1.2K
20 กันยายน 2560
อุตตมฯ จัดขบวนทัพนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 300 ราย ส่องทำเลทอง “อีอีซี” เตรียมเร่งดัน 5 บิ๊กโปรเจกต์หนุน 10 อุตฯเป้าหมาย พร้อมดึงโบอิ้ง แอร์บัสร่วมทุน ปี 61


กระทรวงอุตสาหกรรมนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนกว่า 300 ราย ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เผยขณะนี้กำลังเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลักเพื่อให้มีความพร้อมต่อการลงทุนเร็วที่สุด ได้แก่
  1. การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3
  2. การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
  3. การพัฒนา 3 ท่าเรือ
  4. โครงการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ
  5. การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
พร้อมชี้ 5 เดือนแรกของการตั้งสำนักงานอีอีซีมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,400 ล้านบาท และเป็นคำขอใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีที่คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัทโบอิ้ง และทีจีแอร์บัสในเดือนมีนาคม 2561 รวมทั้ง บริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม ที่คาดว่าจะลงนามความร่วมมือในเดือนกันยายน ปี 2560 ใน EEC ดิจิทัลพาร์ค
 
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะผลักดันยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุตสาหกรรม การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกด้วยการใช้พื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างด้านอื่นๆ ของประเทศ

ซึ่งในช่วง 6 เดือนตั้งแต่มีนาคม – สิงหาคมที่มีการจัดตั้งสำนักงาน EEC ขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น ภาพของโครงการก็เริ่มมีความชัดเจนและเริ่มเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้เร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ EEC เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการเป็นทำเลที่ตั้งที่แข็งแกร่งและดีที่สุดต่อการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยยังมุ่งให้เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม ประกอบกับการมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานในเมืองแห่งอุตสาหกรรมและเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ด้วย 5 โครงการหลัก คือ
  • การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคนในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรกอาจพัฒนาเป็นแอร์พอร์ตซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ส่วนเฟสที่ 2 มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นมหานครการบินที่รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนในอีก 10 ปี และ 60 ล้านคนในอีก 15 ปี โดยสนามบินนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคม โลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
  • การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นแผนงานที่รองรับโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่ไร้รอยต่อ สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น
  • การพัฒนาท่าเรือ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 เพื่อให้เกิดศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกรถยนต์ 3 ล้านคัน/ รองรับเรือขนส่งขนาดความจุ 1.6 แสนตัน ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 จะพัฒนาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และท่าเรือสัตหีบ จะปรับปรุงให้สามารถรองรับด้านการท่องเที่ยวเรือขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน
  • โครงการดึงดูด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะใช้การเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงกับประเทศชั้นนำต่างๆ และจัดตั้งโซนพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม S – Curve เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังคาดหวังอานิสงส์ที่ญี่ปุ่นอาจลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน โดยในระยะเวลา 5 ปีแรกคาดการณ์ไว้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 14 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบิน หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร และปิโตรเคมีและเคมีชีวภาพ
  • การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Cities) โดยจะพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้กระทบกับประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้กำหนดแนวความคิด Smart ที่จะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมือง 3 รูปแบบคือ Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ซึ่งจะเป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น Smart Growth โดยออกแบบให้เป็นเมืองกระชับ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและประชากรสามารถเดินและใช้จักรยานได้ และ Low Carbon Society (LCS) หรือสังคมที่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซาร์บอนไดออกไซด์จากชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มีการประเมินงบการลงทุน รวมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนภายในระยะเวลา 5 ปีแรกว่า โครงการต่างๆ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมานั้นน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ดร.อุตตม กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของการจัดตั้งโครงการ EEC อย่างเป็นทางการ (มี.ค. – ก.ค.) ได้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 160 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,400 ล้านบาท เป็นคำขอใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกว่า 14,200 ล้านบาท และมีการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีก 1,466 ไร่ ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง ที่อยู่ในความดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในส่วนของขั้นตอนการติดตามและชักชวนนักลงทุนยังได้มีการเสนอนโยบายไปยังธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ

อาทิ บีเอ็มดับเบิ้ลยู นิสสัน หัวเหว่ย ซัมซุง อาลีบาบากรุ๊ป ฟูจิฟิล์ม แอร์เอเชีย สำหรับกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างทำการศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดโครงการลงทุนร่วมกับนักลงทุนนั้น ได้แก่ โบอิ้ง และแอร์บัส และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนในเดือนมีนาคม 2561 ส่วนทางด้านลาซาด้ากรุ๊ป ได้มีการจัดทำมาตรการส่งเสริมแล้วเสร็จและกำลังอยู่ระหว่างเจรจารอบสุดท้าย และในส่วนของการประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลในการชักชวนให้เกิดการลงทุนใน EEC ดิจิทัลพาร์ค ยังคาดว่าจะมีทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม คาเลสติก้า ลงนามความร่วมมือในเดือนกันยายน ปี 2560
 
ส่วนความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ อาทิ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายแล้ว 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กระบวนการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการการกำหนดลักษณะเงื่อนไขซึ่งจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี ทางด้านการท่องเที่ยว ได้กำหนดลักษณะของ 3 เมืองที่มีการวางแผนอย่างสมบูรณ์แล้วคือ Thai Way of Life (ฉะเชิงเทรา) Modern of The East (ชลบุรี) และ Biz City (ระยอง) การกำหนดเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กำลังอยู่ในช่วงหาคู่สัญญา ส่วน 2 ปัจจัยสำคัญอย่างน้ำประปาและพลังงาน มีการวางแผนที่สมบูรณ์และได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องของกฎหมาย EECจะถูกนำเข้ารัฐสภาในเดือนถัดไป ดร.อุตตม กล่าวปิดท้าย
 
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้นำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนอีกกว่า 300 ราย ร่วมรับฟังนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมสำรวจพื้นที่ที่เอื้อต่อการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสำนักงานวิทยสิริเมธี โดยหลังจากร่วมรับฟังนโยบายดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจขอลงทุนในพื้นที่โครงการฯ ได้อย่างแน่นอน
 
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202 4435 หรือเข้าไปที่ www.industry.go.th หรือ facebook.com/industryprmoi
 
อ่านต่อได้ที่ : RYT9.com
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
งาน กินอร่อยร้อยเมนู อร่อยแสงออก..
451
คอกาแฟไม่ควรพลาด! เทศกาลกาแฟที่ใ..
434
งาน THE MALL LIFESTORE THAPRA BI..
413
งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่..
406
งาน มหกรรมรับสร้างบ้าน 2024
405
เซ็นทรัลพัฒนา ส่งต่อความสดจากทะเ..
402
ข่าวทำเลค้าขายมาใหม่
ข่าวอื่นในหมวด