดยเริ่มจากเป็นส่วนช่วยในกระบวนการการเจริญเติบโต ช่วยในขั้นตอนการเผาผลาญพลังงาน ไปจนถึงการวิธีควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย พร้อมทั้งกระบวนการการทำงานของสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และดูแลเรื่องอารมณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมองไฮโปธาลามัส
หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฮอร์โมนมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้ความสมดุลของร่างกายพังได้ และหนึ่งในภาวะที่พบได้บ่อยคือ ไทรอยด์เป็นพิษนั่นเอง
ไทรอยด์เป็นพิษ คืออะไร? ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism หรือ Overactive Thyroid) เกิดจากกระบวนการการทำงานในส่วนของต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผิดปกติ ด้วยการผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินกว่าความจำเป็น ด้วยเหตุนี้เองที่ส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญเร็วมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายอย่างเห็นได้ชัด เช่น
- มีอาการน้ำหนักลดลงผิดปกติ ถึงแม้ว่าท่านจะกินเยอะก็ตาม
- ภาวะอาการหัวใจเต้นเร็ว มีเหงื่อออกมาก
- มีอาการขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย
- อาจมีอาการมือสั่น หรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- ซึ่งไทรอยด์เป็นพิษจะสามารถพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย
ไทรอยด์เป็นพิษ ข้อสังเกตอาการเบื้องต้นมีอะไรบ้าง
อาการไทรอยด์เป็นพิษ มีอาการอย่างไร? ไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนภายในร่างกาย มักจะพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าชายถึง 10 เท่า โดยโรคไทรอยด์เป็นพิษมักมีลักษณะอาการที่มาในรูปแบบเป็น ๆ หาย ๆ และอยู่ในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ซึ่งอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่สามารถสังเกตได้มีดังต่อไปนี้
- อาการใจสั่น เหนื่อยง่าย : เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไปกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจ จึงทำให้รู้สึกใจสั่นง่าย เหนื่อยแม้ไม่ได้ออกแรงมาก
- มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง : โดยเฉพาะแขนขาที่ได้รับผลกระทบจนไม่มีแรง จากผลของฮอร์โมนไทรอยด์ หรือโพแทสเซียมต่ำอย่างเฉียบพลัน
- น้ำหนักลดเร็วผิดปกติ : แม้จะรับประทานอาหารตามปกติ หรือกินเยอะมากแต่ไหนก็ตาม เพราะระบบเผาผลาญทำงานหนักจากฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไป
- ถ่ายอุจจาระบ่อยหรือเหลว : ระบบย่อยอาหารทำงานเร็วเกินจนส่งผลต่อการขับถ่าย
- อาการนอนไม่หลับ มีความหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน : สมองถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน ทำให้นอนไม่หลับ สมาธิสั้น และอารมณ์ขึ้นลง
- ประจำเดือนผิดปกติในผู้หญิง : ประจำเดือนมาน้อยลง หรือรอบห่างมากขึ้น
- คอพอก ต่อมไทรอยด์โต : เห็นได้ชัดบริเวณด้านหน้าของลำคอ แต่ไม่เป็นก้อนชัดเจน เป็นลักษณะบวมทั่ว ๆ ไป
- ดวงตา ตาโปน หรือดูเหมือนตาเหลือก : กล้ามเนื้อหลังลูกตาบวม หนังตาปิดไม่มิด ทำให้ดูตาโปน หรือมีอาการน้ำตาไหล แสบตา ตาพร่ามัว พบได้ประมาณ 20% ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในโรคเกรฟส์ (Graves’ disease) อาการตาและผิวหนัง อาจไม่ดีขึ้นทันที หลังรักษาด้วยยา ต้องใช้เวลานาน หรือถึงขั้นผ่าตัด
- ผมร่วงผิดปกติ : มีอาการผมร่วงเยอะ โดยเฉพาะเวลาอาบน้ำหรือสระผม จนอาจเห็นเป็นกระจุก
- ผิวหนังหนาขึ้นเป็นปื้น : โดยเฉพาะบริเวณหน้าแข้ง หรือจุดที่ถูกเสียดสีบ่อย เช่น เท้าหรือหัวไหล่
- หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ : อาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติร่วมด้วย โดยเฉพาะในรายที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วมาก
หากสงสัยว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ การวินิจฉัยของแพทย์จะมีแนวทางอย่างไร
(https://img2.pic.in.th/pic/what-is-hyperthyroidism.png)
แนวทางการวินิจฉัยไทรอยด์เป็นพิษ มีดังนี้
- ตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อค้นหาอาการไทรอยด์เป็นพิษ แพทย์จะใช้นิ้วคลำบริเวณคอด้านหน้า–ด้านหลัง เพื่อประเมินขนาด รูปร่าง ความนูนของต่อมไทรอยด์ หากพบต่อมโตทั่ว ๆ ไป หรือเมื่อกดแล้วมีความรู้สึกเจ็บร่วมกับอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก ก็อาจวินิจฉัยว่ามีอาการไทรอยด์เป็นพิษได้
- การตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด มีการตรวจวัดค่า T3, T4 และ TSH โดยหากท่านใดมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มักพบ T3 และ T4 สูงผิดปกติ ขณะที่ TSH ต่ำกว่าปกติ
- Radioactive Iodine Uptake Test ตรวจการดูดซึมไอโอดีนกัมมันตรังสีเข้าต่อมไทรอยด์ หากต่อมดูดซึมมาก จะแสดงถึงการผลิตฮอร์โมนเกิน บ่งบอกได้ว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ แต่หากมีการดูดซึมน้อย อาจบ่งชี้ภาวะไทรอยด์อักเสบได้
- Thyroid scan การฉีดสารกัมมันตรังสี เพื่อใช้กล้องแกมมาอิมเมจแยกชนิดของปัญหา เช่น ก้อน คอพอก มะเร็ง หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษจากโรคเกรฟส์
- อัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าตรวจค้นก้อน หรือโครงสร้างรูปร่างผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจก่อเป็นโรคมะเร็ง และช่วยวางแผนการรักษาไทรอยด์เป็นพิษในขั้นตอนต่อไป
- ตรวจชิ้นเนื้อ (Fine-needle aspiration biopsy) หากกรณีสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทางแพทย์จะเจาะเก็บเซลล์มาตรวจและทำการรักษาต่อไป
ไทรอยด์เป็นพิษ มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
การเลือกวิธีรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
- แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุ อาการ ความรุนแรง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- ผู้ป่วยควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ปรับยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
แนวทางการรักษาไทรอยด์เป็นพิษ
เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ให้คำปรึกษา หากพบต้นตอของการเกิดโรคทางแพทย์จะดำเนินการรักษาให้เหมาะกับสาเหตุที่ได้มา ซึ่งมีแนวทางในการรักษาอยู่ 5 วิธีดังนี้
- การรับประทานยาต้านไทรอยด์ : รักษาด้วยการใช้ยาลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น Methimazole หรือ Propylthiouracil (PTU) ที่เหมาะสำหรับการรักษาไทรอยด์เป็นพิษระยะเริ่มต้น โดยทั่วไปใช้ยานาน 1–2 ปี และควรแจ้งแพทย์ทันทีหากมีไข้ ไอ หรือเจ็บคอในช่วง 1–2 เดือนแรกของการรักษา
- การรับประทานยากลุ่ม Beta-blockers : การใช้ยากลุ่มนี้ลดอาการใจสั่น มือสั่น หรือหัวใจเต้นเร็วจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โดยจะไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ แต่ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสมดุลระหว่างรอผลการรักษาหลัก
- การกลืนน้ำแร่ไอโอดีนกัมมันตรังสี (Iodine-131) : วิธีรักษานี้จะเป็นการทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์แบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยรังสีเบต้า โดยช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้อย่างถาวร ใช้ในผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียง
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) : วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนต่อมไทรอยด์โตมาก หรือไม่สามารถใช้วิธีอื่นรักษาได้ โดยทั่วไปจะผ่าตัดเอาออกประมาณ 70% เพื่อให้การสร้างฮอร์โมนลดลง
- การใช้ฮอร์โมน Glucocorticoids : เป็นการรักษาโดยใช้ในกรณีที่ไทรอยด์เป็นพิษร่วมกับภาวะอักเสบของต่อมไทรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ อาการปวด ช่วยบรรเทาภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันได้
ไทรอยด์เป็นพิษภัยใกล้ตัว อันตรายเงียบที่ต้องระวัง
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอัตราความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย หากมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ มีความหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน อาจสงสัยว่าเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว